foodpanda จับมือ WWF ประกาศจุดยืน #NOSHARKFIN ในแคมเปญ “KEEPING SHARKS OFF OUR PLATES” ไม่จำหน่ายเมนูหูฉลาม

foodpanda จับมือ WWF ประกาศจุดยืน #NOSHARKFIN ในแคมเปญ “KEEPING SHARKS OFF OUR PLATES” ไม่จำหน่ายเมนูหูฉลาม

29 มี.ค. 2023
foodpanda ประเทศไทยตอกย้ำจุดยืนในการส่งเสริมเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน(Food Sustainability) ล่าสุดได้ร่วมมือกับ WWF หรือ World Wide Fund for Nature ประกาศจุดยืนไม่จำหน่ายเมนู “หูฉลาม” บนแอปฯ foodpanda ในแคมเปญ “KEEPING SHARKS OFF OUR PLATES” พร้อมรณรงค์ ให้เห็นถึงผลเสียของการบริโภคเมนู“หูฉลาม” ที่ทำให้ “ฉลาม” ในธรรมชาติเสี่ยงสูญพันธุ์ และส่งผลกระทบ ต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างรุนแรง
จากผลสำรวจขององค์กร WildAid ในปี พ.ศ. 2560 พบว่าฉลามสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลกถูกฆ่ากว่า 100 ล้านตัวในแต่ละปี และในจำนวนนั้นมีฉลามกว่า 73 ล้านตัวถูกนำไปใช้ทำเมนูหูฉลาม และในประเทศไทยยังมีร้านอาหารในกรุงเทพฯ มากกว่า 100 ร้านที่ยังมีเมนูหูฉลามจำหน่าย ในระดับราคาตั้งแต่ 300 – 4,000 บาท จึงเป็นเหตุผลให้ foodpanda ผู้ให้บริการเดลิเวอรีอาหารของกินของใช้ ตัดสินใจก้าวเข้ามามีบทบาทในการรณรงค์ไม่จำหน่ายเมนูหูฉลามบนแพลตฟอร์ม ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะ foodpanda ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึง foodpanda ฮ่องกงและสิงคโปร์ก็ร่วมแคมเปญมาแล้วก่อนหน้านี้เช่นกัน
ศิริภา จึงสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร foodpanda ประเทศไทยกล่าวว่า “foodpanda ให้ความสำคัญ กับการส่งเสริมเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน การร่วมมือระหว่าง foodpanda และ WWF ในแคมเปญKEEPING SHARKS OFF OUR PLATES เป็นการเน้นย้ำจุดยืนของเราให้ชัดเจนขึ้นและยังมีการประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ กับร้านค้าพันธมิตรและลูกค้ารวมถึงการสื่อสารภายในองค์กรกับพนักงานของเรา เพื่อสร้างการรับรู้ในแคมเปญนี้”
“foodpanda ได้เรียนรู้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์จาก WWF และยังมีข้อมูลที่น่าสะเทือนใจ คือการได้รู้ว่า ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ในการส่งออกหูฉลาม ทำให้เราตัดสินใจไม่เพิกเฉยกับสิ่งนี้ แม้การห้ามไม่ให้จำหน่าย เมนูหูฉลามบนแอปฯ foodpanda อาจส่งผลกระทบด้านรายได้ แต่ไม่สามารถเทียบได้กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเราจึงไม่ลังเลที่จะร่วมเป็นกระบอกเสียงและผลักดันนโยบายนี้” ศิริภาเสริม
จากการประเมินสถานภาพทางการอนุรักษ์ของฉลามในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานนโยบายและ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า ฉลามที่พบได้ในน่านน้ำไทยกว่าครึ่ง หรือ 47 ชนิด จาก 87 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) จากการทำประมงเกินขนาด และการถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ ดังนั้นการแสดงจุดยืนของ foodpanda ร่วมกับ WWF ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างการรับรู้ถึงผลเสียของการบริโภคเมนูหูฉลาม และรับรู้ถึงความสำคัญของฉลามที่มีต่อระบบนิเวศน์ ทางทะเลกันมากขึ้น
ด้าน พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า “WWF ประเทศไทยเริ่มรณรงค์เกี่ยวกับเมนูหูฉลามมากว่า 3 ปีแล้ว แต่ในประเทศอื่น ๆเราทำเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซียรวมถึงมาเลเซีย WWF ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ภาคเอกชนอย่าง foodpanda มาร่วมแคมเปญในฐานะผู้ให้บริการเดลิเวอรี่อาหาร  ซึ่งสามารถเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารกับร้านอาหารและผู้บริโภคโดยตรงได้เป็นอย่างดีโดยก่อนหน้านี้ foodpanda ฮ่องกงและสิงคโปร์ ก็ได้ร่วมกับ WWF รณรงค์ไม่จำหน่ายเมนูหูฉลามบนแอปฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของทั้งสององค์กรและยังทำให้เราสามารถสานต่อกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกันได้ในอนาคต”พิมพ์ภาวดีกล่าว
สำหรับแนวทางความยั่งยืนของ foodpanda ประเทศไทย คือการเริ่มต้นที่ตัวองค์กรเอง โดยเน้นขับเคลื่อน จากภายในสู่ภายนอก อาทิ
● ร่วมกับองค์กรพันธมิตรและร้านค้า รณรงค์การใช้ภาชนะใส่อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายได้
● ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร สนับสนุนให้ไรเดอร์ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
● foodpanda มีฟังค์ชั่นให้ลูกค้าเลือกไม่รับช้อนส้อมพลาสติก
● ให้ความสำคัญกับการจัดการ food waste มอบของกินของใช้จาก pandamart ให้กับผู้ที่ต้องการ เพื่อขจัด ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง
● ที่ออฟฟิศ foodpanda มีจุดแยกขยะทั้ง เศษกระดาษ พลาสติก โลหะ และเศษอาหาร เป็นต้น เพื่อส่งเสริม ให้พนักงานแยกขยะในออฟฟิศ
● ลงทุนเรื่องเทคโนโลยีในการคำนวณระยะทางขนส่งอาหารของกินของใช้ ให้ไรเดอร์ใช้ระยะที่สั้นที่สุด เพื่อช่วย ประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำมัน และส่งของถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
ความร่วมมือระหว่าง foodpanda ประเทศไทย และ WWF ในแคมเปญ “KEEPING SHARKS OFF OUR PLATES” ยังมีสองหมีแพนด้าซึ่งเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์และสัญลักษณ์ของทั้งสององค์กร ถือเป็นการจับคู่ที่ลงตัวและ นับเป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของ foodpanda ที่ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างรอบด้านต่อไป
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.