กางยุทธศาสตร์ “GREATER WE”  สร้าง S-Curve ใหม่ให้ CRG ดันยอดขายโต 30%

กางยุทธศาสตร์ “GREATER WE” สร้าง S-Curve ใหม่ให้ CRG ดันยอดขายโต 30%

21 มี.ค. 2022
บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group Co., Ltd) หรือ “ซีอาร์จี (CRG)” เปิดแผนขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหารปี 2565 พลิกฟื้น สร้างการเติบโตที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการสร้าง New S-Curve ปั้นร้านอาหารโมเดลใหม่ Shop in Shop ซีนเนอร์ยีแบรนด์ในร้านเดียว ลุยเดลิเวอรี่ ออนไลน์ต่อเนื่อง ขยายคลาวด์คิทเช่นแตะ 20 สาขา  พร้อมปูพรมขยายสาขาร้านอาหารมากกว่า 200 สาขา  รุกหนักเดลิเวอรี่ ออนไลน์ ตั้งเป้าคาดการณ์รายได้ปี 2565 ไว้กว่า 12,100 ล้านบาท เติบโตเกือบ 30% จากปี 2564 มีรายได้ 9,370 ล้านบาท มั่นใจไตรมาสแรกจะเติบโต 13-15% หวังคงความเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมร้านอาหารมูลค่ากว่าแสนล้านของไทยต่อไป
ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group Co., Ltd) หรือ “ซีอาร์จี (CRG) เปิดเผยว่า กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาดอย่างมาก แต่การไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรค มีการปรับตัว และมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทประคองตัวเองจนกลายเป็นหนึ่งในองค์กรที่ยืนหยัดและก้าวข้ามวิกฤติได้ ดังนั้น จากนี้ไปบริษัทจึงมองการขับเคลื่อนธุรกิจจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ส่องภาพรวมธุรกิจร้านอาหารปี 2565 
สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารปี 2565 มีแนวโน้มสดใสมากขึ้น จากปัจจัยผู้บริโภคมีความมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน มากินอาหารที่ร้านมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้เห็นการฟื้นตัวโตประมาณ 10% จากปี 2564 ตลาดมูลค่ามากกว่า 300,000 ล้านบาท ติดลบมากกว่า 10% สัญญาณบวกธุรกิจร้านอาหารกลับมาเติบโตอีกครั้ง
สิ่งที่ตามมาคือ ภาคธุรกิจร้านอาหารจะเผชิญกับความท้าทายหลากหลายมิติ เช่น การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น จากผู้ประกอบการแบรนด์ใหม่ ๆ จะเกิดเพิ่มขึ้น
ณัฐวิเคราะห์ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ว่า ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบจะพลิกกลับเติบโตและมีสีสัน โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของผู้ให้บริการรายใหญ่ซึ่งถูกชะลอมาจากปี 2563 และการเร่งขยายพอร์ตอาหารให้ครอบคลุมประเภทอาหารมากยิ่งขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญโจทย์ทางธุรกิจที่สำคัญ อาทิ ต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ราคาวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรักษาความสะอาดและตรวจคัดกรองโรค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ น่าจะสร้างแรงกดดันต่อกำไรสุทธิ รายได้ สภาพคล่อง และสถานะทางการเงิน การขยายธุรกิจเพื่อให้ได้ scale จะช่วยเพิ่มความสามารถในการต่อรอง และลดต้นทุนได้
“ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ผสมผสานระหว่างช่องทางการขายและการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้จากหลากหลายช่องทาง รวมถึงการสร้างประสบการณ์ ในการกินอาหารที่ร้านให้ดีกว่าและพัฒนาให้มีความแตกต่างจากการสั่งอาหารไปกินที่บ้าน” ณัฐกล่าว
