กรณีศึกษา ตู้บุญเติม เสือนอนกิน ก็ยังต้อง “ปรับตัว”

กรณีศึกษา ตู้บุญเติม เสือนอนกิน ก็ยังต้อง “ปรับตัว”

3 ม.ค. 2020
นับตั้งแต่เราสามารถเติมเงิน AIS DTAC TRUE ผ่าน App Mobile Banking โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และยังเติมเงินได้ทุกเวลาที่ต้องการ
ก็ทำให้น่าคิดเหมือนกันว่า ตู้บุญเติม ที่เคยเป็น เสือนอนกิน เก็บค่าธรรมเนียมการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ
กำลังจะกลายเป็น “เสือลำบาก”
เพราะ “ตู้บุญเติม” ไม่ใช่ต้องเจอคู่แข่งทางอ้อมอย่าง App Mobile Banking เพียงอย่างเดียว
แต่ยังต้องเจอคู่แข่งทางตรงอย่าง “ตู้เติมเงิน” ของ TRUE
ที่ยังมาวางข้างๆ ตู้ตัวเอง หน้าร้าน 7-Eleven ซึ่งเป็นทำเลหลักของ ตู้บุญเติม เช่นกัน
ดูเหมือน ตู้บุญเติม กำลังเจอศึกหนัก
ปี 2560 มูลค่าเติมเงินผ่าน ตู้บุญเติม อยู่ที่ 36,175 ล้านบาท
คิดเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมที่บริษัทได้รับ 3,105 ล้านบาท
ปี 2561 มูลค่าเติมเงิน ตู้บุญเติม อยู่ที่ 41,980 ล้านบาท
คิดเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมที่บริษัทได้รับ 3,339 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ช่วงปี 2561 มูลค่าเติมเงินยังเติบโตดี
แต่พอมาปี 2562 การเติมเงินผ่านตู้บุญเติมก็เริ่มชะลออย่างเห็นได้ชัด
โดยไตรมาส 3 ปี 2562 ตู้บุญเติมมีมูลค่าเติมเงิน 9,943 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2561 ตู้บุญเติมมีมูลค่าเติมเงิน 10,506 ล้านบาท
อีกความเสี่ยงหนึ่งก็คือ ตอนนี้มีการแข่งขันโปรโมชันของบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ
ซึ่งพยายามเปลี่ยนให้ลูกค้าจากระบบเติมเงินที่เป็นตลาดใหญ่มากกว่า 80% หันมาใช้บริการรายเดือนแทน
และความเสี่ยงสุดท้ายก็คือ พลังซื้อของผู้บริโภคระดับกลางและล่างลดน้อยลงจากเศรษฐกิจที่ถดถอย
บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เจ้าของ “ตู้บุญเติม”
ก็รู้ดีว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ท้ายสุดแล้วตัวเองจะไม่มีที่ยืน และอาจหมดลมหายใจในธุรกิจไปในที่สุด
ทำให้ที่ผ่านมา ตู้บุญเติม จึงพยายามเป็นมากกว่า “ตู้เติมเงินมือถือ” ด้วยบริการใหม่ๆ ที่ถูกใส่เข้ามาในตู้
เช่น เติมเงินเกม - โอนเงิน - จ่ายบิล - เสียค่าปรับต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย
กลวิธีนี้ก็เพื่อเพิ่มความถี่การใช้บริการของลูกค้า 1 คน
เพราะจากในอดีตลูกค้า 1 คนจะใช้บริการแค่เติมเงินมือถือเพียงอย่างเดียว
แต่.. วันนี้ ลูกค้า 1 คนอาจใช้บริการผ่านตู้บุญเติม 3 - 4 อย่าง
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้จำนวนลูกค้าเติมเงินมือถือจะลดน้อยลง
จากสิ้นปี 2561 ลูกค้าที่เติมเงินผ่านตู้บุญเติม 25 ล้านเลขหมาย ลดลงจนเหลือ 21 ล้านเลขหมาย ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ปี 2562
แต่เมื่อจำนวนความถี่ในการเติมเงินมากขึ้น ซึ่งมาจากบริการใหม่ๆ
ก็สามารถสร้างรายได้ทดแทนจำนวนลูกค้าเติมเงินมือที่สูญหายไปได้บ้าง
แต่.. ก็น่าคิดว่าวิธีนี้เป็นแค่การ “ปรับตัว” ไปตามจังหวะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ “เปลี่ยนไป”
อาจจะยังไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ธุรกิจ “ตู้เติมเงิน” เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคที่เทคโนโลยีกำลัง DISRUPT ทุกอย่างที่ขวางหน้าแบบทุกวันนี้
Reference
รายงานประจำปี 2561
คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2562
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.