ปี 2565 Toyota ขายรถยนต์ในไทย ได้ 288,809 คัน ครองส่วนแบ่ง 34% เป็นเบอร์ 1 ของตลาดรถยนต์ในประเทศ

ปี 2565 Toyota ขายรถยนต์ในไทย ได้ 288,809 คัน ครองส่วนแบ่ง 34% เป็นเบอร์ 1 ของตลาดรถยนต์ในประเทศ

27 ม.ค. 2023
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2565 พบว่ามียอดขายรวมทั้งสิ้น 849,388 คัน เติบโต 11.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็น
- รถยนต์นั่ง 265,069 คัน เติบโต 5.3%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 584,319 คัน เติบโต 15.2%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 454,875 คัน เติบโต 15.6%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 388,298 คัน เติบโต 13.7%
ส่วนยอดขายของ Toyota ในปี 2565 นั้น อยู่ที่ 288,809 คัน เติบโต 20.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 34% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด โดยแบ่งเป็น
- รถยนต์นั่ง 82,738 คัน เติบโต 32.6%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 206,071 คัน เติบโต 16.2%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 175,786 คัน เติบโต 16.0%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 148,101 คัน เติบโต 15.1%
สำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ในปี 2565 ที่ผ่านมานั้น Toyota มองว่า อยู่ในภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป..
มีปัจจัยบวก จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งออกที่เริ่มเติบโตดีขึ้น ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงสถานการณ์โควิด ที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากการเปิดประเทศ
ในขณะเดียวกันตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ก็ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ปัญหาด้านโลจิสต์ติกส์ระหว่างประเทศ จากต้นทุนการขนส่งทางเรือที่อยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนของสถานการณ์ทางการเงินโลก ราคาพลังงาน และวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น
ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่าย ทั้งภายในประเทศ และการส่งออก รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
แต่ในภาพรวม ถือว่าตลาดรถยนต์ภายในประเทศ ฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดี..
- ภาพรวมตลาดรถยนต์ไทย ปี 2566
นอกจากนี้ Toyota ยังได้คาดการณ์ภาพรวมของตลาดรถยนต์ไทย ในปี 2566 นี้ด้วยว่า จะมียอดขายรวมทั้งสิ้น 900,000 คัน เติบโต 6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
และคาดการณ์ด้วยว่า Toyota จะมียอดขายอยู่ที่ราว 310,000 คัน เติบโตราว 7.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ส่วนแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในไทย ในปี 2566 นี้ Toyota มองว่า ยังคงกลับสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อม ๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด จากทิศทางที่ดีในการลดระดับโควิด-19 สู่โรคติดต่อเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข
ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของผู้คนเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ พร้อมกับการเปิดประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่มีส่วนช่วยเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน
- ทิศทาง Toyota ประเทศไทย ประจำปี 2566
ส่วนทิศทางการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าในประเทศไทย ประจำปี 2566 นั้น จะเน้นไปที่ เป้าหมายการเป็น ผู้นำพาการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน (Mobility for All) พร้อมกับการสร้าง ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ผ่านการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multi Pathway” เพื่อทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการเดินทางของผู้คน
ด้านผลิตภัณฑ์ของ Toyota นั้น จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และพลังงานทางเลือกต่าง ๆ เพื่อมอบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน
ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมการตลาด และการส่งเสริมการขายภายใต้แนวคิด Closer to Customer ที่จะใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น
รวมถึงการผสมผสานเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง (Connected) และบริการการขับเคลื่อน ในรูปแบบของการแบ่งปันการใช้งาน (Sharing) เป็นต้น
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.