รู้จัก CPRAM ผู้ผลิตข้าวกล่องใน 7-Eleven และเจ้าของ เลอแปง

รู้จัก CPRAM ผู้ผลิตข้าวกล่องใน 7-Eleven และเจ้าของ เลอแปง

22 ก.ค. 2020
7-Eleven เจ้าแห่งร้านสะดวกซื้อของเมืองไทย โดยมีสาขาอยู่ประมาณ 12,000 สาขาทั่วประเทศ
โดยผู้ได้รับสิทธิบริหารแฟรนไชส์ 7-Eleven ในบ้านเราคือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL
ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 600,000 ล้านบาท
ในแต่ละวันจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่ร้าน 7-Eleven เฉลี่ยวันละ 1,122 คนต่อสาขา
ซึ่งลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่แวะเข้ามาภายในร้าน ก็เพื่อต้องการหยิบซื้อ
ข้าวกล่องสำเร็จรูปแช่เย็น แบรนด์ 7-FRESH และ EZYGO
รวมถึง ขนมปัง-เบเกอรี่ แบรนด์ “เลอแปง” มารับประทานกัน
ทั้งนี้ ผู้ผลิตข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และเจ้าของแบรนด์เลอแปง คือ
บริษัท ซีพีแรม จํากัด หรือ CPRAM
CPRAM เป็นบริษัทลูกของ CPALL ซึ่งถือหุ้นอยู่ 99.99%
โดย CPALL ได้ก่อตั้งบริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531
เพื่อดำเนินการผลิตอาหารแช่แข็ง-แช่เย็นพร้อมรับประทาน ป้อนเข้า 7-Eleven โดยเฉพาะ
รวมไปถึงการช่วยผลักดัน และรองรับการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในอนาคต
ก่อนบริษัทจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีพีแรม จํากัด หรือ CPRAM ในปี พ.ศ. 2556
โดยปัจจุบัน บริษัทดำเนินการผลิตและจำหน่ายทั้ง ขนมจีบ, ซาลาเปา, ไส้กรอก, แฮมเบอร์เกอร์, ข้าวกล่อง, ขนมปัง, เบเกอรี่ และเค้ก
แล้วรายได้ของ CPRAM มากขนาดไหน ?
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
บริษัท ซีพีแรม จำกัด
ปี 2560 มีรายได้ 16,416 ล้านบาท กำไร 619 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 18,199 ล้านบาท กำไร 526 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 20,061 ล้านบาท กำไร 606 ล้านบาท
คิดเป็นอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ย 10.6% ต่อปี
โดย CPRAM มีสัดส่วนรายได้จากอาหารแช่แข็ง-แช่เย็น ประมาณ 60%
และรายได้จากเบเกอรี่ ประมาณ 40%
แล้วธุรกิจของ CPRAM สำคัญกับร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แค่ไหน ?
