กรณีศึกษา 5G ไทยจะไปถึงฝันหรือไม่

กรณีศึกษา 5G ไทยจะไปถึงฝันหรือไม่

4 ต.ค. 2019
“เมื่อ กสทช. จัดคลื่นแล้วก็ต้องมีโอเปอเรเตอร์มาประมูลคลื่น ถ้าไม่มีใครมา 5G ก็ไม่เกิด
และในความตั้งใจของเราคือต้องการให้ 5G เกิดขึ้นปลายปี 2563”
พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการ กสทช. บอกถึงความกังวลใจ
เกี่ยวกับ 5G ในงานเสวนา “กระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน”
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ก็ต้องถามว่าเหตุผลใดที่ AIS, TRUE, DTAC
ถึงยังไม่ตัดสินใจประมูล 5G
รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันทั้ง 3 แบรนด์ยังไม่มีใครถึงจุดคุ้มทุนในการทำธุรกิจยุคสัญญาณ 4G เลย
และหากจะต้องให้ลงทุนครั้งใหม่อีกรอบสำหรับสัญญาณ 5G ทุกรายคงต้องคิดหนักไม่ใช่น้อย
เพราะการจะเริ่มธุรกิจใหม่อย่าง 5G นั้นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล
หากเทียบกับช่วง 3G เปลี่ยนมาเป็น 4G
ซึ่ง กสทช. ประเมินว่าทั้งการประมูลและการลงทุนโครงข่าย
ค่าใช้จ่ายของ โอเปอเรเตอร์ จะแตะหลักแสนล้านบาท
“ในเกาหลีใต้ที่เริ่มใช้ 5G มีประชากรเพียง 10% เท่านั้นที่เปลี่ยนมาใช้
เพราะพวกเขารู้สึกว่าแค่ความเร็ว 4G ก็เพียงพอ และไม่มีเหตุผลที่ต้องจ่ายเพิ่ม”
อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท
โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC
เล่าให้ฟังถึงโจทย์ใหญ่สุดของการตลาด 5G
โดยเธอกล่าวว่า หาก โอเปอเรเตอร์ ลงทุนไปมหาศาล แล้วลูกค้าไม่ตอบรับ
และค่ายผู้ผลิตมือถือยังไม่มี โทรศัพท์มือถือที่รองรับสัญญาณ 5G ที่ไล่ตั้งแต่รุ่นราคาถูกจนถึงราคาแพง
สุดท้าย โอเปอเรเตอร์ จะกลายเป็นคนที่โชคร้ายที่สุด เมื่อต้องแบกรับต้นทุนมหาศาลระยะยาว
ทีนี้เราลองหันมาถามตัวเองว่า ณ วันนี้ 4G ที่ความเร็ว 1Gbps ในมือถือเรา เพียงพอแล้วหรือยัง
ที่จะสามารถรับชม Content ต่างๆ ชอปออนไลน์, ไลฟ์สด, ทำธุรกรรมการเงิน, เล่นเกม และอื่นๆ
ในขณะที่ 5G มีความเร็วมากกว่า 4G ถึง 20 เท่า
ซึ่งจะทำให้สารพัดอย่างบนมือถือเรานั้น มีความรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิมเป็นสิบเท่า
หลายคนอาจตอบว่า จำเป็น บางคนอาจบอกว่า 4G ที่มีอยู่เพียงพอ
ไม่จำเป็นต้องเสียค่าบริการเพิ่มเพื่ออัปเกรดไปใช้ 5G
แต่ที่แน่ๆ อเล็กซานดรา ไรช์ บอกว่าถึงอย่างไรเมืองไทยก็ต้องมี 5G
เพราะจะช่วยให้พัฒนาประเทศไทยได้ในหลากหลายมิติ
แต่...ก็ขึ้นอยู่กับว่าราคาเริ่มต้นประมูล 5G ที่ 2,600 และ คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์และคลื่น อื่นๆ
จะเริ่มต้นที่ราคาเท่าไร ซึ่งราคาจะต้องทำให้คุ้มค่ากับการลงทุน
และหาก AIS, TRUE, DTAC ได้รับสิทธิชนะการประมูล 5G
จะมีการผ่อนผันในการชำระค่าใบอนุญาตในรูปแบบไหน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนก็คือ สมมติ DTAC เริ่มต้นทำธุรกิจ 5G
ก็ต้องลงทุนพัฒนาเครือข่ายด้วยเงินมหาศาล จะมีความเป็นไปได้ไหม
ที่จะขอทำธุรกิจไปก่อน 3-4 ปีจากนั้นค่อยมาผ่อนชำระค่าใบอนุญาต
เรื่องนี้จึงพอสรุปได้ว่า หากจะทำให้ 5G เกิดขึ้นจริงในช่วงปลายปี 2563
ทั้ง กสทช. ผู้จัดสรรคลื่นความถี่ กับบรรดา โอเปอเรเตอร์
ต้องหาจุดพบกันคนละครึ่งทาง
ปิดท้ายด้วยข้อมูลน่าสนใจ : ในยุค 5G จะทำให้เกิด Internet of Things (IoT) สมบูรณ์แบบ ที่สิ่งต่างๆ มากมาย
จะถูกเชื่อมโยงเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต และจะทำให้เราสามารถสั่งการและควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้
ผ่านมือถือ หรือเครื่องควบคุมเพียงเครื่องเดียว
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะทำให้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ใช้ระบบ IoT ควบคุมเครื่องจักร ระบบการจัดการต่างๆ
มากขึ้นกว่าเดิม และลดการใช้แรงงานคนให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.