กรณีศึกษา ทำไมการขายพวงมาลัย แถวสี่แยกไฟแดง อาจไม่เวิร์กอีกต่อไป..

กรณีศึกษา ทำไมการขายพวงมาลัย แถวสี่แยกไฟแดง อาจไม่เวิร์กอีกต่อไป..

25 มิ.ย. 2022
ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 20 (1) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดปรุงอาหาร ขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือในสถานสาธารณะ
หากฝ่าฝืน ผู้ซื้อจะโดนโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และผู้ขายจะโดนโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ดังนั้น การขายของบนถนนจึงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายทั้งคนซื้อและคนขาย
แต่ถ้าไม่พูดถึงมุมของกฎหมาย แล้วมาลองวิเคราะห์ในมุมของตัวสินค้า และการตลาด
เช่น พวงมาลัย โดนัท กล้วยแขก หรือนมเปรี้ยว ที่นิยมเร่ขายกันตามสี่แยกไฟแดง มาตั้งแต่อดีต
ว่าทำไมถึงอาจไม่ค่อยเวิร์กในยุคปัจจุบัน.. ซึ่งจะพบว่า
1) พวงมาลัย มีความต้องการลดลง จากประชากรไทยที่ “ไม่นับถือศาสนา” เพิ่มจำนวนมากขึ้น
สาเหตุเกิดจากกลุ่มประชากรที่ “ไม่นับถือศาสนา” มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วยเช่นกัน
ซึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานหลายปีแล้ว และนับวันก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อมูลผลสำรวจจาก Pew Research Center (องค์กรที่วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางศาสนา และผลกระทบต่อสังคมทั่วโลก) เคยเผยแพร่ข้อมูลในปี 2012-2015 โดยระบุว่า มีผู้คนมากกว่า 1.2 พันล้านคนทั่วโลก ชี้ว่าตนเอง “ไม่มีศาสนา” หรือคิดเป็น 1:6 เมื่อเทียบกับประชากรโลกทั้งหมดที่มี 7.3 พันล้านคน
อีกทั้งยังได้มีการนำตัวเลขดังกล่าว มาคาดการณ์ตัวเลขจำนวนประชากรของแต่ละประเทศที่ไม่นับถือศาสนา ในปี 2020 เช่น
- จีน มีคนไม่นับถือศาสนา 720 ล้านคน
- ญี่ปุ่น มีคนไม่นับถือศาสนา 74 ล้านคน
- สหรัฐอเมริกา มีคนไม่นับถือศาสนา 62 ล้านคน
- เวียดนาม มีคนไม่นับถือศาสนา 28 ล้านคน
- เกาหลีใต้ มีคนไม่นับถือศาสนา 23 ล้านคน
นอกจากนั้น จากการสำรวจใน 106 ประเทศ ยังพบว่า คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกลุ่มศาสนาน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญใน 41 ประเทศ
รวมถึงกลุ่มลูกค้าบางคน ก็ไม่ได้ชอบกลิ่นของพวงมาลัย และซื้อน้ำหอมปรับอากาศรถยนต์มาใช้แทน เพราะตอบโจทย์ในเรื่องของความหอมมากกว่า
2) คนใส่ใจในเรื่องสุขอนามัย (Hygiene) มากขึ้น หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด 19
ดังนั้น กลุ่มสินค้าที่อยู่ในหมวดอาหาร ที่ขายตามสี่แยกไฟแดง เช่น โดนัท กล้วยแขก หรือนมเปรี้ยว จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล เพราะไม่รู้ที่มาของสินค้าว่ามาจากไหน และมีกรรมวิธีในการผลิตที่สะอาดมากน้อยเพียงใด หากจะต้องซื้อมาบริโภค
ประกอบกับ แม้ว่าในอดีต บางสินค้าจะได้รับความนิยมและขายดี
แต่เมื่อยุคสมัยและเจเนอเรชันเปลี่ยนไป จึงไม่ได้รับประกันว่าสินค้าเหล่านั้น จะยัง “ขายได้ดี” เหมือนเดิมนั่นเอง
แล้วสินค้าอะไร ที่น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และขายดี ตามสี่แยกไฟแดงบ้าง ?
อย่างแรกคือ เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ เพราะมั่นใจได้ในความสะอาด
ความต้องการเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์มีเพิ่มมากขึ้น หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว หล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรม หรือวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่ทุกคนใส่ใจในเรื่องสุขอนามัย (Hygiene) มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้งานเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ก็มีความถี่เพิ่มขึ้น เช่น
- ฉีดล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
- ฉีดล้างมือหลังจากรับบัตรจอดรถ หรือรับเงินทอนจากทางด่วน
- ฉีดที่นั่งก่อนนั่งบน BTS หรือ MRT
- ฉีดล้างมือหลังจากซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า
ดังนั้น สินค้าอย่างเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ จึงยังคงเป็นสินค้าที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง แม้การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะเบาบางลงแล้วก็ตาม
นอกจากนั้น ก็ยังมีสินค้าประเภทอื่นที่น่าจะขายดีตามสี่แยกไฟแดง เพราะเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป เช่น
- น้ำหอม หรือถุงหอมปรับอากาศรถยนต์ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลากหลาย
- ผ้าเย็น เจาะกลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์ เพราะอากาศประเทศไทยร้อนเกือบตลอดทั้งปี
- ทิชชู ทั้งแบบแห้งและแบบเปียก เพราะมีความต้องการใช้ทุกวัน ในหลาย ๆ สถานการณ์
ทั้งนี้ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของสินค้าที่น่าจะขายดีตามสี่แยกไฟแดง เป็นเพียงมุมมองที่มีต่อตัวสินค้าเท่านั้น ส่วนในเรื่องของความถูกต้อง ก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และหลักปฏิบัติที่ควรจะเป็น
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจอะไร การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
และพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เป็นสิ่งที่ต้องศึกษา สังเกต และต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้
เพราะสินค้าและบริการจะขายได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ถูกที่ ถูกเวลา และมีปริมาณความต้องการ หรือจำนวนคนที่จะซื้อ มากพอนั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.