อีกหนึ่งความสำเร็จของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กับการแยกแอป Messenger ออกจาก Facebook - TechBite

อีกหนึ่งความสำเร็จของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กับการแยกแอป Messenger ออกจาก Facebook - TechBite

1 ธ.ค. 2022
ถ้าจะให้พูดชื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ประสบความสำเร็จ
จนมียอดผู้ใช้งานทะลุ 1,000 ล้านคนในปัจจุบัน มาสัก 3-4 ชื่อ
หลายคนคงจะนึกถึงแพลตฟอร์มอย่าง
- Facebook ที่มียอดผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกที่ 2,958 ล้านคน
- Instagram ที่มียอดการเข้าถึงโฆษณาไปแล้ว 1,400 ล้านคนในปีนี้
- TikTok แพลตฟอร์มมาแรงประจำปี ที่เพิ่งมียอดผู้ใช้งานทะลุ 1,000 ล้านคนในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มันมีอยู่อีกแพลตฟอร์มหนึ่ง.. ที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าเป็นแอปที่ประสบความสำเร็จ
จนมีผู้ใช้งานทะลุ 1,000 ล้านคนเช่นกัน
นั่นก็คือ “Messenger” หนึ่งในแอปที่โดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก ตอนที่แยกออกมาจาก Facebook ว่ามันรวมกันก็ดีอยู่แล้ว..
แต่หลังจากโดนวิจารณ์อย่างหนักในวันนั้น Messenger กลับกลายเป็นแอปที่โตวันโตคืน
โดยปัจจุบัน Messenger มียอดผู้ใช้งานทั่วโลกทะลุ 1,000 ล้านคน
คิดเป็นสัดส่วน 12.5% ของจำนวนประชากรโลก
และเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีคนใช้งานเยอะที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก
ส่วนประเทศไทยของเรา Messenger ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 3
คิดเป็นสัดส่วนการเข้าถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ 84.7% เป็นรองแค่ Facebook และ LINE เท่านั้น..
แล้วตอนนั้นมาร์กมองเห็นอะไร ทำไมต้องทำแอป Messenger แยกออกมาจาก Facebook ทั้ง ๆ ที่มีแต่เสียงต่อต้าน ?
ในบทความนี้ TechBite จะพาทุกคนไปย้อนรอยความเป็นมาของแอปที่หลายคนมองว่า “วุ่นวาย”
แต่ก็มีติดโทรศัพท์มือถือกันแทบทุกเครื่อง มาสรุปให้อ่านกัน..
เริ่มจากคำถามที่ว่า “ทำไมต้องแยก”
ตอนนั้นมาร์กบอกว่า Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมาซึ่งโฟกัสไปที่การให้ผู้คน
เพลิดเพลินไปกับฟีดข่าว และอัปเดตข้อมูลข่าวสารของเพื่อนและครอบครัวเท่านั้น
แต่ตอนนั้นมันมีสถิติที่น่าสนใจคือ ยอดการส่งข้อความของ Facebook เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทะลุวันละ 10,000 ล้านข้อความต่อวัน
แถมยังพบอีกว่า จริง ๆ แล้วยอดคนที่เข้าถึงโทรศัพท์มือถือทั่วโลก มีแนวโน้มใช้โซเชียลมีเดียที่ 85% ซึ่งก็ถือว่าเยอะมากแล้ว
แต่คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อ “ส่งข้อความ” นั้น กลับมีมากกว่าที่ 95%..
ซึ่งตอนนั้นแพลตฟอร์มที่เน้นไปที่การส่งข้อความอื่น ๆ อย่าง
WhatsApp หรือ iMessage (ของ Apple) ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะแค่เปิดแอป ก็สามารถส่งข้อความได้เลย ไม่ต้องมีขั้นตอนเยอะ
ผิดกับการส่งข้อความผ่านฟีเชอร์ Message บน Facebook ที่กว่าจะล็อกอิน กว่าจะเปิดแท็บ ก็ต้องดาวน์โหลดกันหลายหน้า จนทำให้มีขั้นตอนเยอะ และไม่สะดวกต่อผู้ใช้
พอเป็นแบบนี้ มาร์กจึงเริ่มมีความคิดที่จะแยกฟีเชอร์ Message ออกจาก Facebook
เพราะปกติก็มียอดคนส่งข้อความกันเกินวันละ 10,000 ล้านข้อความ
ซึ่งถ้า Facebook แยกเป็นแอปสำหรับส่งข้อความโดยเฉพาะออกมา อย่างไรก็มีคนรอใช้งานอยู่แล้ว
แถมการแยกออกจากกัน ยังทำให้ประสบการณ์โดยรวมของผู้ใช้งาน Facebook ลื่นไหลยิ่งขึ้น ไม่ถูกขัดจังหวะเวลาไถฟีด
แล้วยังตอบโจทย์ด้านการแข่งขันกับแพลตฟอร์มแช็ตหน้าใหม่ ที่อาจมาเป็นศัตรูของ Facebook ในอนาคตได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การจะแยกฟีเชอร์ Message ออกจาก Facebook
กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด..
