กรณีศึกษา ทำไม Daiso ต้องออกแบรนด์ลูก “Standard Products” แทนที่จะเพิ่มสินค้าขายในร้านเดิม ?

กรณีศึกษา ทำไม Daiso ต้องออกแบรนด์ลูก “Standard Products” แทนที่จะเพิ่มสินค้าขายในร้านเดิม ?

22 มี.ค. 2023
ถ้าพูดถึงราชาแห่งร้านจิปาถะ จากญี่ปุ่น หลาย ๆ คนคงนึกถึง “Daiso”
ร้านขายสินค้าจิปาถะ ที่มีจุดเด่นเรื่อง ราคาร้อยเยน
หรือเริ่มต้น 60 บาท ที่มีมากกว่า 100 สาขาในประเทศไทย
รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบัน Daiso ไม่ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้ร้านค้าแบรนด์เดียว 
เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว Daiso ได้ออกแบรนด์ใหม่ เป็นแบรนด์ลูกในเครือ ที่มีชื่อว่า “Standard Products”
ร้านขายสินค้าจิปาถะ สไตล์มินิมัล ที่ยังคงเน้นเรื่อง ราคาที่เข้าถึงได้ ในหลักร้อยเยน
แล้ว Standard Products แตกต่างจากร้าน Daiso อย่างไร ?
ทำไม Daiso ต้องออกแบรนด์ลูก แทนที่จะขยายธุรกิจภายใต้แบรนด์เดิม หรือวางขายสินค้าสไตล์มินิมัลในร้านเดิม ?
หาคำตอบได้ในบทความนี้..
แบรนด์ Standard Products เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2021
เป็นร้านที่เน้นขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ครอบคลุมตั้งแต่ อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา ดินสอ, ของตกแต่งบ้าน เทียนหอม, ของใช้ในบ้าน, อุปกรณ์และเครื่องครัว, สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ รวมแล้วกว่า 2,000 รายการ
ปัจจุบัน Standard Products เน้นเปิดให้บริการในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก มากกว่า 40 สาขา และได้ขยายมายังประเทศใกล้เคียงอีกประปราย เช่น สิงคโปร์ และไต้หวัน
ความน่าสนใจของ Standard Products ก็คือ จะเน้นความสำคัญใน 3 เรื่อง
1. คุณภาพ เน้นสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้นกว่า Daiso
ยกตัวอย่างเช่น สินค้าประเภท มีด ที่ได้มีการร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นในเมืองเซกิ จังหวัดกิฟุ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งมีดดาบ” และมีชื่อเสียงระดับโลก
2. ราคาที่เข้าถึงได้ง่าย เริ่มต้นเพียง 300 เยน (ราว 80 บาท)
3. ดิไซน์เรียบง่าย สไตล์มินิมัล ซึ่งถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ สินค้าสไตล์ MUJI
รวมถึงมีสินค้าที่ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ยกตัวอย่างเช่น ผ้าขนหนูที่ทำจากฝ้ายออร์แกนิก
นอกจากนี้ Daiso ก็มีแบรนด์อื่น ๆ ด้วย เช่น 
- THREEPPY เน้นขายสินค้าน่ารัก ๆ สไตล์ผู้หญิง
- Natural Coordinate เน้นขายอุปกรณ์เครื่องครัว
ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า แล้วทำไม Daiso ต้องออกแบรนด์ลูก
แทนที่จะผลิตสินค้าต่าง ๆ มาวางขายในร้าน Daiso ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วโลกมากกว่า ?
- การออกแบรนด์ลูก หรือแบรนด์ใหม่ เป็นการ “ขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ”
Daiso ร้านจิปาถะที่ก่อตั้งมาแล้วราว 51 ปี
ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 พบว่า Daiso มี 6,338 สาขาทั่วโลก แบ่งออกเป็น ประเทศญี่ปุ่น 4,042 สาขา และประเทศอื่น ๆ รวมไทย 2,296 สาขา
ซึ่งถ้าดูแค่อัตราการเปิดสาขาของประเทศญี่ปุ่น
ปี 2021 มีจำนวน 3,620 สาขา
ปี 2022 มีจำนวน 4,042 สาขา
จะพบว่า อัตราการเปิดสาขาใหม่อยู่ที่ราว 12% ต่อปี
พอเป็นแบบนี้ บริษัทก็อาจจะเห็นว่า ร้าน Daiso ในประเทศญี่ปุ่นใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว
หมายความว่า ธุรกิจยังคงสามารถเติบโตต่อไปได้ แต่ไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เหมือนช่วงแรก ๆ ที่ธุรกิจเริ่มติดตลาด
จึงเป็นเหตุผลที่ Daiso ต้องหาธุรกิจใหม่ ๆ หรือมีแบรนด์ลูก อย่าง Standard Products เพื่อเข้ามาช่วยเสริมรายได้และกำไร พร้อมกับขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั่นเอง..
