ถอดบทเรียนธุรกิจ จากทายาท “มนต์นมสด” รุ่นที่ 2 ธเนศร วนิศรกุล

ถอดบทเรียนธุรกิจ จากทายาท “มนต์นมสด” รุ่นที่ 2 ธเนศร วนิศรกุล

18 ต.ค. 2020
ร้าน "มนต์นมสด" ชื่อนี้คนเมืองกรุงคงไม่มีใครไม่รู้จัก
นอกจากรสชาติขนมปังและนมสดที่ถูกปากแล้ว
หากพูดในแง่มุมธุรกิจ
แนวคิดและการบริหารจัดการของมนต์นมสด ก็น่าสนใจไม่น้อย
ซึ่งบทความนี้จะพาผู้อ่าน มาทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าว
ผ่านวิสัยทัศน์ของทายาทรุ่นที่ 2 คุณมอส ธเนศร วนิศรกุล
ผู้ดูแลร้านมนต์นมสด สาขาเชียงใหม่
ร้านมนต์นมสด มีจุดเริ่มต้นมาจาก คุณพ่อ ของคุณมอส หรือ คุณมนต์ วนิศรกุล
ซึ่งวันหนึ่ง บังเอิญเห็นคนขายก๋วยเตี๋ยวบนรถกระบะ
จึงเกิดความคิดว่า อยากจะดาวน์รถกระบะสักคัน เพื่อขายชา กาแฟ โอเลี้ยง ไข่ลวก นมร้อน ขนมปังสังขยา
บนรถกระบะ โดยขายแถวเสาชิงช้า
แต่ช่วงเริ่มต้นกิจการ ก็ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไร
เพราะมักถูกเทศกิจ และเจ้าของพื้นที่ ไล่ขอคืนที่อยู่หลายครั้ง
จนสุดท้าย คุณพ่อ เลยตัดสินใจว่าต้องหันมาเปิดร้านเป็นของตัวเอง
ด้วยการยืมเงินญาติ และกู้ธนาคาร มาเซ้งตึกแถว 2 คูหา
ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นเงินกว่า 7 ล้านบาท
ซึ่งหลังจากนั้นมา “มนต์นมสด” ก็ได้ถูกส่งต่อให้ทายาทรุ่นต่อมา
และขยับขยายกิจการ จนมี 6 สาขา ในปัจจุบัน
แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 3 สาขา และ เชียงใหม่ 3 สาขา
สำหรับเรื่องแนวคิดในการทำธุรกิจของ มนต์นมสด
คุณมอส ธเนศร วนิศรกุล ทายาทรุ่นที่ 2 ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ Perspective ว่า
“เราขายขนมปัง 10-20 บาทก็จริง
แต่เราใส่ใจเข้าไปเต็มๆ 200,000 เลย
กลับกัน ถ้าเราขายของราคาแพง แต่เราใช้ใจแค่ 20 บาท เราก็จะไม่มีมนต์นมสดถึงทุกวันนี้”
นอกจากการใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดแล้ว
แม่เหล็กดึงดูด ที่ทำให้คนไทยและชาวต่างชาติสนใจและชื่นชอบ น่าจะเป็นแก่นของมนต์นมสด
นั่นคือ มนต์นมสด ตั้งใจทำร้านอาหารให้ออกมาดีที่สุด
“โชคดีที่ลูกค้าเข้าใจสิ่งที่เราทำ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ
เรามีอาชีพขายของกิน ดังนั้น ของกินสำคัญที่สุด
เมื่อเข้าปากแล้วต้องอร่อย รสชาติต้องแตกต่าง
และการรักษามาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อเวลาผ่านไป รสชาติต้องยังอร่อยเหมือนเดิม คนถึงอยากจะพาลูกหลานมากินอีก”
สรุปแล้ว การทำธุรกิจอาหาร Core Value หรือ ปัจจัยหลักๆ ที่ต้องมี คือ
1) สูตร :
สูตรอาหาร ต้องอร่อยและแตกต่างจากเจ้าอื่น
กินแล้วคนต้องจำได้ว่า รสชาติแบบนี้มาจากแบรนด์นี้ ร้านนี้
2) แก่น :
แก่นความเชื่อในการทำธุรกิจร้านอาหาร คือ ต้องใช้ใจและความอดทน
เพราะกว่ารสชาติจะติดปากลูกค้า และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ต้องใช้เวลาพิสูจน์อะไรหลายๆ อย่าง
จนกว่าลูกค้า จะกล้าพูดบอกปากต่อปาก (Word of mouth) กันไปเรื่อยๆ
แต่ยุคนี้ อาจง่ายและเร็วขึ้นหน่อย เพราะมีเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์หลายรูปแบบ
โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย
3) มาตรฐาน :
มาตรฐานจริงๆ แล้วสำคัญกับทุกธุรกิจ ยิ่งโดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร
วัตถุดิบมีคุณภาพยังไงตั้งแต่วันแรก วันนี้ก็ยังคงต้องเป็นแบบนั้น
การรักษามาตรฐานจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี
คนทำธุรกิจ สามารถตั้งคำถามง่ายๆ กับตัวเองว่า
อะไรคือ จุดแข็งและสิ่งที่ดีที่สุดในธุรกิจของเรา ?
รสชาติ, ความสดใหม่, การรักษามาตรฐาน, บรรยากาศร้าน, สถานที่ตั้ง, ความรวดเร็วในการบริการหรือการขนส่ง ฯลฯ
เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด หรือ เอาไว้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง
แต่สำหรับธุรกิจร้านอาหารแล้ว ต้องตั้งต้นจากเรื่อง “ความอร่อย” ก่อน
เพราะถ้าไม่อร่อย ก็เรียกได้ว่า ตายตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม..
ส่วนจุดอื่นๆ ก็เป็นตัวเสริมกันไป
คุณมอส ยังให้แง่คิดที่น่าสนใจอีกว่า
“แรกๆ ถ้าเปิดร้านอาหาร ต่อให้ไม่มีลูกค้า ก็อย่าไปลดต้นทุน
เพราะของอร่อย ยังไงก็ต้องอร่อย ขาดทุนช่างมันเดี๋ยวก็มีลูกค้าเอง
การที่เราไปลดต้นทุน แล้วทำให้คุณภาพแย่ลง หรือรสชาติเปลี่ยน อันนั้นคือ การฆ่าตัวตายอย่างช้าๆ”
สรุปแล้ว บทเรียนของเรื่องนี้ ได้ให้ข้อคิดอีกอย่างว่า
จริงๆ แล้วการทำธุรกิจร้านอาหาร ไม่ใช่เรื่อง “ง่าย”
แต่ก็ไม่ “ยาก” เกินความสามารถ ถ้ามีใจที่รัก และมีความอดทน มากพอ..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.