ย้อนรอย iMac G3 คอมพิวเตอร์ธรรมดา ๆ ที่ทำให้ Apple รอดพ้นจากการเป็นบริษัทล้มละลาย

ย้อนรอย iMac G3 คอมพิวเตอร์ธรรมดา ๆ ที่ทำให้ Apple รอดพ้นจากการเป็นบริษัทล้มละลาย

25 ต.ค. 2022
รู้หรือไม่ว่า iMac G3 เครื่องคอมพิวเตอร์แบบ All-in-One สีสันลูกกวาด คือผลิตภัณฑ์ตัวแรก ที่เปิดตัวในยุคที่ สตีฟ จอบส์ กลับเข้ามาเป็น CEO ชั่วคราว (Interim CEO) ของ Apple
และเขาหมายมั่นปั้นมือ จะให้คอมพิวเตอร์ธรรมดา ๆ เครื่องนี้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่กอบกู้วิกฤติที่ Apple กำลังเผชิญ ทั้งในด้านรายได้ และศรัทธาจากเหล่าสาวก
นับตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ คอมพิวเตอร์ iMac G3 ที่แบกความคาดหวัง และชะตากรรมของคนทั้งบริษัทไว้ กลายเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ Apple กลับเข้าสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง
และเป็นรากฐานที่ทำให้ Apple ยิ่งใหญ่ได้จนถึงทุกวันนี้..
ในบทความนี้ MarketThink จะพาไปย้อนรอยประวัติศาสตร์ของ Apple ผ่าน iMac G3 เครื่องนี้กัน
หากถามถึงบริษัทเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลง ให้กับการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันมากที่สุดเพียง 1 ชื่อ เชื่อว่าใครหลาย ๆ คน คงจะต้องนึกถึง Apple ขึ้นมาเป็นชื่อแรก
เพราะตลอดระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมา Apple ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการเทคโนโลยีจำนวนมาก ตั้งแต่ iPhone, iPod, iPad, AirPods และคอมพิวเตอร์ Mac
ทำให้ Apple ก้าวสู่การเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 75 ล้านล้านบาท) ในปัจจุบัน
รวมถึงเมื่อช่วงเวลาหนึ่ง Apple เคยทำลายสถิติ ขึ้นแท่นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 114 ล้านล้านบาท) เป็นรายแรกของโลก อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้ Apple จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีเบอร์ต้น ๆ ของโลก แต่รู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังความสำเร็จของ Apple ในทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเส้นทางที่สวยหรู หรือไร้ซึ่งร่องรอยความเจ็บปวด และการล้มลุกคลุกคลาน
เพราะ Apple ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่เคยมียุคมืดกับเขาด้วยเช่นกัน
- ยุคมืดของ Apple ในวันที่ไม่มี “สตีฟ จอบส์”
หลังจากที่ สตีฟ จอบส์ ถูกกดดันจากผู้ถือหุ้น ทำให้เขาต้องตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่เขาเป็นคนก่อตั้งขึ้นเอง ในวันที่ 16 กันยายน 1985
ซึ่งในช่วงเวลา 10 ปี ที่ไร้เงาของ สตีฟ จอบส์ Apple จ้างผู้บริหารมืออาชีพหลายคนเข้ามานั่งในตำแหน่ง CEO
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ Apple โดดเด่น หรือกลายเป็นผู้เล่นแนวหน้าในวงการ เพราะหลังจากที่สตีฟ จอบส์ ลาออกไป ฐานะทางการเงินของ Apple ก็แย่ลงเรื่อย ๆ จากการมองตลาดไม่ออก และไม่เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ทำให้ในยุคนั้น Apple มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจนเกินไป เฉพาะคอมพิวเตอร์ Macintosh เพียงอย่างเดียว ก็มีวางจำหน่ายมากถึง 12 รุ่นแล้ว.. ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย
จนในที่สุด Apple ก็ขาดทุนอย่างมหาศาล เฉพาะในยุคที่ Gil Amelio รับตำแหน่งเป็น CEO เพียง 500 กว่าวัน ในช่วงปี 1996-1997
Apple ขาดทุนสะสมมากกว่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 60,600 ล้านบาท) และการขาดทุนนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สตีฟ จอบส์ ได้กลับเข้ามายัง Apple อีกครั้ง ในวันที่ 16 กันยายน 1997
- การกลับมาของสตีฟ จอบส์
ซึ่ง Apple เหลือเวลาอีก 90 วัน ก่อนล้มละลาย..