เพราะในตอนนั้น หน่วยความจำของอุปกรณ์มือถือ ยังไม่ได้เยอะจนล้นเหมือนกับทุกวันนี้
อย่างเช่นในยุคนั้น iPhone มีหน่วยความจำเริ่มต้นที่ 16 GB เท่านั้น ต่างจากตอนนี้ที่เริ่มต้น 64 GB
ดังนั้นการจะทำฟีเชอร์ใหม่ ให้แยกออกมาเป็นแอป ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
เพราะมันเสี่ยงกับการที่คนจะไม่ยอมดาวน์โหลดแอป เพราะอาจเห็นว่ารกเครื่องไป
ซึ่งตรงนี้เอง ที่น่าจะทำให้มาร์ก เลือกที่จะตัดฟีเชอร์แช็ตออกจากแอป Facebook ไปเลย..
ถ้าลองดูดี ๆ จะเห็นได้ว่ามาร์ก สามารถเลือกที่จะทำแอป Messenger แยก โดยไม่ตัดฟีเชอร์นี้ออกก็ได้
(แบบในเว็บเบราว์เซอร์ ที่ยังใช้ฟีเชอร์ Message ควบคู่กับการไถฟีดได้)
แต่ที่ต้องตัดออก เพราะต้องการบังคับให้คนที่ใช้ Facebook ดาวน์โหลดแอปนี้มาใช้งานด้วย ไม่อย่างนั้นจะติดต่อกับเพื่อน ๆ ไม่ได้
แถมมันยังเป็นการใช้ประโยชน์จาก Network Effect ของตัวเองมากที่สุด
ลองนึกภาพว่า ถ้าผู้ใช้ต้องเลือกเก็บแอปแช็ตสักแอปไว้ในเครื่องเพื่อเซฟหน่วยความจำ
คนส่วนใหญ่ก็มีโอกาสที่จะเลือกเก็บแพลตฟอร์มที่มีเพื่อนของตัวเองอยู่เยอะที่สุดไว้ก่อน เป็นอันดับแรก ๆ
(และตรงนี้ก็ทำให้มีโอกาสตัดคู่แข่งออกไปได้ง่าย ๆ)
ซึ่ง Facebook เป็นโซเชียลมีเดียที่มีคนใช้งานเยอะที่สุดในโลก
จึงไม่มีแพลตฟอร์มไหนสู้จุดนี้ของ Facebook ได้ในตอนนั้น
ดังนั้น ผู้ใช้ก็เลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องเก็บแอป Messenger ไว้ในเครื่องนั่นเอง
แม้หลายคนจะบ่นเรื่องนี้กันเยอะในช่วงแรก ๆ แต่กาลเวลาก็พิสูจน์แล้วว่าครั้งนี้
Facebook ตัดสินใจถูก..
เพราะต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้แพลตฟอร์มหนึ่ง มีผู้ใช้งานมากถึง 1,000 ล้านคนได้
ซึ่งถ้า Facebook ตัดสินใจช้ากว่านี้ จนคู่แข่งสร้าง Network Effect ของตัวเองได้สำเร็จ
คงยากที่แอป Messenger จะประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้
พูดให้เห็นภาพกับกรณีที่คล้ายกันคือ ความสำเร็จของแอป LINE ในบ้านเรา
ที่แม้จะมีคู่แข่งอย่าง WhatsApp, WeChat หรือ Kakao มาตีตลาด
แต่ด้วยความที่ LINE เป็นแอปแช็ตที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเรา เป็นเจ้าแรก ๆ
จึงทำให้มี Network Effect ที่แข็งแกร่ง จนไม่มีใครมาสู้ได้นั่นเอง..
สุดท้ายนี้ ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ก็ดูเหมือนว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กำลังอยู่ในจุดที่จะต้องพิสูจน์การตัดสินใจของเขาอีกครั้ง
ว่าการฝืนทำในสิ่งที่เรียกว่า “Metaverse” ซึ่งผลาญงบประมาณมหาศาล จนหลายคนมองว่าเขา “บ้า”
จะสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า นี่เป็นอีกครั้งที่เขาคิดถูกได้หรือไม่..
อ้างอิง:
-https://www.forbes.com/sites/amitchowdhry/2014/11/11/why-facebook-forced-users-to-download-a-separate-messenger-app/?sh=7185248d6a4c
-https://datareportal.com/essential-facebook-messenger-stats
-https://www.theverge.com/2014/11/6/7170791/mark-zuckerberg-finally-explains-why-he-forced-you-to-download-the
-https://s21.q4cdn.com/399680738/files/doc_financials/2022/q3/Q3-2022_Earnings-Presentation.pdf
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.