ถอดโมเดลความสำเร็จ “หมูวรรณา” เขียงหมู 24 ชั่วโมง ที่มีรายได้ 800 ล้าน

ถอดโมเดลความสำเร็จ “หมูวรรณา” เขียงหมู 24 ชั่วโมง ที่มีรายได้ 800 ล้าน

21 ส.ค. 2022
เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด โดยเฉพาะโซนหัวหิน, ราชบุรี หรือจังหวัดใกล้เคียง หลายคนคงอาจจะเคยเห็นร้านขายของสด ที่ชื่อว่า “หมูวรรณา” ผ่านตากันมาบ้าง
ซึ่งมันน่าสนใจก็เพราะว่า หมูวรรณา เป็นร้านขายหมูสดที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ครั้งก็มักจะเห็นคนแน่นร้านอยู่เสมอ แม้จะมี Makro ที่ก็มีเนื้อหมูสดจำหน่ายเหมือนกัน ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ก็ตาม..
ซึ่งถ้าไปเปิดรายได้ของหมูวรรณาดูแล้ว ก็ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก เพราะร้านเล็ก ๆ อย่างหมูวรรณาที่มีเพียง 9 สาขานั้น สามารถทำรายได้ในระดับที่ “ไม่ธรรมดา” อีกด้วย
โดยกิจการหมูวรรณา ถูกจดทะเบียนจัดตั้งในนาม บริษัท พีที พอร์ค แอนด์ โปรดัก จำกัด
ปี 2562 มีรายได้ 803 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 844 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้ 689 ล้านบาท
ถ้าหากคำนวณออกมาจะเห็นได้ว่า เฉลี่ยแล้วหมูวรรณา 1 สาขา สามารถสร้างรายได้อยู่ที่ราว 6-8 ล้านบาทต่อเดือน เลยทีเดียว..
เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก เพราะธุรกิจผลิตเนื้อหมูสดนั้นเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง เช่น ค่าเครื่องจักร, ทำฟาร์มหมู และอื่น ๆ จึงทำให้เราไม่ค่อยเห็นผู้เล่นรายเล็ก ลงมาแข่งขันในตลาดนี้กันเท่าไร
อีกทั้งในตลาดนี้ยังมีคู่แข่งที่แข็งแกร่งอย่าง CP หรือ Betagro ที่ได้เปรียบด้านต้นทุนและช่องทางการกระจายสินค้าต่าง ๆ อีกด้วย
แล้ว “หมูวรรณา” ทำอย่างไร ? ถึงยังสามารถยืนหยัดท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ซึ่งรายล้อมไปด้วยแบรนด์ยักษ์ใหญ่เจ้าตลาด..
คำตอบของเรื่องนี้ คงต้องย้อนไปดูที่จุดเริ่มต้นของหมูวรรณากันก่อน ที่เริ่มต้นมาจาก คุณวรรณา สุขสำราญ และคุณปาเยส สุขสำราญ
โดยทั้งสองได้นำ Pain Point ของการซื้อเนื้อหมูสด ที่บางครั้งผู้บริโภคมักจะประสบปัญหา
- สถานที่ไม่เอื้ออำนวย
- หมูไม่มีคุณภาพ
- หาซื้อหมูสดยากในตอนกลางคืน
- บางร้านมีชิ้นส่วนหมูให้เลือกน้อย
มาพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจของตัวเอง
นำมาสู่โมเดลธุรกิจร้านขายเนื้อหมูสด 24 ชั่วโมง ที่เน้นไปที่เนื้อหมูคุณภาพดี ในราคาที่ไม่แพง และมีชิ้นส่วนหมูให้ลูกค้าเลือกแทบทุกส่วน ตั้งแต่เครื่องในไปจนถึงซี่โครง
แถมยังมีการจัดร้านให้สวยงาม ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อสินค้าอีกด้วย
ซึ่งทางเจ้าของแบรนด์ก็ได้ให้นิยามโมเดลนี้ว่าเปรียบเสมือน “ตู้เย็นของลูกค้า” ที่ลูกค้าเดินมาหยิบสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง..
โดยโมเดลดังกล่าว แม้จะดูเป็นโมเดลง่าย ๆ แต่ก็มีจุดแข็งอยู่หลายอย่าง
อย่างแรกเลยคือ “อยู่ตรงกลางระหว่างคุณภาพและราคา”
หมูวรรณา มีโรงงานชำแหละชิ้นส่วนเนื้อหมูชื่อ บริษัท เรด เฟรชเชอร์ จำกัด เป็นของตัวเอง
ปี 2562 มีรายได้ 630 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 646 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้ 504 ล้านบาท
จึงทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าได้เองแบบ 100% ส่งผลให้เนื้อหมูแต่ละชิ้นที่ถูกตัดออกมาจำหน่ายที่หน้าร้านนั้นมีคุณภาพดีและขนาดเท่ากันแทบทุกชิ้น
แถมยังสามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อหมูได้ครบทุกส่วน โดยในส่วนที่ถูกตัดทิ้ง อาจจะมีการนำมาแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ เพื่อเสริมความหลากหลายของไลน์สินค้าได้ดีอีกด้วย
อีกทั้งการที่ควบคุมทั้งซัปพลายเชนเองแบบนี้ (ตั้งแต่โรงงาน-ช่องทางการจัดจำหน่าย) ทำให้หมูวรรณาไม่ต้องไปจ้างใครผลิต และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือส่วนแบ่งจากยอดขายให้ใคร ในการนำสินค้าไปฝากขายตามช่องทางต่าง ๆ ส่งผลให้ต้นทุนของหมูวรรณานั้นต่ำลงอีกด้วย..