หลังการกลับมาที่ Apple ของสตีฟ จอบส์ ในขณะนั้น Apple กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติเต็มขั้น จนตัวสตีฟ จอบส์ ยอมรับด้วยตัวเองว่า Apple มีเวลาเหลือเพียง 90 วันเท่านั้น ก่อนที่จะล้มละลาย รวมทั้งต้องประกาศปลดพนักงานกว่า 3,000 คน
วิกฤตินี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้สตีฟ จอบส์ ตัดสินใจแก้ปัญหาของ Apple ทั้งหมด ก่อนที่จะสายเกินแก้ โดยเริ่มต้นจากการลดจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีมากเกินความจำเป็นลง ให้เหลือเพียง 30% จากที่มีอยู่ทั้งหมดเท่านั้น
และแบ่งผลิตภัณฑ์ของ Apple ออกเป็นเพียง 4 กลุ่ม แต่สามารถรองรับต่อความต้องการของลูกค้า Apple ได้ทั้งหมด ได้แก่
1) คอมพิวเตอร์ Desktop สำหรับลูกค้าทั่วไป
2) คอมพิวเตอร์ Desktop สำหรับลูกค้ามืออาชีพ
3) คอมพิวเตอร์ Portable สำหรับลูกค้าทั่วไป
4) คอมพิวเตอร์ Portable สำหรับลูกค้ามืออาชีพ
และผลิตภัณฑ์ตัวแรก ที่เปิดตัวในวันที่สตีฟ จอบส์ กลับมารับหน้าที่เป็น CEO ชั่วคราวของ Apple ได้นานเกือบ 1 ปี
นั่นก็คือ คอมพิวเตอร์ “iMac G3” ซึ่งใช้ทฤษฎีการแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 4 กลุ่ม โดยเลือกจับกลุ่มลูกค้าทั่วไป ที่ต้องการคอมพิวเตอร์ Desktop ไว้ใช้สักเครื่องหนึ่ง
- กอบกู้วิกฤติ ด้วย iMac G3
iMac G3 เป็นคอมพิวเตอร์ Desktop แบบ All-in-One ซึ่งออกแบบโดย สตีฟ จอบส์ และ โจนาธาน ไอฟ์
มีจุดขายที่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ในเวลานั้น คือ ความเรียบง่าย เป็นระเบียบ และสวยงาม ไม่ต้องประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ให้ยุ่งยาก เพียงเสียบปลั๊กไฟ ก็พร้อมใช้งานในทันที
ซึ่งแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น ที่จำเป็นต้องต่อสายเข้ากับอุปกรณ์เสริมจำนวนมาก ทั้งจอภาพ ลำโพง รวมถึงโมเด็ม เพื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
ด้วยจุดเด่นนี้เอง ทำให้หลังจากการเปิดตัวเพียงไม่นาน iMac G3 ก็มียอดพรีออร์เดอร์มากถึง 150,000 เครื่อง รวมถึงบริษัท Apple ก็ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก เหมือนเป็นสัญญาณว่า “Apple ยุครุ่งเรืองกำลังจะกลับมาอีกครั้ง”
และก็เป็นอย่างที่ว่านั้นจริง ๆ เพราะ iMac G3 เป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ที่เป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนผ่าน ของ Apple ใน “ยุคมืด” สู่ “ยุครุ่งเรือง”
ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี iMac G3 สามารถสร้างยอดขายได้มากถึง 1 ล้านเครื่อง และในเดือนเมษายน ปี 2001 iMac G3 ก็ทำลายสถิติ สร้างยอดขายได้ถึง 5 ล้านเครื่องเป็นครั้งแรก หรือทุก ๆ 1.1 วินาที Apple จะขาย iMac G3 ได้ 1 เครื่อง
ในด้านรายได้ iMac G3 กลายเป็นตัวเปลี่ยนเกม ที่ทำให้บริษัทที่กำลังจะล้มละลายภายใน 90 วัน กลายเป็นบริษัทที่สร้างกำไรได้มากถึง 309 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท) ในปีถัดมา
หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับ iMac G3 เป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่า Apple กลับมาแล้ว
Apple ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง และคอยมองผลลัพธ์ความสำเร็จจากคอมพิวเตอร์เพียงรุ่นเดียว
