กรณีศึกษา การปรับตัวธุรกิจของ L’Oréal ที่มาพร้อมการช่วยเหลือสังคม

กรณีศึกษา การปรับตัวธุรกิจของ L’Oréal ที่มาพร้อมการช่วยเหลือสังคม

29 พ.ค. 2020
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมาเปรียบเสมือนฝันร้าย เมื่อหลายบริษัทต้องปลดพนักงาน ลดเงินเดือน จนถึงขั้นบางบริษัทต้องปิดกิจการ
แต่ในช่วงเวลาที่ดูเหมือนทุกอย่างเกือบจะมืดแปดด้าน หากเรารู้จักปรับตัว ก็จะเห็นแสงสว่างของทางออกเหมือนอย่าง L’Oréal Thailand ที่สามารถผลักดันธุรกิจได้ดีในช่วง COVID-19 
หลายคนอาจสงสัยว่า L’Oréal ทำอย่างไร?
ในเมื่อช่องทางขายหลักที่สร้างรายได้มหาศาลอย่าง ศูนย์การค้า ร้านขายสินค้าความงาม
ต่างต้องปิดกิจการนานเกือบ 2 เดือนจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปก่อนเกิดการระบาด COVID-19
เมื่อ L’Oréal ได้เปลี่ยนวิธีคิดการทำธุรกิจด้วยการให้สินค้าความงามกับเทคโนโลยี ต้องเดินไปพร้อมๆ กันหรือเรียกว่ากลยุทธ์ Beauty Tech
ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์ศูนย์การค้า ร้านค้าต่างๆ ต้องปิดกิจการชั่วคร่าว แนวคิดนี้จึงถูกนำมาใช้เข้มข้นกว่าเดิม
อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการบริษัท L’Oréal ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า
แม้ผู้บริโภคจะกักตัวอยู่บ้านนาน 2 เดือน แต่เชื่อหรือไม่ว่า การที่พวกเขาอยู่บ้านมีเวลาว่างมากขึ้น ก็อยากที่จะทำให้ตัวเองดูดีขึ้นกว่าเดิม
หรือบางคนอยากสนุก Live สด สอนวิธีเมกอัพแปลงโฉมกันใน Facebook ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ใช่บล็อกเกอร์
สรุปก็คือ แม้ผู้บริโภคจะต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่ความต้องการสินค้าความงามยังมีอยู่มหาศาลในช่วง COVID-19
หากแบรนด์ไหน คิดวิธีการขายออนไลน์ได้สมบูรณ์แบบ ก็สามารถพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสได้ในทันที
โดย L’Oréal ในประเทศไทยเป็นบริษัททำธุรกิจความงามขนาดใหญ่มีแบรนด์อยู่ในมือ 22 แบรนด์
และมีถึง 17 แบรนด์ที่เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเมื่อห้างและร้านค้าสินค้าความงามต้องปิดชั่วคราว
ก็ต้องทำให้กระบวนยุทธ์ช่องทางขายออนไลน์ถูกอัปเกรดขึ้น
เริ่มต้นด้วยจัดคอร์สอบรมพนักงานขายที่อยู่ในศูนย์การค้าและในร้านค้าความงามที่เรียกว่า BA
เมื่อร้านค้าต้องอยู่ในกฎมาตรการล็อกดาวน์ พนักงานต้องเรียนรู้การทำงานอยู่บ้าน และเป็นที่ปรึกษาให้แก่ลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและช่องทางออนไลน์อื่นๆ ขณะเดียวกันก็ต้องมีทักษะการขายช่องทางออนไลน์อีกด้วย
ที่น่าสนใจคือ นอกจากช่องทางขายออนไลน์ของตัวเอง L’Oréal ยังร่วมมือเป็นพันธมิตรคู่ค้าด้านอีคอมเมิร์ซ
เพราะรู้หรือไม่ หากเราชอปสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน Shopee หรือ Lazada จะมีฟีเจอร์การทดลองสินค้าเมกอัพกับหน้าตัวเองผ่านเทคโนโลยี AR
ซึ่งจะมีการจำลองว่าถ้าสมมติเราใช้ลิปสติกสีไหน เมื่อทาที่ปากหน้าตาเราจะออกมาเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกันก็ยังมีการจัดแคมเปญการตลาดโปรโมชันต่างๆ รวมกับ 2 แอปพลิเคชันนี้อีกด้วย
และกลยุทธ์นี้ก็ดูเหมือน L’Oréal จะประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อยอดขายช่องทางออนไลน์เติบโตต่อเนื่อง จนทำให้เดือนพฤษภาคมมีอัตราเติบโตสูงถึงสามหลักหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ที่น่าสนใจคือถึงต้องเหน็ดเหนื่อยกับการปรับตัวในการทำธุรกิจ
แต่ L’Oréal ยังมีแนวคิดช่วยเหลือทีมแพทย์ซึ่งเปรียบเสมือนนักรบคนสำคัญในการต่อสู้กับไวรัสร้ายชนิดนี้
ด้วยการมอบผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและดูแลเส้นผมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์
จำนวน 130,000 คน ในโรงพยาบาล 28 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมมูลค่า 150 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก็มีการมอบทุนวิจัยพิเศษเพิ่มเติมให้แก่นักวิจัยหญิงในโครงการลอรีอัล ประเทศไทย
ที่กำลังวิจัยเกี่ยวกับ COVID-19 โดยแบ่งเป็น 5 ทุน ทุนละ 200,000 บาท
จนถึงไม่ทอดทิ้งเพื่อนทางธุรกิจอย่างร้านเสริมสวยต่างๆ ทั่วประเทศที่ทำธุรกิจด้วยกันมาอย่างยาวนานและเติบโตมาด้วยกันโดยตลอด ซึ่ง L’Oréal มีการส่งทีมพนักงานมาช่วย แนะนำสารพัดความรู้
เพื่อปรับตัวและฟื้นฟูธุรกิจร้านเสริมสวยหลังจากได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการ
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่น้อย
เพราะช่วงการระบาดของ COVID-19 แม้ L’Oréal จะได้ผลกระทบจนต้องปรับตัวเพื่อสร้างรายได้ในช่วงที่ช่องทางการขายหน้าร้านแทบจะเป็นศูนย์
แต่เมื่อค้นหา Turning point เจอจนธุรกิจแข็งแกร่ง ก็ยังเลือกที่จะไม่ทอดทิ้งสังคมรอบข้างในทุกๆ ด้าน 
สมกับเป็นหนี่งในบริษัทความงามชั้นนำของโลก
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.