เปิดยุทธศาสตร์เชิงรุก “GREATER WE: ซีอาร์จี จะยิ่งใหญ่กว่าเดิม” 
ซีอาร์จี มีแผนพัฒนาการเติบโตธุรกิจร้านอาหารในรูปแบบ “New S Curve” ด้วย 4 กลยุทธ์หลัก 
1.การขยายสาขาและสร้าง ecosystem รองรับการเติบโต ด้วยการปูพรมขยายสาขาร้านอาหาร ในทำเลศักยภาพใหม่ ๆ ทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 200 สาขา โดยโฟกัสทำเลในห้างค้าปลีก ศูนย์การค้าต่างๆ (Mall) และทำเลนอกห้าง ร้าน Stand Alone ในปั๊มน้ำมัน (Non-Mall) ควบคู่กันไป 
ที่สำคัญบริษัทจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับเทคโนโลยีมาใช้ในร้านอาหารมากขึ้น เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ (New Normal) ของผู้บริโภค จากปีที่แล้วได้นำระบบ POS มาเพิ่มประสิทธิภาพการขายสินค้า สร้างอีโคซิสเทมให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง เพื่อต่อยอดการขยายร้านอาหารในปี 2565     
2.การเนรมิตโมเดลร้านในรูปแบบใหม่ และปรับโฉมสาขา ทั้ง Shop in Shop การซีนเนอร์ยีแบรนด์ในเครือมาอยู่ในร้านเดียว โดยเฉพาะกรณีศึกษาแบรนด์ “มิสเตอร์ โดนัท” ที่มีการปรับตัวหลายด้าน เช่น ผนึกเครื่องดื่มอาริกาโตะให้บริการลูกค้า การเปิดร้าน Stand Alone ขยายสาขาเจาะสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) รวมไปถึงร้านรูปแบบใหม่ ได้แก่ คอนเทนเนอร์ สโตร์ (Container store) ซึ่งเพิ่มโอกาสเติบโตได้อย่างมาก 
3. เร่งเครื่องบริการเดลิเวอรี่และขยายคลาวด์คิทเช่น ในปี 2565 ซีอาร์จี ยังเดินหน้าขยายบริการเดลิเวอรี่ ออนไลน์ ตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งทั้งปีคาดการณ์ผลักดันยอดขายในช่องทางเดลิเวอรี่แตะ 3,500 ล้านบาท เติบโต 15% จากปี 2564 ซึ่งมียอดขาย 3,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 40% จากปี 2563 และจะขยายคลาวด์คิทเช่นให้ครบ 20 สาขา เพื่อครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ จากปัจจุบันมี 11 สาขา  
4. ผนึกพันธมิตรสู่ชัยชนะ เพิ่มโอกาสลงทุนด้วยการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) และ  รวมถึงการร่วมทุน (Joint Venture) กับผู้ประกอบการร้านอาหารเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพมาขยายธุรกิจ โดยใช้จุดแข็งทั้ง 2 ฝ่ายสร้างการเติบโตไปด้วยกัน หรือเกิด Win-Win strategy 
นอกจากนี้ยังมีแผนดึงพันธมิตรมาขยายร้านอาหารรูปแบบแฟรนไชส์ ต่อยอดจากมิสเตอร์ โดนัท และอร่อยดี ไปสู่แบรนด์อื่น ๆ ในเครือเพิ่มเติม เช่น เปปเปอร์ ลันช์ รวมไปถึงการผลักดัน “สลัดแฟคทอรี่” สร้างความสำเร็จขยายร้านไม่ต่ำกว่า 10 สาขา พัฒนาร้านรูปแบบใหม่เจาะสถานีบริการน้ำมัน เปิดในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ออกสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to Eat : RTE) สร้างการเติบโต 
“วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทบธุรกิจร้านอาหาร บางรายบาดเจ็บสาหัส จึงมีทั้งต้องการทำธุรกิจต่อและอยากเลิกกิจการ เราจึงมองหาผู้ร่วมลงทุนและการซื้อกิจการ เพราะมองว่าการอยู่ร่วมกันดีกว่าอยู่คนเดียว จึงจะเห็นเราทำ M&A มากขึ้น เพราะรายย่อยเก่ง มีความสามารถ มีความถนัดหลายด้าน และเราพร้อมช่วยขยายสาขา การรวมพลังกันจึงไม่มีทางที่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่เติบโตมากกว่านั้นได้” ณัฐทิ้งท้าย
Tag:CRG
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.