เพราะ Apple เลือกที่จะต่อยอดความสำเร็จ ด้วยผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ ๆ จำนวนมาก ภายใต้วิสัยทัศน์ของสตีฟ จอบส์
เริ่มจากการเปิดตัว iBook G3 คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่หยิบเอาสูตรความสำเร็จของ iMac G3 มาใช้ ทั้งในด้านการออกแบบ และสีสัน
รวมถึงการวางตำแหน่งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กรุ่นนี้ ให้จับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ทำให้ iBook G3 ประสบความสำเร็จ ด้วยยอดขาย 700,000 เครื่อง ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี 7 เดือน
และหลังจากนั้นในเดือนตุลาคม ปี 2001 Apple ก็พลิกโฉมวงการเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว iPod เครื่องฟังเพลงพกพาเป็นครั้งแรก ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดเพลงนับพันจากคอมพิวเตอร์ พกพาไว้ในกระเป๋ากางเกง
แน่นอนว่า iPod ก็เป็นอีกหนึ่งตำนานความสำเร็จของ Apple เช่นกัน ด้วยยอดขายรวมทั้งสิ้น 450 ล้านเครื่อง นับตั้งแต่ปี 2001 ก่อนที่จะยุติการจำหน่ายในปีนี้ และกลายเป็นเหมือนสะพานเชื่อมเข้ากับ Apple ในยุคปัจจุบัน ที่มีสินค้า และบริการต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในวงกว้าง
ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad, Mac, AirPods หรือบริการอย่าง App Store, Apple Music, Apple TV+ และ Apple One
และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของ iMac G3 คอมพิวเตอร์ธรรมดา ๆ ที่เปลี่ยน Apple ซึ่งเป็นบริษัทที่กำลังจะล้มละลายภายในเวลา 90 วัน
สู่การเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 2.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 85 ล้านล้านบาท) ในปัจจุบัน
ด้วยความพยายามเรียนรู้จุดอ่อนของตัวเองในอดีต เพื่อที่จะไม่ซ้ำรอยความล้มเหลวที่เคยทำ
พยายามเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง
และไม่หยุดที่จะเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเอง ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ..
อ้างอิง:
-https://appleinsider.com/articles/20/04/19/how-apple-went-from-bust-to-five-million-colorful-imacs-sold
-https://www.entrepreneur.com/growing-a-business/how-steve-jobs-saved-apple/220604
-https://www.cultofmac.com/442280/apple-history-imac-g3-arrives/
-https://en.techrecipe.co.kr/posts/10587
-https://www.businessinsider.com/lessons-from-apples-dark-years-2013-9
-https://www.nytimes.com/2018/08/02/technology/apple-stock-1-trillion-market-cap.html
-https://www.cultofmac.com/445723/today-in-apple-history-steve-jobs-leaves-and-rejoins-apple
-https://www.cultofmac.com/435312/today-in-apple-history-the-end-of-apples-worst-ever-financial-quarter/
-https://www.cultofmac.com/491038/today-apple-history-gil-amelio-exit/
-https://www.megamac.com/blog/a-timeline-of-apple-ceos
-https://blog.hellostepchange.com/blog/why-steve-jobs-killed-70-of-apples-products-a-lesson-on-range-architecture
-https://www.linkedin.com/pulse/how-steve-jobs-8020-thinking-saved-apple-from-rajesh-srinivasan/
-https://en.wikipedia.org/wiki/IPod
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.