แบบนี้เองจึงทำให้เนื้อหมูจากหมูวรรณามีคุณภาพดีกว่าหมูทั่วไปตามเขียงหมู ที่ขนาดของเนื้อหมูขึ้นอยู่กับอารมณ์ของคนสับ
แต่ก็ยังสามารถทำราคาขายให้ถูกกว่าหมูที่ติดแบรนด์ในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีคุณภาพดีก็จริง แต่ราคาก็สูงขึ้นตามไปด้วยได้
ด้วยเนื้อหมูที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพง และร้านค้าที่สะอาด ทำให้หมูวรรณา กลายเป็น Top of Mind ของคนแถวนั้น ที่อยากซื้อเนื้อหมูสด นั่นเอง
อย่างต่อมาคือ “เวลาสำหรับการสร้างรายได้ที่มากกว่า”
จริงอยู่ที่ “เนื้อหมู” นั้นสามารถหาซื้อได้ง่าย ตั้งแต่ที่ตลาดสด, ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงห้างอย่าง Makro
แต่กลับกันหากผู้บริโภคจะหาซื้อเนื้อหมูสดตอนเที่ยงคืน เนื้อหมูอาจจะไม่ใช่สินค้าที่หาซื้อได้ง่ายเท่าไร..
ซึ่งกลยุทธ์ที่หมูวรรณาเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงนั้น ไม่ต่างจากการสร้างจุดเด่นให้กับธุรกิจ ท่ามกลางตลาด Red Ocean แบบง่าย ๆ แต่ได้ผลดีเกินคาด
เพราะในขณะที่ร้านอื่นกำลังปิด หมูวรรณา จะกลายเป็นเพียงตัวเลือกเดียวของผู้บริโภคทันที..
อีกทั้งการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ยังหมายถึงเวลาในการสร้างรายได้ที่มากกว่าคู่แข่งด้วย
และอย่างสุดท้ายคือ “คู่แข่งเข้ามาเล่นด้วยยาก” เพราะข้อได้เปรียบเรื่อง Operation Cost
จากข้อได้เปรียบที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น แม้จะดูเป็นข้อได้เปรียบที่ “เลียนแบบง่าย” เช่น สมมติว่า Makro อาจจะเปลี่ยนทุกสาขาที่อยู่ใกล้ร้านหมูวรรณา ให้เปิดบริการ 24 ชั่วโมง เพียงแค่นี้หมูวรรณาก็น่าจะไปต่อลำบาก
แต่จริง ๆ แล้วมันยากกว่าที่คิด เพราะจริงอยู่ที่หมูวรรณา เป็นผู้เล่นขนาดกลางที่ไม่ได้มีหน้าร้านใหญ่ระดับ Makro หรือมีสินค้าเป็นพันชนิดอย่าง Big C หรือ Lotus’s
แต่ด้วยความที่เป็นแบบนี้ ก็ถือเป็นข้อดีได้เหมือนกัน เพราะหน้าร้านที่เล็กกว่าและจำนวนสินค้าที่น้อยกว่า นั่นหมายถึง Operation Cost (ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการที่ไม่ใช่ต้นทุนขาย) เช่น แรงงาน, ค่าไฟ ที่ต่ำกว่าด้วยนั่นเอง
อีกอย่างก็คือ เวลาหลังจากการเปิดทำการของห้างสรรพสินค้าทั่วไป ปกติ Traffic ของลูกค้านั้นก็จะน้อยลงไปอย่างมาก
ดังนั้นการที่แบรนด์ใหญ่จะยอมขยายเวลาเปิดร้าน โดยที่ใช้งบประมาณในการดำเนินกิจการมากกว่า มาแย่งฐานลูกค้าที่มีอยู่น้อยกว่าช่วงเวลาปกติที่เปิดทำการ อาจทำให้รายได้ตรงส่วนนั้นไม่คุ้มกับการขยายเวลาการเปิดร้านนั่นเอง..
ในขณะเดียวกัน อย่างที่กล่าวไปในช่วงแรกว่า ธุรกิจการผลิตและขายเนื้อหมูสดนั้นต้องใช้ต้นทุนที่สูงพอสมควร ถึงจะเข้ามาแข่งขันในตลาดได้ จึงทำให้การที่จะมีแบรนด์เล็ก หรือแบรนด์ท้องถิ่น เข้ามาแข่งขันนั้นยิ่งเป็นไปได้ยากกว่าเสียอีก
ทั้งหมดทั้งมวลจึงสรุปได้ว่า ทั้งแบรนด์เล็กและแบรนด์ใหญ่ ต่าง “ไม่คุ้ม” ที่จะเข้ามาแข่งขันกับหมูวรรณา
อย่างไรก็ตาม หากหมูวรรณาจะขยายกิจการของตัวเองไปสู้กับแบรนด์ใหญ่ ก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน..
เพราะว่าผู้เล่นรายใหญ่ มีเงินทุนหนากว่า มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ มีความชำนาญในการขยายธุรกิจ และมีแบรนด์ที่ติดตลาดมากกว่า
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่ ก็ต่างมีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบในตัวเองอยู่เสมอ
เพียงแต่ว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าของแบรนด์ ว่าจะสามารถหาจุดได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้เหมือนกับที่ “หมูวรรณา” ทำได้ จนสามารถยืนหยัดในพื้นที่ตลาดของตัวเอง ท่ามกลางสงครามธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้นทุกวัน ได้หรือไม่..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.