สรุปอินไซต์ การบริโภคสื่อของคนไทย ในปี 2023 จาก Nielsen ที่นักการตลาดควรรู้

สรุปอินไซต์ การบริโภคสื่อของคนไทย ในปี 2023 จาก Nielsen ที่นักการตลาดควรรู้

22 พ.ย. 2023
ในวันนี้ Nielsen ประเทศไทย ได้จัดงาน Future of Media 2024 
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญ ก็คือข้อมูลอินไซต์ พฤติกรรมการบริโภคสื่อ ของคนไทย ในยุคที่สื่อมีความหลากหลาย ทั้งสื่อทีวี สื่อออนไลน์ และสตรีมมิงต่าง ๆ จนแทบจะไม่สามารถแยกสื่อชนิดต่าง ๆ ออกจากกัน ได้อย่างชัดเจน
โดย MarketThink จะสรุปเทรนด์การบริโภคสื่อ ของคนไทย ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ให้อ่านกันในโพสต์เดียว..
1. เม็ดเงินโฆษณา และการตลาด (Media Spending) ของประเทศไทย
ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม (10 เดือนแรก) เม็ดเงินโฆษณา และการตลาด (Media Spending) ของประเทศไทย อยู่ที่ 95,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
โดยทีวี ยังคงเป็น “สื่อหลัก” ที่ครองเม็ดเงินโฆษณา ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 50,415 ล้านบาท
ในขณะที่สื่อดิจิทัล ครองเม็ดเงินโฆษณา ที่ 23,736 ล้านบาท
แต่สิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ สื่อโฆษณานอกบ้าน และโรงภาพยนตร์ เป็นสื่อที่มีอัตราการเติบโต ในแง่ของเม็ดเงินโฆษณามากที่สุด โดยเติบโตขึ้นถึง 20% ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา..
เทียบกับสื่อทีวี ที่เติบโตขึ้นเพียง 2% ในช่วงเวลาเดียวกัน
และหากแยกเป็นภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณา และการตลาด มายังสื่อชนิดต่าง ๆ มากที่สุด ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม จะแบ่งเป็น
- Food & Beverage มูลค่า 15,238 ล้านบาท
- Personal Care & Cosmetic มูลค่า 12,647 ล้านบาท
- Retail Shop & Food Outlet มูลค่า 9,552 ล้านบาท
- Media & Marketing มูลค่า 4,702 ล้านบาท
- Pharmaceutical มูลค่า 4,427 ล้านบาท
- Finance มูลค่า 3,811 ล้านบาท
- Automotive มูลค่า 3,441 ล้านบาท
- Household Products มูลค่า 2,918 ล้านบาท
- Government มูลค่า 2,236 ล้านบาท
- Travel มูลค่า 2,098 ล้านบาท
2. คนไทยบริโภคสื่อ จากหลายแพลตฟอร์ม ในเวลาเดียวกัน
ในปัจจุบัน คนไทยมีอัตราการเข้าถึงสื่อ จากช่องทางต่าง ๆ ดังนี้..
- สมาร์ตโฟน อัตราการเข้าถึง 90%
- ทีวี อัตราการเข้าถึง 84% 
- คอมพิวเตอร์ อัตราการเข้าถึง 19%
- แท็บเล็ต อัตราการเข้าถึง 10%
แต่ในปัจจุบัน การบริโภคสื่อผ่านทีวีแบบดั้งเดิมนั้น เริ่มถูกแทนที่ด้วย สมาร์ตทีวี (Connected TV) มากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยอัตราการเข้าถึงสมาร์ตทีวีของคนไทย ในปัจจุบัน อยู่ที่ 41% แม้ว่ายังไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ของจำนวนคนไทยที่เข้าถึงทีวีทั้งหมด แต่ก็นับว่าคนไทยเข้าถึงสมาร์ตทีวีเพิ่มขึ้นกว่า 64% เมื่อเทียบกับปี 2021
นอกจากนี้ Nielsen ยังพบอินไซต์ด้วยว่า คนไทยนิยมทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปพร้อมกับการรับชมทีวี ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ วิดีโอคอล แช็ต ใช้โซเชียลมีเดีย ดูคลิปวิดีโอออนไลน์ เล่นเกม หรือแม้แต่ช็อปปิง ไปพร้อมกัน
ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นความท้าทาย ของผู้ผลิตสื่อ และนักการตลาด ที่จะต้องหาวิธีดึงดูดความสนใจ จากผู้บริโภคให้ได้มากขึ้น..
ทำให้ผู้ผลิตสื่อทีวีหลาย ๆ ราย เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการดึงดูดผู้บริโภค ให้รับสื่อจากช่องทางอื่น นอกเหนือจากหน้าจอทีวี ด้วยการเพิ่มช่องทางการรับชมคอนเทนต์ บนเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ของตัวเอง
จนในขณะนี้ คนไทยจำนวน 34% รับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านบนเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ของผู้ผลิตสื่อทีวี
3. ทีวี ยังคงเป็น “สื่อหลัก” แม้สื่อดิจิทัล จะมาแรง
โดยหากเทียบเป็น “เรตติง” จะพบว่า ทีวี ยังคงเป็นสื่อที่ครองเรตติงได้มากที่สุด ในสัดส่วน 64% ตามมาด้วย สตรีมมิง ในสัดส่วน 36%
หากเจาะลึกไปที่ สื่อสตรีมมิงโดยเฉพาะ จะพบว่า แพลตฟอร์มที่ครองเรตติงได้สูงที่สุด คือ
- YouTube สัดส่วนเรตติง 14%
- TikTok สัดส่วนเรตติง 7%
- Facebook สัดส่วนเรตติง 6%
- AIS Play สัดส่วนเรตติง 2%
- TrueID สัดส่วนเรตติง 2%
- Netflix สัดส่วนเรตติง 1%
ส่วนในด้านของประเภทของคอนเทนต์ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของคนไทย ในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน ปีนี้ ก็คือคอนเทนต์ประเภท “กีฬา” และ “ละคร”
โดยคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม มีเรตติงสูงที่สุดประจำปีนี้ ก็คือ คอนเทนต์การแข่งขัน วอลเลย์บอลหญิงรอบคัดเลือกโอลิมปิก ระหว่างทีมชาติไทย กับโคลอมเบีย โดยได้รับเรตติงไปมากถึง 9.518 ในทุก ๆ แพลตฟอร์ม
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.