กรณีศึกษา สิ่งที่ตามมา กับการเติบโตของ e-Money

กรณีศึกษา สิ่งที่ตามมา กับการเติบโตของ e-Money

17 ม.ค. 2021
เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ใน 1 วัน การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรา
ใช้เงินสด หรือ เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) บนมือถือมากกว่ากัน
คำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนตอบ
หากเป็นคนเมืองมนุษย์ออฟฟิศ คำตอบอาจเป็น e-Money
หากถามคนต่างจังหวัด พ่อค้าแม่ค้า ก็อาจเป็นการใช้เงินสดมากกว่า
แต่.. สิ่งที่เป็นแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันคือ
ภาพรวมคนไทยกำลังคุ้นเคยกับการใช้ e-Money จนกลายเป็นเรื่องปกติโดยไม่รู้ตัว
ปี 2559 ค่าเฉลี่ยคนไทย 1 คน ใช้ e-Payment 49 ครั้ง/ปี
ปี 2563 ค่าเฉลี่ยคนไทย 1 คน ใช้ e-Payment 151 ครั้ง/ปี
ผ่านมา 4 ปี มีอัตราการเติบโต 208%
ก็เลยไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย ที่ตัวเลขการใช้จ่าย e-Money ในระบบธนาคารพาณิชย์ ก็โตระเบิด
โดยปี 2563 มีการทำธุรกรรมออนไลน์ 854.7 ล้านครั้ง เติบโต 66% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
และมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 5.54 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโต 22%
ขณะเดียวกันบรรดา E-Wallet ต่างๆ ก็มีอัตราการใช้งานเติบโตอย่างน่าเหลือเชื่อ
ด้วยการแข่งขันให้ส่วนลดพิเศษในการซื้อสินค้า
กระตุ้นให้คนใช้จ่ายผ่านช่องทางตัวเองมากขึ้น
เรื่องนี้ความน่าสนใจมันอยู่ที่ว่า
อะไรที่ทำให้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนแปลงมาใช้ e-Money แบบติดจรวด
ก็ต้องบอกว่า มีสารพัดเหตุผลมากมาย
พายุการเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่สุดก็คือการระบาดของโควิด 19
ที่เปรียบเสมือนตัวเร่งให้คนที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินดิจิทัล
ต้องหันมาใช้งานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากที่ไม่เคยสั่งอาหารหรือซื้อสินค้าผ่าน App ก็ต้องหันมาทดลองใช้ในช่วงกักตัว
สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อใช้บริการเหล่านี้ ก็ต้องมี App Mobile Banking ติดตัว
จนถึงแคมเปญ คนละครึ่ง ที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าข้างทาง จากไม่เคยรู้จักกับ e-Money
ก็ต้องโหลด App เป๋าตัง เพื่อเข้าร่วมโครงการ ที่เวลานี้มียอดดาวน์โหลดกว่า 40 ล้านครั้ง
จากนั้นก็ลองโหลด App บริการทางการเงินอื่นๆ เพื่อรองรับการจ่ายเงินของลูกค้า
จากคนที่เคยกลัวเรื่อง ความปลอดภัย หรือ รู้สึกยุ่งยาก แต่เมื่อใช้งานจริงๆ รู้สึกว่าชีวิตง่ายขึ้นเยอะ
ยอดขายเพิ่มมากขึ้น ก็เลยทำให้ร้านค้าในศูนย์การค้า ในตลาดสด และร้านข้างทาง ต่างเริ่มมีบริการจ่ายเงินออนไลน์หลากหลายรูปแบบ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็เลยทำให้สิ่งรอบข้างตัวเราเปลี่ยนไปอย่างไม่รู้ตัว
จนในที่สุดกลายเป็นเรื่องคุ้นชินในชีวิตประจำวัน
ก็เลยทำให้ ณ วันนี้ ไม่ว่าเราจะจ่ายเงินซื้ออะไร ใช้บริการอะไร
ตั้งแต่ร้านค้าข้างทางจนถึงห้างหรู ก็จะมีสารพัด App ให้เราเลือกชำระเงิน
สิ่งที่ตามมาก็คือ การใช้เงินสดในระบบเศรษฐกิจค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ
ซึ่งก็จะทำให้รัฐบาลพิมพ์ พันธบัตรน้อยลงเช่นกัน ถือเป็นการประหยัดงบประมาณในส่วนนี้
เรื่องนี้เลยทำให้ รัฐบาลแต่ละประเทศ กระตุ้นให้ประชาชนตัวเองใช้ e-Money มากขึ้น เพื่อให้เกิดสังคมไร้เงินสด
ปี พ.ศ. 2558 ประเทศ สวีเดน มีสัดส่วนการใช้เงินสดเหลือ 2% จากการทำธุรกรรมทั้งหมด
ปี พ.ศ. 2563 คาดการณ์ว่า สัดส่วนการใช้เงินสดจะเหลือ 0.5% จากการทำธุรกรรมทั้งหมด
ประชากรจีนเกือบ 70% ใช้ Mobile Payment โดยมี App ยอดนิยมอย่าง Alipay และ WeChat Pay
จนถึงประเทศ เบลเยียม, สิงคโปร์, ฝรั่งเศส ประชาชนส่วนใหญ่ก็ใช้เงิน e-Money
คำถามก็คือ แล้วประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นเมื่อไร
เพราะนี่คือสิ่งที่ภาครัฐในหลายๆ ประเทศกำลังกระตุ้นอย่างหนักหน่วง
เพราะรู้หรือไม่ว่า การใช้จ่าย e-Payment เป็นหนึ่งตัวช่วยให้ระบบเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเติบโต
เพราะด้วยการซื้อง่าย ขายคล่อง ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมหาศาล
เลยเป็นที่มา ที่ภาครัฐ มีนโยบายกระตุ้นต่อเนื่อง
ส่วนภาคเอกชน ก็ต่างมีอาวุธทางการตลาดมากมาย กระตุ้นให้คนชอปออนไลน์
แต่หากมีด้านที่สว่าง ก็ย่อมมีด้านที่มืด เช่นกัน
เพราะด้วยความสะดวกสบายที่วันนี้เราแค่อยู่ที่บ้าน อยากทานอาหารอร่อยๆ แพงๆ
อยากได้เสื้อผ้าหรูๆ อยากซื้อสินค้าแพงๆ แค่กด App จ่ายเงินออนไลน์
เพียงไม่นานสินค้าก็จะมาปรากฏตรงหน้า
มารู้สึกตัวอีกที เงินในบัญชี ก็เหลือน้อยจนน่าใจหาย..
สุดท้าย เมื่อเงินในแต่ละเดือนไม่พอใช้ ก็ต้องไปกู้เงินมาหมุนเวียนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
กลายเป็นอีกหนึ่งกับดักหลุมใหญ่ ที่ก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นในทุกๆ ปี
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.