- แบรนด์ลูก หรือแบรนด์ใหม่ ช่วยแก้ Pain Point ของร้าน Daiso
ถ้าพูดถึงเหตุผลที่หลาย ๆ คนเลือกซื้อสินค้าจากร้านอื่น หรือแบรนด์อื่น ๆ มากกว่า Daiso
หนึ่งในนั้นก็คงเป็นเพราะเรื่อง “การดิไซน์”
อย่างที่รู้กันว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเรียบง่าย และความมินิมัล
ดังนั้นแล้ว สินค้าบางอย่าง ต่อให้มีราคาถูก หรือตอบโจทย์การใช้งานขนาดไหน
แต่ถ้าดิไซน์ไม่ถูกใจ ไม่เข้ากับสไตล์การตกแต่งบ้าน ลูกค้าบางคนก็อาจหันไปซื้อสินค้าจากร้านอื่น ที่ถึงแม้จะมีราคาแพงกว่า แต่ก็ยอมจ่าย เพื่อแลกกับดิไซน์ที่ดีกว่า หรือสวยงามกว่านั่นเอง
ทีนี้หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว ทำไม Daiso ไม่ผลิตสินค้าสไตล์มินิมัล มาวางขายเพิ่มเลย ?
คำตอบก็คือ อาจจะได้ แต่ต้องอย่าลืมว่า Daiso ในภาพจำของทุก ๆ คน คือ สินค้าที่มีราคาร้อยเยน
ซึ่งการผลิตสินค้า ที่เน้นดิไซน์ที่สวยงามมากขึ้น ก็อาจจะมาพร้อมกับต้นทุนการผลิตที่มากขึ้น เช่น ค่าออกแบบ และวัตถุดิบที่แพงขึ้น นั่นเอง
เมื่อต้นทุนการผลิตแพงขึ้น แต่กลับนำมาวางขายที่ Daiso ในราคาร้อยเยนเหมือนเดิม
หมายความว่า บริษัทอาจไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะมีอัตรากำไรน้อยกว่าสินค้าแบบเดิม ๆ
อีกทั้ง ถ้าจะขายในราคาแพงกว่าร้อยเยน เพื่อรักษาอัตรากำไร
ก็อาจเกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากลูกค้า ที่มีภาพจำว่า Daiso มีราคาร้อยเยนได้
เพราะการ “ขึ้นราคา” มักจะตามมาด้วยเสียงบ่นของลูกค้าเสมอ ๆ
ดังนั้นแล้ว การผลิตสินค้าในรูปแบบใหม่ ๆ และมาพร้อมกับแบรนด์ใหม่ ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้นั่นเอง
จากเรื่องนี้ คงพอจะสรุปเป็นแนวคิดทางธุรกิจได้คร่าว ๆ คือ
1. เมื่อธุรกิจอยู่ในจุดอิ่มตัว ก็ควรมองหาธุรกิจใหม่ ๆ มาช่วยเสริมการเติบโต
2. ถ้าแบรนด์ของเรา มีภาพจำเรื่องราคาที่แน่นอนแล้ว ก็ไม่ควรออกสินค้าที่มีการปรับลดหรือเพิ่มราคา โดยแตกต่างจากภาพจำเดิมอย่างชัดเจน
เช่น ถ้าเป็น แบรนด์หรู แต่กลับออกสินค้าราคาถูก ก็จะทำให้ภาพลักษณ์เสีย
ส่วนถ้าเป็น แบรนด์ราคาประหยัด แต่กลับออกสินค้าราคาแพง ก็จะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์
ถ้าเป็นแบบนี้ หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การออกแบรนด์ใหม่ เพื่อตีตลาดใหม่เลยนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงสนใจร้าน Standard Products ไม่น้อย
เพราะคนไทยก็ชื่นชอบในความมินิมัล สไตล์ญี่ปุ่นกันอยู่แล้ว แถมยังมาพร้อมกับราคาที่เข้าถึงได้
แต่เรื่องนี้ ก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ในอนาคต Daiso จะมีแผนการนำ Standard Products มาตีตลาดในไทยเมื่อไร..
#Daiso
#StandardProducts
------------------------
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.