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นับเฉพาะธุรกิจของ 7-Eleven
ปี 2562 มีรายได้ 361,034 ล้านบาท กำไร 20,180 ล้านบาท
ถ้าเทียบแล้วง่ายๆ ในปีล่าสุด
รายได้ของ CPRAM จะคิดเป็นเพียง 5.6%
และมีกำไร คิดเป็น 3.0% ของธุรกิจ 7-Eleven
อย่างไรก็ตาม ถึงธุรกิจของ CPRAM จะมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของร้าน 7-Eleven
แต่ทาง CPALL ก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้อย่างมาก
เพราะมองว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาหมุนเวียนใช้บริการที่ร้าน 7-Eleven บ่อยๆ
ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ทางอ้อม จากการที่ลูกค้ามีโอกาสเห็นสินค้าอื่นๆ ผ่านตา ตอนแวะเข้ามาที่ร้าน และหยิบติดไม้ติดมือไปด้วย
และ CPALL ก็ได้ประกาศกลยุทธ์ชัดเจนว่าจะทำให้ 7-Eleven เป็น “ร้านอิ่มสะดวกซื้อ”
ตามสโลแกน ‘หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา …7-Eleven’
ซึ่งช่วงที่ผ่านมา กลยุทธ์นี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก
เพราะตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ ที่ผู้คนมีพฤติกรรมเร่งรีบ และต้องการความสะดวกสบายกันมากขึ้น
เช่น พนักงานออฟฟิศ หรือนักศึกษา
ที่แวะซื้อข้าวกล่อง 7-Eleven หรืออาหารแช่แข็งอื่นๆ
ระหว่างทางไปทำงาน ไปเรียน และกลับที่พัก
หรือซื้อตุนเก็บเอาไว้ที่ห้อง
เพราะจะได้ไม่ต้องออกไปไหน เวลาหิวก็สามารถเอาอาหารมาอุ่นไมโครเวฟทานได้ทันที
ด้วยความสะดวก และง่ายนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค
เลยทำให้ธุรกิจของ CPRAM และ 7-Eleven เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเงาของสังคมเมือง
แต่.. ทุกธุรกิจย่อมมีอุปสรรค ไม่เว้นแต่ CPRAM
การเกิดขึ้นและบูมของแพลตฟอร์ม “ฟู้ด ดิลิเวอรี” อย่างเช่น Grab และ LINE MAN
ได้กลายเป็นคู่แข่งธุรกิจรายสำคัญ และเป็นตัวแปรที่คาดไม่ถึง จนอาจทำให้การเติบโตของ CPRAM สะดุดลง..
เมื่อผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
สามารถเข้าถึงร้านอาหารรายใหญ่ รายย่อย ได้ตามต้องการ เพียงแค่สไลด์หน้าจอ
และเลือกอาหารจากเมนูอันหลากหลาย
จากนั้นรออาหารอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องออกไปไหน
ง่ายไม่แพ้การหยิบข้าวกล่องเข้าเครื่องไมโครเวฟ
และ “สะดวก” กว่าการแวะไปซื้ออาหารที่ “ร้านสะดวกซื้อ”
ที่สำคัญอาหารยังมีความ “สดใหม่” กว่าอีกด้วย
ซึ่งผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง จากเดิมที่มีพฤติกรรมทานอาหารเวฟจากร้าน 7-Eleven บ่อยๆ ก็หันมาสั่งอาหารจากแอปแทน เพราะมองว่าคุ้มค่า และตอบโจทย์มากกว่า
แต่ก็ใช่ว่าทาง CPRAM และ 7-Eleven จะยอมอยู่เฉยๆ ให้ตัวเองถูกดิสรัปอยู่ฝ่ายเดียว
อย่างเมื่อไม่นานมานี้ 7-Eleven ก็เปิดให้บริการดิลิเวอรี และแอป 7-Delivery เพื่ออำนวยความสะดวกผู้บริโภค และโต้กลับการรุกรานจากบรรดาแอปฟู้ด ดิลิเวอรี
ศึกครั้งนี้ ก็น่าติดตามว่า กลยุทธ์ใหม่ของ 7-Eleven จะสามารถต้านทานความร้อนแรงของแพลตฟอร์มดิลิเวอรีจากต่างชาติ
และยังคงรักษาการเติบโตของธุรกิจ CPRAM ต่อไปในอนาคตได้หรือไม่
โลกของธุรกิจก็เป็นแบบนี้ แม้แต่ยักษ์ใหญ่ ที่เคยเป็นเสือนอนกินมาเกือบตลอด
ก็ต้องปรับตัว ตาม “พฤติกรรม” และ “ความคาดหวัง” ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
แต่ต้องบอกไว้ว่า
ไม่ใช่แค่ CPRAM และ 7-Eleven ที่ต้องลำบากกับการปรับตัว
แต่พนักงาน 7-Eleven เอง ที่ต้องทำงานสารพัดอย่าง ก็คงเหนื่อยไม่แพ้กัน
อ้างอิง :
1Q20_Presentation_CPALL
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
http://www.cpram.co.th/th/about-history.php#nogo
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.