เซ็นทรัล ปั้น 8 แบรนด์ร้านอาหาร ที่ไม่มีหน้าร้าน โดยใช้ Virtual Brand

เซ็นทรัล ปั้น 8 แบรนด์ร้านอาหาร ที่ไม่มีหน้าร้าน โดยใช้ Virtual Brand

22 ก.ย. 2022
บุกชน ข้าวมันไก่เกาหลี, โจว ข้าวต้มแห้ง, คลั่งกะเพรา, ท่าจะแซ่บ ก๋วยเตี๋ยวเรือ, Mama Fried Rice, Seoul Daebak!, Tokyo Bowl และ คาโคมิ
รู้ไหมว่า แบรนด์อาหารเหล่านี้ เป็นแบรนด์ที่อยู่ภายใต้บริษัทอะไร ?
เมื่อฟังแล้วหลายคนอาจแปลกใจ เพราะเจ้าของแบรนด์เหล่านี้ก็คือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG ของเครือเซ็นทรัลนั่นเอง
ที่บอกเป็นเรื่องน่าแปลกใจ ก็เพราะว่า โดยปกติแล้ว CRG เป็นผู้ได้รับสิทธิ์บริหารแฟรนไชส์ราว 20 แบรนด์ เช่น KFC, Mister Donut, Auntie Anne's และ Pepper Lunch ซึ่งมีสาขารวมกันมากกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ
และ CRG ยังขึ้นชื่อในเรื่องของการ “เข้าซื้อ” แบรนด์ร้านอาหารต่าง ๆ มาเสริมพอร์ต
อย่างในปีนี้ CRG เพิ่งเข้าลงทุนกว่า 520 ล้านบาท ในบริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด (TFSG) ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ Shinkanzen Sushi และ Senma Sushi ด้วย
เท่ากับว่า ตลอดการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา CRG แทบไม่เคยปั้นแบรนด์อาหารเป็นของตัวเองเลย..
อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ CRG ได้หันมาขยายพอร์ตธุรกิจอาหาร ด้วยการปั้นแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งนั่นก็คือ 8 แบรนด์ที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง..
แล้ว 8 แบรนด์อาหารที่ CRG ปั้นขึ้นมาเอง น่าสนใจอย่างไร ?
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คำว่า “Virtual” หรือที่แปลว่า เสมือน
เป็นหนึ่งในคำที่ถูกใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะทั้งในวงการเทคโนโลยี หรือการตลาดเองก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น Virtual Reality, Virtual Influencer หรือ Virtual Event
ส่วนในการทำธุรกิจ ก็ยังมีอีกหนึ่งคำ นั่นก็คือ “Virtual Brand”
หมายถึง การปั้นแบรนด์แบบที่ไม่มีหน้าร้าน ไม่มีที่ให้นั่งรับประทาน
แต่อาศัยการทำอาหาร ในครัวที่ใช้ร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Cloud Kitchen
แล้วเสิร์ฟถึงมือลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มดิลิเวอรี เสมือนเป็นสาขาหนึ่งของแบรนด์
รูปแบบการสร้างแบรนด์แบบ Virtual Brand แม้ว่าจะมีมานานแล้ว
แต่เพิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ประกอบกับแพลตฟอร์มดิลิเวอรีเติบโตขึ้น
ซึ่งกลยุทธ์ Virtual Brand นี้เอง ที่ CRG เลือกหยิบมาใช้กับการสร้างแบรนด์อาหารของตัวเอง..
ปัจจุบัน CRG มี Cloud Kitchen หรือครัวที่ใช้ร่วมกัน ราว 11 สาขา
นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้ครัวของร้านอาหารอื่น ๆ ในเครือด้วย
เช่น Tokyo Bowl แบรนด์ข้าวหน้าสไตล์ญี่ปุ่น จะใช้ครัวของร้านอร่อยดี
คาโคมิ แบรนด์ข้าวกล่องสไตล์ญี่ปุ่น เป็นแบรนด์ลูกของโอโตยะ จึงใช้ครัวของร้านโอโตยะด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วทำไม CRG ต้องปั้นแบรนด์อาหารของตัวเอง ในเมื่อพอร์ตธุรกิจอาหารในมือก็มีมากมายอยู่แล้ว ?
เรื่องนี้ต้องบอกว่า เมื่อ CRG เป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจอาหาร ที่มีจุดแข็งคือ มีความเชี่ยวชาญ รู้อินไซต์ความต้องการของผู้บริโภค หรือรู้ว่าในตลาดอาหาร ยังขาดอาหารแบบไหนบ้าง
ตรงจุดนี้เองที่ CRG สามารถหยิบจุดแข็งมาใช้ในการสร้างแบรนด์ของตัวเอง และเติมเต็มช่องว่างที่มีอยู่ในตลาดได้
เช่น เมื่อรู้ว่าช่วงหลายปีมานี้ เทรนด์อาหารเกาหลีกำลังมาแรง
จึงเลือกปั้นแบรนด์อาหารเกาหลี อย่าง Seoul Daebak!
