การมาของรถยนต์ EV กับสัญญาณเตือน ที่ไทย อาจไม่ใช่ ฐานการผลิตรถยนต์ “ระดับโลก” อีกต่อไป

การมาของรถยนต์ EV กับสัญญาณเตือน ที่ไทย อาจไม่ใช่ ฐานการผลิตรถยนต์ “ระดับโลก” อีกต่อไป

18 ก.พ. 2023
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทย ได้รับฉายาว่า “Detroit of Asia” จากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ “รายใหญ่” ของโลก
ด้วยปริมาณการส่งออกรถยนต์ทุกประเภท ราว 1 ล้านคันต่อปี นับตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน
เว้นเพียงปี 2019-2020 เท่านั้น ที่ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทย ลดลงเหลือราว 7-9 แสนคัน จากภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้น
ก่อนที่จะกลับมาทำสถิติส่งออกรถยนต์ได้ถึง 1 ล้านคัน อีกครั้ง ในปี 2022 ที่ผ่านมา
และไทย ยังเป็นอีกฐานการผลิตรถยนต์สำคัญของโลก โดยมีปริมาณการผลิตรถ มากเป็นอันดับที่ 10 ของโลกด้วย
อย่างไรก็ตาม การมาของรถยนต์ไฟฟ้า หรือที่เราเรียกกันว่ารถยนต์ EV นั้น อาจทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ไทยจะยังรักษาจุดยืนในการเป็น Detroit of Asia ได้อีกหรือไม่..
เพราะจากที่ดูบทวิเคราะห์ของ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จะพบว่า การมาของรถยนต์ EV นั้น เป็นภาพสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Tesla ที่เข้ามาเปิดทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีที่แล้ว
และเพิ่งจะเริ่มส่งมอบรถยนต์คันแรกไปเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ที่ทำให้ KKP Research มองว่า ไทย มีความน่าสนใจ “น้อยลง” ในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ EV โดยมีเหตุผลทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่
- ไทย เป็นตลาดที่มีขนาดเล็ก มีกำลังซื้อจำกัด 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจาก “ราคา” ของรถยนต์ EV ของ Tesla ที่มีราคาเริ่มต้นราว ๆ 1.7 ล้านบาท ซึ่งรถยนต์ในกลุ่มนี้มียอดขายเพียง 30,000 คันต่อปี หรือคิดเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
- การนำเข้ารถยนต์จากจีน ของ Tesla มีต้นทุนที่ถูกกว่า 
เพราะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีนำเข้า รวมถึงโอกาสที่จะถึงจุดคุ้มทุนมีน้อย หากตั้งโรงงานในประเทศไทย
- โครงสร้างการผลิตในระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยรัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความพยายามที่จะดึงให้บริษัทรถยนต์ต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศต้นทาง ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาตลาดประเทศเกิดใหม่ มีน้อยลง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Tesla จะยังไม่ได้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย แต่ในปัจจุบัน ก็ยังมีผู้ผลิตรถยนต์ EV รายอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์ EV สัญชาติจีน ที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย เช่นเดียวกัน
ผู้ผลิตรถยนต์ EV สัญชาติจีน ใช้จุดแข็งทางด้านราคาที่ถูกกว่า Tesla ทำให้ฐานของผู้บริโภคมีจำนวนมากกว่า การตั้งโรงงานในไทย จึงมีจุดคุ้มทุนที่เร็ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงการส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ EV ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ที่ข้อมูลล่าสุด เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา พบว่า มีค่ายรถยนต์ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลแล้วทั้งสิ้น 26 โครงการ จาก 17 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 80,208 ล้านบาท และกำลังการผลิต 838,775 คัน
แม้ตัวเลขมูลค่าการลงทุนข้างต้นจะดูเหมือนเป็นเม็ดเงินที่มหาศาล แต่ในความจริงแล้ว มูลค่าการลงทุนของค่ายรถยนต์ EV จากประเทศจีน ก็นับว่ายังมีสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนของค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ที่เคยเข้ามาลงทุนในอดีต
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า การลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์ EV สัญชาติจีน อาจไม่ได้สร้างผลบวกให้ทางเศรษฐกิจไทย ได้มากนัก
เนื่องจากมูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จากการผลิตรถยนต์ EV มีน้อยลง และจำเป็นต้องนำเข้าชิ้นส่วนมากขึ้น อาจทำให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยเคยสร้างได้ในประเทศ หายไปมากกว่าครึ่ง
ทำให้สิ่งที่น่าเป็นห่วง นั่นคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต
โดยจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่า ในปี 2022 การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการส่งออกของไทย มีมูลค่าราว 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.67 แสนล้านบาท)
แต่อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ด้วยว่า การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการส่งออกของไทย จะยังคงเป็นชิ้นส่วนยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปเป็นหลักในช่วง 3 ปีข้างหน้า อาจมีผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย ต้องเร่งปรับตัวในการรักษาช่องทางตลาดทั้งในประเทศ และการส่งออก
นอกจากนี้ ไทยยังต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีศักยภาพในการดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ EV ต่าง ๆ เข้าไปลงทุนในประเทศ เช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศอินโดนีเซีย ที่กำลังน่าจับตามอง..
ตัวอย่างของบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย
นั่นคือ CATL ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ ที่ใหญ่ที่สุดของโลก สัญชาติจีน เพิ่งจะเข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่ากว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2 แสนล้านบาท) เพื่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ภายในประเทศ
รวมถึง Tesla, BYD และ Hyundai เอง ก็มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุน เพื่อตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย ด้วยเช่นกัน
ซึ่งอินโดนีเซีย ยังมีศักยภาพ เนื่องจากเป็นแหล่งของแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า มีค่าแรงที่ต่ำ รวมถึงตลาดในประเทศที่ใหญ่ จากจำนวนประชากร 273 ล้านคน อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าไทย จะไม่มีจุดแข็งสำคัญ ที่ทำหน้าที่ดึงดูดให้ผู้ผลิตรถยนต์ EV เข้ามาเลือกไทย เป็นฐานการผลิตสำคัญในระดับภูมิภาคเสียทีเดียว
เพราะอย่าลืมว่าในปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ EV ในประเทศไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการที่มีค่ายรถยนต์ EV ต่าง ๆ เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น หลากหลายเจ้า
รวมถึงเฉพาะเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยอดการจดทะเบียนรถยนต์ EV ในไทย อยู่ที่ 3,017 คัน
คิดเป็นสัดส่วนราว ๆ 31% เมื่อเทียบกับทั้งปี 2022 แม้จะเป็นยอดการจดทะเบียนในระยะเวลาเพียง 1 เดือน เท่านั้น
และนั่นก็หมายความว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในประเทศไทย อาจยังเติบโตต่อไปได้ เพียงแต่มีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามาท้าทาย..
-------------------------------
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.