กรณีศึกษา “วิถีใหม่” ของผู้บริโภค ที่กำลังส่งผลต่อผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม

กรณีศึกษา “วิถีใหม่” ของผู้บริโภค ที่กำลังส่งผลต่อผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม

18 พ.ย. 2021
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลก ถึงพร้อมใจกันชูกลยุทธ์เรื่องความยั่งยืน
โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว อย่างการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
หนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของเรื่องนี้ มาจากผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่ไม่ได้พอใจกับการซื้ออาหารหรือเครื่องดื่ม โดยดูจากรสชาติหรือราคาอีกต่อไป แต่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อเราและดีต่อโลก
ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว ก็สอดคล้องกับผลสำรวจ เต็ดตรา แพ้ค อินเด็กซ์ 2564 (Tetra Pak Index 2021) ที่มีการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ อินเดีย อังกฤษ ฯลฯ
จนพบว่า สถานการณ์โควิด 19 ไม่เพียงเป็น Game Changer ที่เข้ามาพลิกโฉมโลกทั้งใบ
แต่ยังผลักดันให้ผู้บริโภคก้าวสู่ “วิถีใหม่” เพื่อเป็น “ตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้น” (Better Me) โดยมุ่งใส่ใจในเรื่อง อาหาร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพมากขึ้นนั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ “วิถีใหม่” ที่ว่า ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ที่มาแล้วก็ไป แต่ต่อให้วิกฤติโควิด 19 คลี่คลายไปแล้ว ก็ยังจะคงอยู่ต่อไป
คำถามคือ แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ?
ต้องบอกก่อนว่า เหตุผลที่เต็ดตรา แพ้ค (Tetra Pak) ซึ่งเป็นผู้นำเสนอโซลูชั่นการแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก ที่ดำเนินธุรกิจมานานมากกว่า 60 ปี ปัจจุบันมีลูกค้าอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 50 แบรนด์ในประเทศไทย และอีกหลายร้อยแบรนด์ทั่วโลก เลือกใช้บรรจุภัณฑ์และโซลูชั่นของเต็ดตรา แพ้ค ให้ความสำคัญและเดินหน้าจัดทำ Tetra Pak Index เป็นประจำทุกปี จนต่อเนื่องมาถึงปีที่ 14 แล้ว
ก็เพื่ออัปเดตเทรนด์ของผู้บริโภค สำหรับนำมาต่อยอดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นพาร์ตเนอร์ของเต็ดตรา แพ้ค สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที หรือบางครั้งอาจจะก้าวนำเทรนด์ไปก่อนที่ผู้บริโภคจะรู้ตัวด้วยซ้ำว่าต้องการบรรจุภัณฑ์เช่นนี้
เพราะยิ่งผู้ผลิตตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลดีและสร้างแต้มต่อให้กับธุรกิจมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในยุคที่การแข่งขันค่อนข้างสูง
แล้วผลสำรวจจาก Tetra Pak Index 2021 มีเทรนด์อะไรที่น่าสนใจบ้าง ?
1. ความปลอดภัยของอาหาร
สถานการณ์โรคระบาด ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเพื่อพบปะผู้คนได้อิสระเหมือนเคย
นอกจากนิยามคำว่า “บ้าน” จะเปลี่ยนไปจากเคยเป็นที่พักผ่อนหลับนอน
กลายเป็นว่า “บ้าน” เป็นทุกอย่างของชีวิต เป็นทั้งที่ทำงาน ห้องเรียน ยิม ร้านอาหาร หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้า ที่ทุกคนสามารถช็อปออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา
ขณะเดียวกัน หลายคนเลือกกลับไปใช้ชีวิตธรรมดาในแบบเดิม ๆ (Back to Basics) ด้วยการทำอาหารเองที่บ้าน
เพราะนอกจากทุกวันนี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่เข้ามาช่วยให้การทำอาหารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น มีแหล่งซื้อวัตถุดิบสำเร็จรูปมากมายสำหรับใช้ปรุงอาหาร
ช่วยให้มั่นใจได้ว่า วัตถุดิบที่เลือกใช้นั้นสะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพ
แถมยังสามารถควบคุมปริมาณในการกินแต่ละมื้อให้เหมาะสม ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ และสามารถควบคุมรายจ่ายอีกเช่นกัน
ซึ่งจากการรายงานพบว่า 61% หันมาทำอาหารที่บ้านกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
ขณะที่อีก 55% บอกว่า มีความรอบคอบในการเลือกซื้ออาหารมากขึ้น เพราะไม่อยากให้มีอาหารเหลือทิ้งจนกลายเป็นการสร้างขยะอาหาร
2. สุขภาพ
ยังคงเป็นเทรนด์ที่มาแรงต่อเนื่องสำหรับเทรนด์การดูแลสุขภาพ ที่ปรับมาสู่การดูแลแบบเชิงรุก เน้นการป้องกันมากขึ้น
จากการสำรวจพบว่า 65% ของกลุ่มตัวอย่าง เชื่อว่า การมีสุขภาพดี หมายถึงความปลอดภัย
ขณะที่อีก 62% ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสิ่งที่พวกเขาเลือกรับประทาน นอกจากจะต้องดีต่อใจแล้วยังต้องดีต่อร่างกาย
