UCC Coffee กาแฟสัญชาติญี่ปุ่น ทำอย่างไร ถึงส่งออกแบรนด์ ไปได้ทั่วโลก

UCC Coffee กาแฟสัญชาติญี่ปุ่น ทำอย่างไร ถึงส่งออกแบรนด์ ไปได้ทั่วโลก

21 พ.ค. 2021
แม้ญี่ปุ่น จะขึ้นชื่อในเรื่องเครื่องดื่มประเภทชา ที่เป็นดั่งวัฒนธรรมรากฐานของประเทศ
แต่รู้ไหมว่า ดินแดนแห่งนี้ นอกจากชาแล้ว
เรื่องของกาแฟ ก็ขึ้นชื่อไม่แพ้กัน เพราะมีแบรนด์กาแฟระดับโลกเป็นของตัวเอง
อย่างเช่น “UCC Coffee” ที่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟไปขาย จนเป็นที่นิยมในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกได้
หากเล่าถึงจุดกำเนิดของกาแฟ UCC Coffee
ก็คงจะต้องเกริ่นไปถึง จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมกาแฟในญี่ปุ่น กันก่อน
ในช่วงปี 1800 กาแฟยังไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนญี่ปุ่น มากนัก
นั่นก็เพราะคนญี่ปุ่น ยังคงมีความนิยมในการดื่มชาอย่างเดียว ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ
จนกระทั่งในช่วงปี 1888 หลังจากญี่ปุ่นได้เปิดรับเอาวัฒนธรรม ทั้งเรื่องการทานอาหาร การแต่งตัวของชาติตะวันตก มาปรับใช้เพื่อพัฒนาประเทศและวิถีชีวิต
กาแฟ ก็ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในสังคมญี่ปุ่น
และได้เข้ามากินส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มประเภทที่กระตุ้นความสดชื่น ของคนญี่ปุ่น
ด้วยความรวดเร็วในการชงเพื่อดื่ม ซึ่งตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบของคนญี่ปุ่น ในขณะนั้น
เพราะการชงชาอย่างพิถีพิถัน ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร
ประกอบกับในขณะนั้นเอง นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการแปรรูปชาให้ดื่มได้สะดวก ก็ยังไม่ค่อยมีมากเท่าไรนัก
การดื่มชา จึงได้รับความนิยมที่ลดลง
และแล้ว ร้านกาแฟสไตล์ตะวันตก แห่งแรกของญี่ปุ่นก็ถือกำเกิดขึ้น ในเวลาต่อมาไม่นาน
ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เครื่องดื่มแบบตะวันตก ถูกผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ได้อย่างเป็นรูปธรรม
เรื่องนี้เอง จึงทำให้ในปี 1933 คุณ Tadao Ueshima ได้มองเห็นโอกาสระหว่างโลกของกาแฟ กับ วัฒนธรรมความเร่งรีบของคนญี่ปุ่น
โอกาสที่เขามองเห็นคือ การทำให้เกิดความสะดวกสบาย ต่อการบริโภคกาแฟ ให้ได้มากที่สุด
โดยสามารถพกพาหยิบไปดื่มที่ไหนก็ได้ และสามารถเก็บรักษาเอาไว้ได้นาน
ในปี 1951 คุณ Ueshima จึงได้ให้กำเนิดกาแฟที่แปรรูปลงสู่กระป๋อง ที่สามารถดื่มและหาซื้อง่าย
รวมถึงก่อตั้งบริษัท Ueshima Coffee Co. และโรงงานผลิตกาแฟ ในกรุงโตเกียว
ด้วยต้นทุนเริ่มต้น 300,000 บาท ในสมัยนั้น
ความที่คุณ Ueshima ตั้งเป้าจะเป็นที่ 1 ในอุตสาหกรรมกาแฟญี่ปุ่น และขยายธุรกิจออกไปให้ได้ทั่วโลก
เขาจึงไม่ได้หยุดคิดแค่จะผลิตหรือแปรรูปกาแฟ ในรูปแบบเดิม ๆ ตามท้องตลาด
แต่ต้องใส่ความพิเศษ หรือนวัตกรรมลงไป เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าของเขา
ยกตัวอย่างเช่น
ในปี 1965 คุณ Ueshima ได้ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อขยายช่องทางนำเข้าเมล็ดพันธุ์กาแฟ Arabica รวมถึงวิธีการคั่วกาแฟ จากแหล่งผลิตที่ดีสุดในโลก อย่างประเทศเอธิโอเปีย
ในปี 1969 บริษัท UCC Ueshima Coffee ได้คิดค้นกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มรสนม และวางจำหน่ายเป็นเจ้าแรกของโลก
และหลังจากนั้น ในช่วงปี 1984 บริษัท UCC Ueshima Coffee ยังได้ขยายโรงงานการผลิต และการกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากประเทศที่มีการส่งออกกาแฟมากที่สุดของโลก อย่างประเทศบราซิล
จนมาถึงปัจจุบัน UCC Ueshima Coffee ได้ขยายธุรกิจไปมากกว่า 20 ประเทศ ในทุก ๆ ทวีป
และเราสามารถที่จะพบเห็นผลิตภัณฑ์กาแฟกระป๋องสัญชาติญี่ปุ่น แบรนด์ UCC Coffee ได้ทั่วโลก
รู้หรือไม่ว่า ในปีที่ผ่านมา
UCC Ueshima Coffee สามารถกอบโกยรายได้ จากการขายกาแฟกระป๋อง ไปมากถึง 76,128 ล้านบาท เลยทีเดียว
แล้วทำไม แบรนด์กาแฟสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง “UCC Coffee” ถึงประสบความสำเร็จ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปได้ทั่วโลก ?
1. วางแผนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเน้นประเทศที่เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า
คุณ Ueshima เข้าใจดีว่า ต้นทุนของการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ค่อนข้างสูง
และไม่อาจการันตีได้ว่า การลงทุนนั้น ๆ จะประสบความสำเร็จ
ดังนั้น ไหน ๆ ก็ต้องลงทุนแล้ว คุณ Ueshima จึงได้เน้นการขยายธุรกิจไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลาง สำหรับการนำเข้า-ส่งออก ให้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทย เพื่อที่จะสามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศกลุ่ม CLMV ได้ง่ายขึ้น
2. ดึงความเป็นจุดเด่นในเรื่องของ “กาแฟญี่ปุ่น” เพื่อตีตลาดกาแฟของชาวตะวันตก
กาแฟ เป็นผลิตภัณฑ์ที่หาพบได้ทั่วไป และผลิตได้ไม่ยาก
เพราะฉะนั้น หากแบรนด์อยากมีจุดเด่น
ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ หรือลูกเล่น (Gimmick) ทางการตลาด ให้มีความแตกต่าง
สำหรับคุณ Ueshima แล้ว
เขาได้นำความเป็นกาแฟกระป๋องสัญชาติญี่ปุ่น อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของแบรนด์
ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างลักษณะของการออกแบบกระป๋อง ภาษาญี่ปุ่นที่มีปรากฏให้เห็นบนกระป๋อง มาใช้เป็นจุดเด่น
หรือแม้กระทั่งการขยายธุรกิจในส่วนของร้านกาแฟสด ในชื่อ “UCC Coffee Roastery” ที่ดึงจุดเด่นกาแฟดริปสไตล์ญี่ปุ่น และเมล็ดพันธุ์กาแฟ ที่นำเข้าตรงมาจากประเทศญี่ปุ่น
3. การนำกลยุทธ์ “Backward Integration Strategy” เข้ามาปรับใช้
Backward Integration Strategy คือกลยุทธ์การขยายธุรกิจแบบถอยหลัง เพื่อดำเนินในธุรกิจต้นน้ำ ของห่วงโซ่อุปทาน
ซึ่งในกรณีของ บริษัท UCC Ueshima Coffee นี้ จะเป็นการขยายเข้าไปในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “การจัดหาวัตถุดิบ” นั่นคือ การร่วมมือกับแหล่งปลูกและผลิตกาแฟท้องถิ่น ในแต่ละประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจาเมกา, ประเทศบราซิล และฮาวาย
ทั้งหมดก็เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดแคลนวัตถุดิบ
และเพิ่มความสามารถในการควบคุม กระบวนการที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้า
4. ขยายความหลากหลายของผลิตภัณฑ์
ความหลากหลายในที่นี้ มีทั้งในด้านช่องทางการจำหน่าย
เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์กาแฟ ได้สะดวกที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น ตู้หยอดเหรียญกาแฟกระป๋อง ที่ได้นำไปวางไว้ตามห้างสรรพสินค้า และสถานีรถขนส่งสาธารณะต่าง ๆ
ส่วนความหลากหลายในด้านผลิตภัณฑ์
มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่จับกลุ่มตลาดพรีเมียมให้มากขึ้น เช่น การออกผลิตภัณฑ์ UCC Black ที่เน้นการออกแบบที่ดูหรูหรา และรสชาติที่เข้มข้นมากขึ้น
5. ใส่ใจกับกลยุทธ์การบุกตลาด ทั้งกลุ่มผู้บริโภค (B2C) และกลุ่มร้านค้า (B2B) ในอัตราส่วนที่เท่ากัน
กลยุทธ์ธุรกิจแบบ B2B อย่างเช่น การเป็นพันธมิตรกับผู้ค้ากาแฟท้องถิ่น และจัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟนำเข้าจากญี่ปุ่น เข้าสู่ร้านกาแฟท้องถิ่น
กลยุทธ์ธุรกิจแบบ B2C อย่างเช่น การนำเข้ากาแฟกระป๋อง และจำหน่ายโดยตรงถึงมือผู้บริโภครายย่อย
รวมถึงการบุกตลาดรีเทล ที่ทุกห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อท้องถิ่น จะต้องมีกาแฟกระป๋องยี่ห้อ “UCC Coffee” วางขายอยู่บนชั้นวางสินค้า
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็พอจะเห็นภาพได้แล้วว่า
บริษัท UCC Ueshima Coffee มีความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟให้ครอบคลุม
ตั้งแต่การปลูกโดยมีแหล่งปลูกเป็นของตัวเองใน โรงงานคั่วกาแฟ ผลิตกาแฟสำเร็จรูป รวมถึงการพัฒนากาแฟพร้อมดื่มในระดับพรีเมียม
ซึ่งแบรนด์กาแฟ UCC Coffee นอกจากประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นแล้ว
โดยสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดกาแฟกระป๋องในประเทศ ได้มากกว่า 90%
ยังประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ตามที่ผู้ก่อตั้งอย่างคุณ Tadao Ueshima ใฝ่ฝันเอาไว้ อีกด้วย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.