กรณีศึกษา การระบาดโควิด 19 รอบใหม่ กับฝันร้ายซ้ำซ้อน ของธุรกิจร้านอาหาร

กรณีศึกษา การระบาดโควิด 19 รอบใหม่ กับฝันร้ายซ้ำซ้อน ของธุรกิจร้านอาหาร

12 ม.ค. 2021
การระบาดโควิด 19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้น กับการระบาดรอบแรก เมื่อปีที่แล้ว
รอบไหนที่สร้างบาดแผลให้กับธุรกิจร้านอาหารในศูนย์การค้า ได้มากกว่ากัน ?
เมื่อการระบาดรอบแรกปีที่แล้ว ร้านอาหารต้องปิดให้บริการนาน 2 เดือน
ทางออก ณ เวลานั้นคือ การขายแบบ Delivery
จากนั้นเมื่อศูนย์การค้ากลับมาเปิด ร้านอาหารก็ต้องจัดโต๊ะแบบเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่ง
และในเวลาไม่นาน ก็กลับคืนสู่การบริการแบบปกติ
แต่.. การระบาดใหม่ครั้งนี้ ไร้ซึ่งการล็อกดาวน์ปิดร้าน แต่เป็นการกำหนดเวลาให้ขายแบบนั่งทานที่ร้านได้ถึง 21.00 น. และต้องมีมาตรการป้องกัน เช่น กำหนดจำนวนคนเข้าร้าน, เว้นระยะห่าง
ส่วนเวลาที่เหลือ ให้ขายแบบสั่งกลับบ้านเท่านั้น (Take Away)
ฟังดูร้านอาหารต่างๆ ก็น่าจะมีออกซิเจนหายใจ ไปได้ต่อในธุรกิจ
มองดูผิวเผินก็อาจจะเป็นเช่นนั้น..
หากมองให้ลึกก็จะรู้ว่า ร้านอาหารในศูนย์การค้า จนถึงร้านอื่นๆ
กำลังเผชิญกับสารพัดปัญหาที่อาจจะรุนแรงกว่าการระบาดของโควิด 19 รอบแรกเสียอีก
ณ วันนี้ นอกจากเราจะเห็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ ถึงการปิดกิจการร้านอาหารหลายแห่งแล้วนั้น
เรายังเห็นภาพของร้านอาหารในศูนย์การค้า ที่ช่างเงียบเหงาเหลือเกิน..
ร้านอาหารกำลังเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง ในการระบาดรอบนี้
หลายคนอาจคิดว่าเมื่อคนไม่อยากออกมาทานอาหารนอกบ้าน
วิธี “แก้เกม” คือหันมาขายในช่องทาง Delivery ซึ่งเกือบทุกร้านก็ทำเหมือนกันหมด
แต่.. ก็ใช่ว่า ทุกร้านจะได้รับความนิยมในช่องทางนี้
เมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่า มีอาหารอยู่หลายประเภทที่ต้องการ “ฟีลลิง” ในการทานที่ร้าน
ชาบู สายพาน เราก็อยากทานที่ร้าน เพราะเราเห็นอาหารให้เลือกมากมาย
ปิ้งย่าง, สุกี้ เราก็อยากทานกับเพื่อนหรือกับครอบครัว
ร้านอาหารทะเล, ภัคตาคาร, ก็มักจะเป็นมื้อพิเศษแห่งการสังสรรค์กับเพื่อน หรือ ครอบครัว
ที่สำคัญ มีเมนูอยู่หลายจาน ที่เรารู้สึกว่าการทานที่ร้าน มีรสชาติอร่อยกว่าสั่งทานที่บ้าน
แม้การระบาดของโควิด 19 ครั้งนี้
ร้านอาหารจะสามารถเปิดให้คนใช้บริการได้ปกติ แต่ก็มีข้อบังคับจำกัดคนเข้าร้าน และ เว้นระยะห่าง ถือเป็นการจำกัดรายได้ในแต่ละวัน ไปโดยอัตโนมัติ
แต่ที่มันดูเลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ แม้ร้านอาหารในศูนย์การค้า จะมีมาตรการคุ้มเข้มแล้ว
ก็มีลูกค้าจำนวนมาก ที่ยังคงระแวงการทานอาหารในร้าน
ว่าตัวเองจะปลอดภัยจากโควิด 19 มากน้อยแค่ไหน
ที่สำคัญการระบาดของโควิด 19 ในรอบนี้
หลายคนระมัดระวังการใช้จ่ายเงินของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด
นั่นแปลว่า การจะทานอาหารที่ร้านอาหารในศูนย์การค้า ซึ่งแต่ละมื้อมีราคาค่อนข้างสูงกว่าทานร้านข้างทางแถวบ้าน ก็น่าจะมีอัตราความถี่น้อยลงตามด้วย
เมื่อ รายได้น้อยลง อย่างน่าใจหาย ขณะที่ต้นทุนหลายอย่างเกือบเท่าเดิม
ทั้ง ค่าเช่าพื้นที่, ค่าจ้างพนักงาน, ค่าวัตถุดิบ, ค่าน้ำค่าไฟ และค่าอื่นๆ อีกสารพัด
เมื่อนำมาหักลบแล้ว รายได้จึงไม่สามารถหล่อเลี้ยงต้นทุนที่มีอยู่ได้
สุดท้ายแล้ว ร้านที่เผชิญกับปัญหานี้ ก็ต้องคิดต่อว่า จะเปิดร้านต่อไป แบบขาดทุนไปเรื่อยๆ
เพื่อรอให้สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย หรือ จะปิดกิจการชั่วคราว โดยลดพนักงาน และลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วขายแบบ Delivery เพียงอย่างเดียว
ก็ขึ้นอยู่กับว่าร้านอาหารแต่ละแห่ง จะเลือกทางไหน
เพราะวันนี้สิ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้ก็คือ การระบาดครั้งนี้ ที่กินเวลามานาน 1 เดือนแล้ว
สถานการณ์จะกลับคืนสู่ปกติ เมื่อไร ซึ่งคาดว่าคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ อย่างแน่นอน
สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือ เจ้าของพื้นที่อย่างศูนย์การค้า อาจต้องลดค่าเช่าที่
ซัปพลายเออร์ อาจต้องยอมกำไรน้อยลง และขายวัตถุดิบให้ร้านอาหาร ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม
เพื่อช่วยพยุงให้ร้านอาหารต่างๆ มีลมหายใจอยู่ต่อไป ถึงวันที่การระบาดโควิด 19 สิ้นสุดลง
เพราะสิ่งที่น่ากลัววันนี้ คงไม่ใช่คำสั่งภาครัฐ ว่าจะล็อกดาวน์ปิดร้านอาหาร
แต่.. มันคือ การที่ผู้บริโภคหลายคนเลือกจะ “ล็อกดาวน์” ตัวเองต่างหาก
ด้วยความกลัวการระบาดโควิด 19 จนไม่กล้าเข้าร้านอาหาร
จนถึง การระมัดระวังการใช้จ่ายเงินในกระเป๋าตัวเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.