ที่สำคัญ ถ้าจะเลือกกินของว่าง เพื่อเติมพลังในระหว่างวัน 44% ของผู้บริโภคจะมองหาของว่างแบบที่กินแล้วไม่รู้สึกผิด โดยเลือกสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ดังนั้น นี่จึงถือว่าเป็นโอกาสของผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหาร Real Food ที่มาจากธรรมชาติ, ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เทรนด์ Low Fat, Low Sugar, No Sugar ไปจนถึงอาหารที่ไขมันไม่สูง, กลุ่มอาหารทางเลือก สำหรับผู้แพ้อาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์นมจากธัญพืช รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มจากสมุนไพร เช่น ขิง ข่า กระชาย และฟ้าทะลายโจร
ดังจะเห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย มีการเติบโตสูงถึง 500%
3. สิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่คนในสังคมตระหนักมานานแล้ว
แต่อาจยังไม่ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง จนกระทั่งโควิด 19 เข้ามาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้เกิดกระแส “การบริโภคอย่างรับผิดชอบ”
จากการสำรวจพบว่า 49% ของกลุ่มตัวอย่าง เชื่อว่าทุกการตัดสินใจในชีวิตของเราในทุก ๆ วันล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่าง แค่เราใช้ช้อนหรือหลอดพลาสติกไม่กี่วินาที ก็อาจจะสร้างขยะที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลายหากไม่นำกลับไปรีไซเคิล
ดังนั้น เพื่อเป็นตัวเองที่ดีขึ้น ผู้บริโภคยุคนี้ จึงมองหาผู้ผลิตที่จริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
อย่างการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด
จากผลการสำรวจพบว่า 84% ของกลุ่มตัวอย่างจะพิจารณาถึงแบรนด์ที่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
ขณะที่ 50% ของกลุ่มตัวอย่าง มองว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่บรรจุภัณฑ์อาหารจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ส่วนอีก 61% คาดหวังให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มก้าวมาเป็นผู้นำในการหาแนวทางโซลูชันอันยั่งยืน
มาถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพแล้วว่า ทิศทางของผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นจากนี้จะเป็นอย่างไร..
ซึ่งคุณสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) มองว่านี่คือโอกาสที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มของไทย
เพราะแม้จะเป็นการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็จริง
แต่ในปีนี้ทางแบรนด์ ได้มีการนำ Tetra Pak Index 2021 มาเชื่อมโยงกับสิ่งที่สังเกตได้จากผู้บริโภคในไทย พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกอย่างชัดเจน
และถ้าถามว่า แล้วผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในไทยควรตั้งต้นจากตรงไหน แน่นอนว่ามีหลายทาง
แต่หนึ่งในวิธีที่ไม่ควรมองข้ามและทำได้ทันที คือ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
เพราะอย่าลืมว่า บรรจุภัณฑ์ เป็นเหมือนด่านแรกและหน้าตาของแบรนด์ที่ทำให้ผู้บริโภคมองและตัดสินใจว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์นั้นหรือไม่
ดังนั้น การที่แบรนด์เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ต่างกับการประกาศจุดยืนของแบรนด์ ซึ่งตรงกับสิ่งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองหาอยู่แล้ว
หรือถ้าจะให้ดี คุณสุภนัฐ แนะนำว่าแทนที่จะใช้ประโยชน์ของพื้นที่บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อบอกเล่าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อย่างเดียว
อาจจะลองเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมลงไป เช่น บรรจุภัณฑ์นี้ทำมาจากอะไร สามารถรีไซเคิลได้หรือไม่ วิธีทิ้งที่ถูกต้องคืออะไร เป็นต้น
นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค ไม่ต้องไปหาข้อมูลต่อเอง ยังสะท้อนถึงความจริงใจและตั้งใจของแบรนด์ที่จะช่วยดูแลโลกใบนี้อย่างจริงจัง
เพราะอย่าลืมว่า หนึ่งใน Key Success ของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ คือ การที่แบรนด์รู้ว่าลูกค้าของตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วพาแบรนด์ไปอยู่ตรงนั้น
ดังนั้น ในเมื่อวันนี้ ผลสำรวจก็ชี้ชัดแล้วว่า ผู้บริโภคกำลังมองหาแบรนด์ที่พร้อมผลิตสินค้ามีคุณภาพ และทำธุรกิจแบบแคร์โลก รับผิดชอบต่อสังคม
นั่นหมายความว่า ใครที่พร้อมจะเป็น First Mover ที่เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ได้ก่อนใคร
ก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้ใจผู้บริโภคเป็นแบรนด์แรก ๆ อย่างแน่นอน
สนใจอ่านรายงาน “เต็ดตรา แพ้ค อินเด็กซ์ 2564” (Tetra Pak Index 2021) ได้ที่ https://www.tetrapak.com/insights/tetra-pak-index/tetra-pak-index2021
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.