อธิบาย จิตวิทยาการตลาด โฆษณาเกม แกล้งแพ้ให้เราขัดใจ จนต้องโหลดมาเล่นบ้าง

อธิบาย จิตวิทยาการตลาด โฆษณาเกม แกล้งแพ้ให้เราขัดใจ จนต้องโหลดมาเล่นบ้าง

1 มี.ค. 2024
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นโฆษณาเกมมือถือ ที่ใช้วิธีการ “เล่นให้ดู” ผ่านตากันมาบ้าง
เช่น เกมทหารยิงปืนฆ่าซอมบี้ หรือทำลายถังไม้
ถ้าเกมเหล่านี้โชว์วิธีการเล่นแบบทั่ว ๆ ไป ก็คงไม่มีอะไรพิเศษ
แต่โฆษณาที่แต่ละเกมนำเสนอ มักจะโชว์วิธีการเล่นแบบขัดใจตลอด
เช่น เวลามีทางเลือกให้เลือก 2 ทาง ซ้าย-ขวา ทางซ้ายเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ในวิดีโอโฆษณา กลับเลือกทางเลือกที่แย่กว่า และสุดท้ายก็แพ้
พอหลายคนเห็น ก็น่าจะรู้สึกหงุดหงิดแล้วปัดโฆษณาทิ้งไป
แต่ไม่นานก็จะเห็นโฆษณาเกมใหม่ ๆ หรือเกมเดิม โผล่ตามมาหลอกหลอนอีก
แต่เราก็ดูโฆษณานั้นซ้ำ ทั้ง ๆ ที่เคยดูไปแล้ว และก็รู้อยู่เต็มอกว่า โฆษณานั้นเล่นเกมขัดใจขนาดไหน
แล้วทำไมโฆษณาเกมมือถือเหล่านี้ ถึงนำเสนอการเล่นเกมในรูปแบบนี้ ? ลองมาวิเคราะห์เบื้องหลังกัน
ก่อนอื่นลองถามตัวเองว่า ส่วนมากแล้วเรามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้นานแค่ไหน ?
1 นาที 3 นาที หรือ 5 นาที ?
บางคนอาจจะบอกว่า ตัวเองมีสมาธิดีเยี่ยม โฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ได้นานกว่า 5 นาทีอีก
แต่รู้หรือไม่ว่า จากงานวิจัยพบว่า ช่วงปี 2000 คนเรามีสมาธิเฉลี่ยอยู่ที่ 12 วินาที
และปัจจุบันคนเรามีสมาธิเฉลี่ยเหลือเพียง 8.25 วินาทีเท่านั้น
โดยหลังจากผ่าน 8.25 วินาทีไปแล้ว คนจะเลิกโฟกัสสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
แล้วหันไปสนใจสิ่งอื่นที่อยู่รอบตัวแทน
ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจก็คือ ปลาทอง ที่หลายคนคิดว่ามันสมาธิสั้นสุด ๆ ยังมีสมาธิถึง 9 วินาที
เรียกได้ว่า นักการตลาดทำคอนเทนต์ให้ปลาทองดู อาจจะประสบความสำเร็จมากกว่าให้คนดูก็ได้
แล้วสถิตินี้อธิบายอะไรได้บ้าง ?
ลองสมมติว่าเรากำลังเลื่อนดูสตอรีใน Instagram อยู่
แล้วบังเอิญเห็นโฆษณาเกมมือถือเกมใหม่เป็นครั้งแรก
ถ้าโฆษณานั้นแค่เล่นเกมให้ดูแบบธรรมดา ๆ ก็คงไม่มีอะไรน่าสนใจ
และทุกคนก็น่าจะปัดสตอรีนั้นทิ้งไปภายในไม่กี่วินาที
ยิ่งถ้าเป็นเกมแนว Puzzle อย่างเกมเรียงเพชร หรือบวกลบเลข ที่ไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจด้วยแล้ว
คนดูโฆษณา ก็จะคิดว่าเป็นเกมทั่ว ๆ ไป ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ
พอเป็นอย่างนี้ อย่าว่าแต่ยอดดาวน์โหลดจะเพิ่มขึ้นเลย
แม้แต่ยอด Viewability หรือยอดดูวิดีโอ ก็อาจจะไม่เพิ่มด้วยซ้ำ
ถ้าเป็นแบบนั้น ก็คงเดาได้เลยว่า ไม่นานเกมก็ต้องปิดตัวลง
เพราะดึงคนให้เข้าไปเล่มเกมและสร้างรายได้ไม่ได้เลย
ดังนั้น นักการตลาดและนักทำคอนเทนต์ จึงต้องหาวิธีทำให้คนดูโฆษณารู้สึกสนใจภายในไม่กี่วินาทีให้ได้
จึงเป็นที่มาของการทำโฆษณาเล่นเกมมือถือแบบแย่ ๆ (Bad Gameplay) เพื่อให้คนดูโฆษณาสนใจและหยุดดูโฆษณานั้น
พร้อมกับเกิดความสงสัยว่า ทำไมถึงเลือกตัวเลือกนั้น หรือทำไมไม่เล่นอีกแบบหนึ่ง
ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องเบสิกที่ทุกคนน่าจะรู้หรือคาดเดาได้อยู่แล้ว
จนหลายครั้งก็ทำเอาคนดูโฆษณารู้สึกหงุดหงิด ขัดใจ แล้วก็ดาวน์โหลดมาเล่นบ้าง
เพราะอยากรู้ว่าเกมมันจะยากสักแค่ไหนกัน
ซึ่งในภาษาทางการตลาด อาจเรียกปรากฏการณ์เล่นกับความรู้สึกคนดูแบบนี้ว่า Emotional Marketing
โดย Emotional Marketing เป็นเทคนิคการตลาดรูปแบบหนึ่ง
ที่เล่นกับอารมณ์ความรู้สึก ให้ผู้บริโภคสนใจและหันมาลองซื้อสินค้าไปใช้
ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่า Emotional Marketing จะเล่นกับความรู้สึกด้านบวกเท่านั้น
แต่จริง ๆ แล้ว สามารถนำมาพลิกแพลงใช้กับความรู้สึกด้านลบก็ได้
เช่น โฆษณาบางสินค้าที่ใช้ความรู้สึกเศร้าหรือกังวล มากระตุ้นผู้บริโภคให้รู้สึกว่า จำเป็นต้องซื้ออะไรบางอย่างไปใช้ ไปเก็บไว้ เพื่อให้มีแล้วจะอุ่นใจ
ซึ่งโฆษณาเกมก็ใช้หลักการเดียวกัน มากระตุ้นความรู้สึกของผู้บริโภคให้หยุดดูโฆษณา
แต่เป็นความรู้สึกว่า พอดูแล้วขัดใจมาก ๆ ถ้าเราเล่นเองจะไม่เป็นแบบนี้
สุดท้าย เราก็อาจจะเผลอดาวน์โหลดเกมนั้น ไปเล่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.