รวมถึงปั้นแบรนด์ข้าวมันไก่อย่าง บุกชน ข้าวมันไก่ ที่มีความพิเศษเป็นไก่ทอดสไตล์เกาหลี และทานคู่กับกิมจิ
หรือเมื่อรู้ว่า อาหารสตรีตฟูดอย่าง ผัดกะเพรา เป็นหนึ่งในเมนูยอดฮิตบนแพลตฟอร์มดิลิเวอรี
จึงเลือกปั้นแบรนด์ คลั่งกะเพรา ที่มีรสชาติจัดจ้าน และมีสูตรเด็ดเฉพาะตัว
นอกจากนี้แล้ว การปั้นแบรนด์ใหม่ ที่ทำแบบ Virtual Brand ก็ยังมีแต่ข้อดี เช่น
- มีต้นทุนต่ำกว่าการเปิดหน้าร้าน
เรียกว่าเป็นข้อดีหลัก ๆ ของการปั้นแบรนด์แบบ Virtual Brand
จากเดิม การสร้างแบรนด์ที่มีหน้าร้านให้นั่งรับประทาน ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
ทั้งค่าเช่าสถานที่ ค่าตกแต่งร้าน ค่าอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารสำหรับใช้รับประทาน และค่าพนักงาน
กลับกัน การสร้าง Virtual Brand ในกรณีที่ใช้ Cloud Kitchen แม้ว่าอาจจะต้องเสียค่าเช่าสถานที่
แต่ก็สามารถลดต้นทุนได้หลายส่วน ทั้งค่าตกแต่งร้าน ค่าอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร รวมถึงค่าพนักงาน ที่ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานต้อนรับ
ส่วนบางร้าน เช่น Tokyo Bowl และคาโคมิ ที่ CRG ใช้หน้าร้านและครัวของร้านในเครือ
ก็เรียกว่า แทบจะมีต้นทุนน้อยมาก เพราะนอกจากสามารถใช้ร่วมกันทั้งหน้าร้านและครัวแล้ว
ก็ยังสามารถใช้พนักงานของร้านเดิม อีกทั้งมีวัตถุดิบที่พร้อมใช้อยู่แล้วด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าการวางขายผ่านแพลตฟอร์มดิลิเวอรี อาจถูกหักค่า GP
แต่เมื่อเทียบกันแล้ว ก็ยังอาจมีต้นทุนถูกกว่าการสร้างหน้าร้านใหม่อยู่ดี
- ทดสอบตลาด เพื่อขยายแบรนด์สู่หน้าร้านในอนาคต
ในการปั้นแบรนด์ หรือจะวางขายสินค้าใด ๆ ก็ตาม หากมีความมั่นใจว่า สินค้านั้น ๆ จะได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า ก็สามารถวางขายได้เลย
ทั้งนี้ หมายความว่า ผู้ผลิตก็ต้องรับความเสี่ยงให้ได้ ในกรณีที่ผลตอบรับไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง
หลาย ๆ ครั้ง แบรนด์ต่าง ๆ จึงต้องมีการทดสอบตลาดก่อน ง่าย ๆ ก็อาจจะแค่การสอบถามข้อมูลผ่านทางออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจ ไปจนถึงวางขายสินค้าในจำนวนน้อย ๆ ก่อน
เพื่อสำรวจว่า สินค้าของเรา มีความต้องการในตลาดอยู่จริงไหม
อย่างกรณีของ CRG ที่ปั้นแบรนด์อาหารแบบไม่มีหน้าร้านก็เช่นกัน
นอกจากช่วยสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคให้กับแบรนด์ก่อนในระยะเริ่มต้นแล้ว ยังนับว่าเป็นการทดสอบตลาดอย่างหนึ่ง
เพราะจะได้รู้ว่า แบรนด์ไหนบ้างที่มีผลตอบรับดี แบรนด์ไหนบ้างที่ต้องปรับปรุง
เมื่อได้ข้อมูลตรงนี้แล้ว CRG ก็จะรู้ได้ว่า จากแบรนด์อาหารทั้ง 8 แบรนด์เหล่านี้
มีแบรนด์ไหนที่สามารถ “พัฒนาไปเปิดเป็นหน้าร้านสาขา” ยกระดับจากเพียงแค่ออนไลน์ สู่ออฟไลน์ได้
ซึ่ง CRG ยังตั้งเป้าด้วยว่า จะขยายสู่โมเดลแฟรนไชส์ ที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทมากขึ้นด้วย
ส่วนแบรนด์ไหนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพียงแค่เลิกทำแบรนด์นั้น ๆ
แล้วปั้นแบรนด์ใหม่ ๆ ขึ้นมาแทน โดยที่ใช้ครัวเดิม พนักงานเดิม ซึ่งก็ไม่ต้องเสียค่าตกแต่งร้านใหม่แต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้ ก็คือกลยุทธ์ของ CRG ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเข้าซื้อกิจการ เพื่อใช้ในการสร้างแบรนด์อาหารของตัวเอง
และจริง ๆ แล้ว กลยุทธ์ Virtual Brand ก็ไม่ได้ใช้ได้กับแค่แบรนด์ยักษ์ใหญ่เท่านั้น
เคยสังเกตไหมว่า ปัจจุบันก็มีหลาย ๆ ร้าน ที่ไม่มีหน้าร้านให้นั่งรับประทาน
แต่อาศัยการทำอาหารในบ้านพัก หรือคอนโดมิเนียม
แล้ววางขาย-จัดส่งผ่านแพลตฟอร์มดิลิเวอรี หรือที่เรียกว่า Ghost Kitchen เช่นกัน
ดังนั้น ก็พอจะสรุปได้ว่า ตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ แพลตฟอร์มดิลิเวอรี ที่เข้ามามีบทบาทจนเกิดโมเดลใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจอาหารนั่นเอง..
—--------------------------
Sponsored by JCB
JCB แบรนด์ผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรเครดิตจากประเทศญี่ปุ่น - พิเศษเฉพาะผู้ถือบัตรเครดิต JCB พบกับโปรโมชั่นในไทยและต่างประเทศมากมาย สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ ทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ติดตามความพิเศษที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะคุณได้ที่ www.facebook.com/JCBCardThailandTH และ LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.