กรณีศึกษา OR กับโมเดลธุรกิจ สร้างโอกาสให้สังคม เพื่อการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

กรณีศึกษา OR กับโมเดลธุรกิจ สร้างโอกาสให้สังคม เพื่อการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

26 พ.ย. 2021
หลายคนอาจไม่รู้ว่า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
หรือที่เรารู้จักในชื่อ OR บริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 321,000 ล้านบาท
มีสูตรลับความสำเร็จทางธุรกิจอย่างหนึ่งก็คือ “การเติบโตร่วมกัน”
เพราะรู้หรือไม่ว่า สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น จำนวนกว่า 2,000 สาขา
และร้าน Café Amazon กว่า 3,400 สาขา 80% ของจำนวนสาขา
มีผู้ประกอบการดีลเลอร์และแฟรนไชส์เป็นเจ้าของ
จะเห็นว่าโมเดลธุรกิจนี้ก็คือ การสร้างและส่งต่อโอกาส ให้ผู้อื่นเข้ามาร่วมเติบโตไปกับพร้อม ๆ กับ OR
แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายก็คือ OR กลับไม่ได้คิดแค่คนที่อยู่ในวงจรธุรกิจอย่างเดียว
แต่กำลังมองว่าคนไทยทุกคน ต้องเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน
หรือที่เรียกว่า “Empowering All toward Inclusive Growth”
ซึ่งต้องบอกว่ามีไม่กี่บริษัทที่คิดเช่นนี้
ที่ต้องการให้ทุกคนจับมือ ร่วมสร้างโอกาส และสร้างการเติบโตไปพร้อม ๆ กัน
OR ได้จริงจังกับเรื่องนี้นับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ
ผ่านสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น Café Amazon รวมไปถึงบริษัทที่ OR ร่วมลงทุน เช่น พีเบอร์รี่ ไทย (Pacamara) ปลูกผักเพราะรักแม่ (โอ้กะจู๋) กลุ่มธุรกิจ Flash และ อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน (ONO Sushi) หรือการสร้าง ORBIT Digital และกองทุน ORZON Ventures
เริ่มต้นด้วย พีทีที สเตชั่น ที่มีสโลแกนติดหูคือ เติมเต็มทุกความสุข
ที่ภายในสถานีบริการจะมีร้านค้าต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจของ OR
และธุรกิจ SMEs ร้านค้าชุมชนจำนวนมากที่มาอยู่ในสถานีบริการ
ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก พร้อมกับสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
ต่อมาก็คือแบรนด์กาแฟที่มีสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลกอย่าง Café Amazon
ซึ่งใครจะไปคิดว่าแค่ร้านกาแฟเพียงแบรนด์เดียว แต่กำลังช่วยสร้างโอกาสให้ผู้คนได้มากมาย
หากใครเป็นแฟนคลับ Café Amazon คงเคยได้ยินสาขา Café Amazon for Chance
ที่มีจำนวน 14 สาขา ซึ่งบาริสต้าในสาขานี้จะเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสหลายรูปแบบ
โดยต้องผ่านการฝึกฝนอบรมนานถึง 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคน
ขณะที่บาริสต้าปกติใช้เวลา 1 เดือน
แน่นอนสิ่งที่บาริสต้าในสาขานี้จะได้รับทุกคน นั่นคือ ผลตอบแทนในเรื่องรายได้
แต่มันยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นซ่อนอยู่ นั่นคือ การพิสูจน์คุณค่าตัวเอง
ที่สามารถบอกให้คนที่พบเห็นและได้รับรู้ว่าความบกพร่องทางร่างกายหรือการที่เป็นผู้สูงวัย
ไม่ได้ทำให้พวกเขาแตกต่างจากคนทั่วไป
แล้วรู้หรือไม่ ใน 14 สาขาของ Café Amazon for Chance
จะมี 3 สาขาที่มีบาริสต้าเป็นผู้เกษียณอายุวัยเก๋า
ได้แก่ สาขากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สาขารัชดาภิเษก 17 และสาขาอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งผลลัพธ์ของ Café Amazon for Chance สาขาเหล่านี้ต้องบอกว่าดีเกินคาด
เมื่ออัตราการเปลี่ยนพนักงานของสาขาเฉลี่ยแค่ 5%
ขณะที่สาขาปกติค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 30%
ถือเป็นโมเดลที่เกิดประโยชน์ 2 ฝ่าย ผู้ด้อยโอกาสได้พิสูจน์คุณค่าตัวเอง
ส่วนทางฝั่ง Café Amazon ก็ลดจำนวนการฝึกอบรมพนักงานใหม่
อีกเรื่องคือ กาแฟทุกแก้วที่เราดื่มนั้น กำลังช่วยเหลือเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน
