กรณีศึกษา เพลงเชียร์บอลยูโรติดหู ของแบรนด์ Aerosoft

กรณีศึกษา เพลงเชียร์บอลยูโรติดหู ของแบรนด์ Aerosoft

14 มิ.ย. 2021
หากใครได้มีโอกาสฟังเพลง “เชียร์ยูโร Aerosoft 2020” ที่ร้องโดย คุณพลพล พลกองเส็ง
เชื่อได้เลยว่า เพลงจะต้องติดหูทุกคนอย่างแน่นอน
แต่ถ้าใครยังไม่เคยฟัง สามารถรับฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=n9S3pePjnCk
ซึ่งที่มาที่ไปของเพลง เชียร์บอลยูโร 2020 นี้
เกิดขึ้นจากการที่ บริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์รองเท้า “Aerosoft”
ได้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยุโรปของปี 2020 หรือที่เรียกว่า ยูโร 2020
มูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท และมอบให้ช่อง NBT ถ่ายทอดสดให้คนไทย ได้ดูกันแบบจุใจ
โดยเพลงโฆษณา “เชียร์ยูโร Aerosoft 2020” ทั้งเนื้อหาและทำนอง นอกจากจะทำออกมาให้ติดหูแล้ว
เนื้อเพลงยังสอดแทรกเรื่องของ การโปรโมตแบรนด์, คุณสมบัติของสินค้า, การเชียร์ฟุตบอล และการให้กำลังใจคนไทย เข้าด้วยกันได้อย่างแนบเนียน
ดั่งที่ปรากฎอยู่ในส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง
“ดูฟุตบอล ยูโร 2020 ดูชัด ๆ แบบถูกลิขสิทธิ์
แอโร่ซอฟต์ นั้นจัดให้
แอโร่ซอฟต์ รองเท้าแตะใส่นุ่มสบาย ขอเป็นกำลังใจ ให้คนไทยทั้งชาติ
เชียร์ยูโร แอโร่ซอฟต์
เชียร์ยูโร แอโร่ซอฟต์”
ทั้งนี้ ผลประกอบการของบริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด
ปี 2561 มีรายได้ 983 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 1,039 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ การทำเพลงเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ ที่ฟังทีไรก็ติดหูทุกทีนั้น ได้เกิดขึ้นในทุกยุค ทุกสมัย เช่น
-คุณจะทำอะไรจะไปที่ไหน (พกยูโรไว้)
-น้ำจิ้มมากับเจ้าไก่ จิ้มสักนิด อร่อยติดใจ ฉีกซองเห็นเป็นกุ๊กไก่ เคี้ยว ๆ ไปกลายเป็น "ไก่ย่างง"
-ข้าวแสนดี ดีดี๊ดี หุงง่าย ๆ ใส่น้ำคงที่
-นมตรามะลิ ใหม่และสด ทุกทุกหยด รสดีเสมอ นมตรามะลิ ใหม่สดเสมอ ขาว ข้น หวาน มันนนน
หากใครได้เผลอฟังเพลงเหล่านี้ ก็อาจจะเกิดอาการเพลงติดหู ไปทั้งวันก็เป็นได้
รู้หรือไม่ว่า อาการเพลงติดหูที่ว่านี้ มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Involuntary Musical Imagery (INMI) หรือชื่ออย่างไม่เป็นทางการ เรียกว่า Earworm คือ อาการของคนที่นึกถึงเนื้อเพลงนั้น ๆ วนเวียนอยู่ในหัวไปมา โดยเพลงที่ติดหูเรา ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเพลงที่เราชื่นชอบเสมอไปก็ได้
นอกจากนั้น มีการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Psychology of Aesthetics, Creativity and the Art ได้อธิบายไว้ว่า
ภาวะ Earworm มักเกิดจากการฟังเพลง ในลักษณะของแนวเพลงป็อป ที่มีจังหวะค่อนข้างเร็ว มีเมโลดีจำง่าย และมักจะมีเนื้อเพลงท่อนที่ร้องซ้ำ ๆ
ส่งผลให้สมองในส่วนการจดจำของเรา เก็บเอาเนื้อเพลงและทำนองที่ได้ยินซ้ำ ๆ นั้น มาคิดวนอยู่ในสมอง
อีกทั้ง อาการ Earworm สามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ในคนที่มีทักษะการจดจำที่ดี, มีอาการย้ำคิดย้ำทำ และเกิดขึ้นกับคนที่มีจิตใจอ่อนไหวง่าย
ซึ่งถ้าหากใครเกิดอาการเพลงติดหู ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะมีวิธีแก้เบื้องต้น ดังนี้
1) ให้ลองเคี้ยวหมากฝรั่ง
2) ร้องเพลงนั้นออกมาให้จบ
3) โทรศัพท์คุยกับเพื่อนหรือใครสักคน
4) เลี่ยงการฟังเพลงก่อนเข้านอน รวมถึงเลี่ยงการฟังเพลงเดิมซ้ำไปมา
ทั้งหมดนี้ คือสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น กับการทำ Music Marketing
เพียงใช้เนื้อเพลงง่าย ๆ เมโลดีไม่ต้องซับซ้อน
ก็สามารถทำให้เพลงติดหูคนฟังได้ทั้งวันทั้งคืน เหมือนอย่างเพลง “เชียร์ยูโร Aerosoft 2020” นี่เอง
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.