วิเคราะห์ ทุกฟีเชอร์ใน Instagram ที่อยากจะเป็น TikTok เวอร์ชัน 2

วิเคราะห์ ทุกฟีเชอร์ใน Instagram ที่อยากจะเป็น TikTok เวอร์ชัน 2

26 ก.ค. 2022
จากข่าวเมื่อไม่นานมานี้ที่ Instagram ได้ประกาศถึงแผนการอัปเดตแพลตฟอร์ม ที่ดูเหมือนว่า Instagram กำลังจะผลักดันให้ Reels ขึ้นมาสู้กับ TikTok โดยตรงมากขึ้น
โดยส่วนหนึ่งของการอัปเดตคือ Instagram จะบังคับให้วิดีโอทั้งหมด ที่มีความยาวน้อยกว่า 15 นาที บนแพลตฟอร์ม จะต้องถูกแชร์เป็น Reels ทั้งหมด
รวมถึงการเพิ่มฟีเชอร์ที่จะเอื้อให้ผู้ใช้งานทั่วไปที่ไม่ใช่ครีเอเตอร์ สามารถสร้าง Reels ของตัวเองได้ง่ายขึ้นมาก เช่น ฟีเชอร์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสร้าง Reels ของตัวเองได้แบบง่าย ๆ โดยใช้เทมเพลตของคนอื่น
แล้วถ้าในฝั่งเรา ที่เป็นผู้ใช้งาน เราคิดว่าฟีเชอร์ Reels ใน Instagram กับ TikTok ต่างกันอย่างไร ?
และระหว่าง Instagram หรือ TikTok แพลตฟอร์มไหน ตอบโจทย์เรามากกว่ากัน ?
ประเด็นนี้น่าสนใจตรงที่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นสัญชาติจีน โดยมีบริษัทแม่ก็คือ ByteDance
ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ Instagram ถูกซื้อกิจการต่อโดย Facebook นั่นเอง
แม้ว่า TikTok จะเปิดตัวในปี 2017 ซึ่งตามหลัง Instagram ที่เปิดตัวเมื่อปี 2010 อยู่หลายปี..
แต่ดูเหมือนว่าความแข็งแกร่งในด้านระบบ AI ของ TikTok จะทำให้แพลตฟอร์มได้รับความนิยมจากทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และจำนวนผู้ใช้งานของ TikTok ก็กำลังไล่บี้ Instagram มาติด ๆ
ข้อมูลจาก Global Social Media ระบุว่า จำนวนผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปี 2022 ของ TikTok อยู่ที่ 1 พันล้านราย ส่วนของ Instagram อยู่ที่ 1.5 พันล้านราย
จริง ๆ นอกจากตัวเลขยอดจำนวนผู้ใช้งานแล้ว
หากต้องการดูว่า แพลตฟอร์มไหนแข็งแกร่ง หรือมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่ากัน
เราคงต้องมาวิเคราะห์ที่ตัวฟีเชอร์หลัก ๆ อันเป็นหัวใจสำคัญของแพลตฟอร์มนั้น ๆ
ซึ่งในบทความนี้จะเจาะถึงฟีเชอร์ของ Instagram ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่กำลังถูกพัฒนาต่อยอด เพื่อต่อกรกับ TikTok โดยเฉพาะ
ว่าแต่ละฟีเชอร์ มีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วพอจะสู้กับ TikTok ได้หรือไม่
โดยสิ่งที่ Instagram มี คือ..
1) Reels
ฟีเชอร์ที่ Instagram พยายามผลักดันอย่างสุดชีวิต เพื่อต่อกรกับ TikTok
โดยลักษณะของ Reels จะเป็นคลิปวิดีโอสั้น ความยาวตั้งแต่ 15, 30, 60 และ 90 วินาที
แม้ Reels จะเป็นฟีเชอร์วิดีโอสั้นเหมือนของ TikTok
แต่ที่น่าสนใจคือ ความต่างระหว่าง Reels กับ TikTok คือ ในแง่ของเนื้อหา (Content) และผู้ใช้งาน (User) เพราะ
- ผู้ใช้งาน TikTok จะนิยมสร้างคอนเทนต์ที่มีความสมจริง เน้นไอเดียที่มีความสนุกสนาน และเข้าถึงได้ง่ายเป็นหลัก
- ส่วนผู้ใช้งาน Instagram ส่วนใหญ่ จะนิยมสร้างคอนเทนต์ที่มีความประณีต พิถีพิถัน เน้นไอเดียและภาพลักษณ์ที่ดูดีเป็นหลัก
(ทั้งนี้ ไม่นับคอนเทนต์วิดีโอ ที่ถูกรีไซเคิลมาจาก TikTok)
2) Stories
ฟีเชอร์จุดขายของ Instagram ที่เปรียบเหมือนการอัปเดตชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน (Personal Life) ว่ากำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน หรือคิดอะไรอยู่ ?
