ม. มหิดล จับมือ ไทยพาณิชย์ ยกระดับห้องเรียนออนไลน์ ในรูปแบบ Virtual Platform

ม. มหิดล จับมือ ไทยพาณิชย์ ยกระดับห้องเรียนออนไลน์ ในรูปแบบ Virtual Platform

22 ก.ค. 2020
ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้าสนับสนุนโครงการ Smart University สร้างระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อยกระดับการศึกษาต่อเนื่อง จับมือ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อยอดโครงการ “Mahidol Digital Convergence University”
ร่วมกันพัฒนาศักยภาพห้องเรียนเสมือนจริงในรูปแบบ Virtual Platform ที่ล้ำสมัย ภายใต้แนวคิด Study Anywhere รองรับการเรียนการสอนและการประชุมระยะไกลจากทั่วโลก
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจากรูปแบบเดิมมาเพื่อรองรับวิถีใหม่
ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2563 ที่กำลังจะเปิดในเดือนสิงหาคม มหาวิทยาลัยได้วางมาตรการระยะสั้น สำหรับภาคการศึกษาแรกปี 2563
โดยจะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนผ่านห้องเรียนเสมือนจริง ในรูปแบบ Virtual Platform ที่มีการพัฒนาร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์
สำหรับนักเรียนชั้นปีอื่น ก็จะมีการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ตามความเหมาะสม
สำหรับมาตรการระยะยาว ทางมหิดลได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มมากขึ้น พร้อมอบรมพัฒนาศักยภาพอาจารย์ผู้สอน พัฒนาเทคนิคการสอนออนไลน์ให้อาจารย์ รวมถึงประเมินอาจารย์ เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ใกล้เคียงการเรียนการสอนแบบในห้องเรียนจริง
นายภานุ โชติประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Corporate Banking 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผนึกกำลังนำศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีของทั้งสององค์กรร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลให้กับมหาวิทยาลัยสู่การเป็น Smart University นับตั้งแต่ปี 2561
วันนี้วิสัยทัศน์ที่เดินหน้าร่วมกันตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม 
และช่วยสนับสนุนให้การเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่สถาบันการศึกษาจะต้องปิดดำเนินการชั่วคราว สามารถเดินหน้าได้ต่อเนื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วย Virtual Platform
ทั้งนี้ การใช้ Virtual Platform เพื่อสนับสนุนห้องเรียนเสมือนจริงเป็นหนึ่งในหลากหลายโครงการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมหิดลก้าวสู่มหาวิทยาลัยแถวหน้าของโลก 
และเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดท้าทายให้ภาคการศึกษาต้องเร่งปรับตัวรับกับบริบทใหม่ที่แตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง
มหาวิทยาลัยมหิดลจึงกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น Digital Convergence University โดยการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกันออกแบบและสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลให้พร้อมเข้าสู่ระบบการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งนำมาสู่การริเริ่มโครงการมากมายตามมา
หนึ่งในโครงการสำคัญคือการพัฒนา Virtual Platform ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งสององค์กร ได้รับการพัฒนาร่วมกันมาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยเริ่มจากการวางระบบเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่และวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ศาลายา กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ พร้อมระบบ Interactive สำหรับอาจารย์และนักศึกษา
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 มหาวิทยาลัยมหิดล
ได้สร้างประสบการณ์ห้องเรียนเสมือนจริง ผ่านโปรแกรม Webex ไปแล้วกว่า 65,000 ชั้นเรียน/ห้องประชุม 
มีจำนวนการ Join เข้าเรียน/เข้าประชุมกว่า 750,000 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.