เพราะเมล็ดกาแฟทุกเม็ดของร้าน Café Amazon กว่า 3,400 สาขา
จะรับซื้อมาจากแหล่งปลูกกาแฟโดยเกษตรกรไทยจากแหล่งปลูกกาแฟที่มีคุณภาพทั่วประเทศ
อีกทั้งทาง Café Amazon ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาเกษตรกรผ่าน 2 โครงการ
โครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษณ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับโครงการหลวง และโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟโรบัสต้า
ซึ่งภาพรวมทั้งสองโครงการก็คือ นอกจากทาง Café Amazon
จะรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม
ที่ช่วยสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศแล้วนั้น
ทาง Café Amazon ก็ยังให้องค์ความรู้ในการปลูกกาแฟ
เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
จนถึงยังมีการลงทุนวิจัยพัฒนาการปลูกและผลิตกาแฟที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบยั่งยืน
จนถึงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีปลูกและผลิตกาแฟตามมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices)
ที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ส่วนความเคลื่อนไหวล่าสุดคือการจัดตั้งกองทุน ORZON Ventures
ซึ่งเป็นการร่วมมือกับกองทุน 500 TukTuks เพื่อลงทุนสนับสนุนธุรกิจ Start-up ของไทย
ซึ่งนอกจากเป็นการสร้าง New S-Curve ธุรกิจใหม่ ๆ ให้แก่ตัวเองแล้วนั้น
ก็ยังเป็นประตูแห่งโอกาสบานใหญ่ให้ Start-up เติบโต
ไปสู่บริษัทระดับมหาชน ก็มีความเป็นไปได้
ที่น่าสนใจ การร่วมธุรกิจกับ Start-up ก็อาจสร้างผลประโยชน์ Impact ไปในวงกว้าง
เหมือนอย่างที่ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด บริษัทในเครือ OR
ที่เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด หรือ “โอ้กะจู๋”
ธุรกิจที่มีจุดขาย Farm to Table ที่ผักสด สะอาด ใหม่ ส่งตรงจากฟาร์มที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์
แล้วรู้หรือไม่ว่า ผักต่าง ๆ ของโอ้กะจู๋ทั้ง 14 สาขานั้น
มาจากฟาร์ม ในอำเภอสันทราย ดอยสะเก็ด และสารภี จังหวัดเชียงใหม่
มีพื้นที่รวมกัน 200 กว่าไร่
และเมื่อมีผู้ถือหุ้นเป็น OR นอกจากการได้เงินทุนเพิ่มแล้วนั้น
ก็ยังหมายถึงช่องทางการขายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่องทางที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น กว่า 2,000 สาขา
ร้าน Café Amazon กว่า 3,400 สาขาทั่วประเทศ
โดยปัจจุบัน โอ้กะจู๋ แบบ Grab & Go ก็มีวางขาย ใน Café Amazon แล้ว 5 สาขา ในกรุงเทพฯ
และมีแผนขยายอย่างต่อเนื่องในอนาคต
นั่นแปลว่าร้าน โอ้กะจู๋ ก็จะขายดีขึ้นกว่าเดิม
ผลที่ตามมาจำนวนผักต่าง ๆ ก็ต้องใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ
แน่นอนว่าเกษตรกรผู้ปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ก็ย่อมจะมีรายได้เพิ่มขึ้น
เติบโตไปกับ OR และ โอ้กะจู๋ นั่นเอง
ซึ่งจริง ๆ แล้วโมเดลธุรกิจ สร้างโอกาสและส่งต่อโอกาสให้ผู้อื่น เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันของ OR
เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ใครหลายคนอาจมองข้าม
เพราะแท้จริงแล้ว ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ไม่มีใครที่จะเติบโตได้คนเดียว
โดยไม่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน
ต้นไม้ยังต้องพึ่งพาดินและน้ำ เพื่อเติบโต
มนุษย์เองก็ต้องพึ่งพามนุษย์ด้วยกันเองและสิ่งแวดล้อม
OR เองก็เชื่อว่า ธุรกิจที่เติบโตมาถึงวันนี้ จนถึงก้าวไปสู่บริษัทที่ยั่งยืนในอนาคต
ก็ต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กับสังคมชุมชน
Reference:
-เอกสารข้อมูล และข่าวประชาสัมพันธ์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จํากัด (มหาชน)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.