โดยลักษณะของ Stories จะเป็นคลิปหรือภาพที่มีความยาวสั้น ๆ เพียง 15 วินาที โดยหากเป็นวิดีโอ จะสามารถลงต่อกันได้สูงสุด 1 นาที
หากเปรียบ Stories เป็นเหมือนการอัปเดตชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน (Personal Life)
Reels ก็เปรียบเหมือนการประชันไอเดียบนสาธารณะ (Public Show) นั่นเอง
เพราะการจะสร้าง Reels ออกมาสัก 1 คอนเทนต์ จะต้องใช้ทักษะด้านการตัดต่อและเรื่องราวที่เป็น Storytelling มากกว่า
3) IGTV
ฟีเชอร์ที่ Instagram สร้างขึ้นมาเพื่อต่อกรกับ YouTube ที่มีบริษัทแม่คือ Google
โดยลักษณะของ IGTV จะเป็นวิดีโอความยาวสูงสุด 1 ชั่วโมง
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟีเชอร์ ที่เข้ามาเพิ่มความหลากหลายให้กับครีเอเตอร์และผู้ใช้งาน
4) Instagram Feed
เป็นฟีเชอร์จุดแข็งดั้งเดิมของ Instagram
โดยลักษณะของ Instagram Feed สามารถลงรูปภาพ และวิดีโอความยาวไม่เกิน 1 นาทีได้
5) Live
นอกเหนือจากการสร้างคอนเทนต์ที่ต้องมีความประณีต พิถีพิถัน เน้นไอเดียและภาพลักษณ์ที่ดูดีแล้ว
Instagram ก็มีฟีเชอร์ “ไลฟ์สด” เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถไลฟ์เพื่อพูดคุยกับผู้ติดตามได้
หรือแม้แต่การไลฟ์ร่วมกันกับเพื่อนใน Instagram เพื่อให้เกิดคอนเทนต์การพูดคุยแบบใหม่
ที่ช่วยดึงดูดให้เหล่าผู้ติดตามเข้ามาร่วมสนุกกับนักสร้างคอนเทนต์ได้อีกด้วย
จากทั้งหมดจะเห็นว่า Instagram พยายามแตกไลน์ฟีเชอร์ของตัวเอง โดยเป็นการนำจุดแข็งของคู่แข่ง เช่น วิดีโอสั้นของ TikTok มาสร้างเป็นฟีเชอร์ Reels ในแพลตฟอร์มของตัวเอง
รวมถึงพัฒนาฟีเชอร์นี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดให้บรรดาครีเอเตอร์ ทั้งจาก TikTok และแพลตฟอร์มอื่น ๆ หันมาสร้างสรรค์คอนเทนต์บน Reels กันมากขึ้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่า Instagram จะทำได้ฝ่ายเดียว
เพราะ TikTok ก็ได้สร้าง Feed รูปภาพ และ Stories เป็นของตัวเองไปแล้วเช่นกัน..
เพื่อเพิ่มตัวเลือกอื่นให้ครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์มใช้สำหรับสร้างคอนเทนต์
รวมถึงติดอาวุธตอบโต้แพลตฟอร์มคู่แข่ง ที่พยายามเลียนแบบฟีเชอร์วิดีโอสั้นของตัวเอง
หรือการไลฟ์ของ TikTok ก็มีฟีเชอร์ในการขายของเข้ามา
ทำให้คนในแอปพลิเคชันนิยมไลฟ์เพื่อขายสินค้า ซึ่งต่างจาก Instagram ที่เน้นการพูดคุยกันมากกว่า
สรุปแล้ว สงครามโซเชียลมีเดีย ดูเหมือนว่าจะไม่จบลงง่าย ๆ
เพราะเป้าหมายในฝั่งของแพลตฟอร์ม ก็คือการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด และดึงเวลาของผู้ใช้งานให้อยู่บนแพลตฟอร์มให้ได้นานที่สุด
ส่วนผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ก็ต้องบริหารจัดการเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียให้ดี เพราะมิเช่นนั้น เราอาจตกเป็น “ทาส” ของระบบ AI เหล่านี้ก็เป็นได้
สุดท้าย หากจะให้ฟันธงว่า ระหว่าง Instagram หรือ TikTok แพลตฟอร์มไหน “ใช่” สำหรับผู้ใช้งานมากกว่ากัน
ก็อาจจะตอบแบบเหมารวมไม่ได้ เพราะถึงแม้ทั้งสองแพลตฟอร์มจะมีฟีเชอร์ที่คล้าย ๆ กัน ทั้งวิดีโอสั้น, Feed รูปภาพ และ Stories
แต่ในรายละเอียดเชิงลึก ทั้งกลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้งาน, วัตถุประสงค์การใช้งาน, แนวทางการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ฯลฯ
กลับอาจมีความแตกต่างกันไปบ้าง..
ซึ่งสังเกตได้ว่า ก็มีบางคนที่เล่น TikTok แต่ไม่เล่น Instagram
หรือคนที่เล่นแต่ Instagram แต่ไม่เล่น TikTok อยู่รอบตัวเรานั่นเอง..
อย่างไรก็ตาม ตรงจุดนี้เองก็มีเรื่องที่น่ากังวล
หาก Instagram ยังพยายามเดินหน้าบนเส้นทางที่จะอยากเป็น TikTok เวอร์ชัน 2 เต็มตัว
แล้วทิ้งจุดแข็งเดิมของแพลตฟอร์มไป
หรือ ไม่สามารถหาจุดเด่นใหม่ที่แตกต่าง ให้กับแพลตฟอร์มได้
ก็อาจทำให้สูญเสียฐานผู้ใช้งานเดิมที่หลงรัก Instagram บางส่วนไป
เพราะฐานผู้ใช้งาน Instagram หลายคน
ที่เข้าแอปฯ Instagram ก็เพราะอยากดูรูปภาพของคนที่พวกเขาติดตาม หรือ Stories ของเพื่อน ๆ
ซึ่งพวกเขาอาจไม่ได้อยากดูวิดีโอ หรือโพสต์ของใครที่ไม่รู้จัก แต่อัลกอริทึม ยัดเยียดมาให้..
อ้างอิง :
-https://www.smartinsInstagramhts.com/social-media-marketing/social-media-strategy/new-global-social-media-research/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.