สหรัฐฯ ให้ AliExpress และ WeChat เป็นตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง ส่วนไทยไม่ติดลิสต์

สหรัฐฯ ให้ AliExpress และ WeChat เป็นตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง ส่วนไทยไม่ติดลิสต์

18 ก.พ. 2022
สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ประกาศลิสต์รายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงประจำปี 2021 โดยมีแพลตฟอร์มหรือตลาดออนไลน์จำนวน 42 แห่ง และตลาดที่มีที่ตั้งจริง ๆ จำนวน 35 แห่ง ซึ่งมีส่วนร่วมหรืออำนวยความสะดวก ทำให้เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ซึ่งในปีนี้ เป็นครั้งแรกที่ทั้ง 2 แพลตฟอร์มของจีน อย่าง WeChat ของ Tencent และ AliExpress ของ Alibaba มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ดังกล่าวด้วย
โดยสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ระบุว่า “ทั้ง 2 แพลตฟอร์ม เป็นตลาดออนไลน์ที่สำคัญ 2 แห่งในประเทศจีน ที่มีการอำนวยความสะดวกในการปลอมแปลง และละเมิดเครื่องหมายการค้าจำนวนมาก”
หลายคนอาจจะไม่แปลกใจสำหรับ AliExpress ของ Alibaba เพราะเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับขายสินค้า จึงมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น
แต่สำหรับ WeChat แอปพลิเคชันส่งข้อความจะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างไร ?
ต้องบอกว่า WeChat นั้น ได้พัฒนาจากแอปพลิเคชันส่งข้อความ เติบโตมาเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการในหลาย ๆ ด้านมากขึ้น (Super App) เช่น
-WeChat Live Streaming สำหรับถ่ายทอดสด ที่สามารถขายสินค้าได้
-WeChat Mini Program ที่ให้บริการเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก
โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา WeChat บอกว่า มีผู้ใช้งานมากกว่า 1,200 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งก็ทำให้ผู้ใช้งานทั่วโลกเข้าถึงสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
สำหรับประเทศจีน นอกเหนือจาก 2 แพลตฟอร์มดังกล่าว ก็ยังมี Baidu Wangpan ที่ให้บริการคลาวด์สำหรับอัปโหลดข้อมูล, DHgate ตลาดค้าส่งออนไลน์, Pinduoduo และ Taobao แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และตลาดจริง ๆ อีก 9 แห่งที่อยู่ในลิสต์ด้วย
นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่า การปลอมแปลงหรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียหายกว่า 29,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.4 แสนล้านบาท) เลยทีเดียว
โดยทาง Katherine Tai ผู้แทนสำนักงานการค้าของสหรัฐฯ กล่าวว่า “สินค้าลอกเลียนแบบ และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นบ่อนทำลายวัฒนธรรม และความคิดเห็นสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ รวมถึงเป็นอันตรายต่อแรงงานชาวอเมริกันด้วย”
ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับการผลิตสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศจีน ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับแรงงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้แรงงานเด็ก
หลังจากการที่ประกาศลิสต์รายชื่อ ทาง Alibaba เองก็ได้ออกมาบอกว่า “จะทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของบริษัท”
นอกจากประเทศจีนแล้ว ก็ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่ติดในลิสต์รายชื่อเช่นกัน
อย่างในเอเชีย เช่น กัมพูชา, มาเลเซีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ส่วนประเทศไทยนั้น ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ยังไม่มีทั้งตลาดออนไลน์ และตลาดจริง ๆ ที่ติดอยู่ในลิสต์รายชื่อ
ซึ่งก่อนหน้านี้ มีเพียงปี 2019 ที่ย่านพร้อมพงษ์เคยติดอยู่ในลิสต์ และถูกถอดออกเรียบร้อยแล้ว
โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สินค้าปลอม และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในไทยลดลง ก็คือการระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้ร้านค้าทั่ว ๆ ไป ต้องเลิกขายของผ่านหน้าร้าน และหันไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์แทน
ซึ่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ไทยนิยมอย่าง Shopee ของ Sea บริษัทจากสิงคโปร์ ก็มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงด้วยเช่นกัน
อ้างอิง :
-https://www.cnbc.com/2022/02/18/us-adds-tencent-alibabas-e-commerce-sites-to-notorious-markets-list.html
-https://www.scmp.com/news/china/article/3167483/us-adds-wechat-and-aliexpress-list-notorious-markets-fake-and-pirated
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.