จากวิศวกร สู่เจ้าของร้านกาแฟพรีเมียม Mezzo Coffee

จากวิศวกร สู่เจ้าของร้านกาแฟพรีเมียม Mezzo Coffee

9 ม.ค. 2020
ร้านกาแฟ..
คำนี้ เรานึกถึงแบรนด์อะไร Starbucks, Amazon หรือ Inthanin
แต่ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ อาจมีอีกหลายคนที่มีอีกตัวเลือกในใจ นั่นคือ “Mezzo”
ร้านกาแฟรสเข้ม คุณภาพและภาพลักษณ์ระดับอินเตอร์ ที่เรามักเห็นตามห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าต่างๆ จนบางทีเราอาจคิดว่าเป็นแบรนด์สากล เข้ามาเปิดแฟรนไชส์ในไทย เพื่อแข่งกับ Starbucks
แต่ที่ไหนได้ Mezzo เป็นร้านกาแฟพันธุ์ไทยแท้ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากวิศวกรผู้คลั่งไคล้ในกาแฟ
ซึ่งนับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ในการสร้างแบรนด์ร้านกาแฟ ให้มีตำแหน่งตลาดเทียบชั้นกับแบรนด์นอกได้
ทามกลางกระแสนิยม ที่ใครๆ ก็อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง
จนเกิดแบรนด์ร้านกาแฟต่างๆ ขึ้นเป็นดอกเห็ด..
เมื่อคู่แข่งมาก ผู้บริโภคมีจำกัด สามส่วนผสมที่จะทำให้ร้านกาแฟปังและสำเร็จได้คือ
รสชาติ ราคา และภาพลักษณ์ของแบรนด์
ซึ่ง Mezzo ได้วางแผน ออกแบบธุรกิจ โดยรวม 3 ปัจจัยนี้เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว
คุณธนาวัฒน์ จิระเสวีจินดา ได้ก่อตั้งบริษัท เมซโซ่ จำกัด ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547
เขาจบการศึกษา ปริญญาตรี วิศวกรรมไฟฟ้า และ ปริญญาโท วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่สหรัฐอเมริกา
และทำงานอยู่ที่นั้นอีกประมาณ 8 ปี
การใช้ชีวิตอยู่อเมริกาเป็นเวลานาน ทำให้เขาได้สัมผัสกาแฟและเบเกอรี่ในชีวิตประจำวัน
จนมันกลายเป็นความหลงใหลของเขา
ซึ่งวันหนึ่งคุณธนาวัฒน์ ได้มีโอกาสกลับมาเมืองไทย ก็ลองแวะไปชิมกาแฟตามร้านต่างๆ ด้วยความเคยชิน
แต่สิ่งที่เขาพบ มันกลับทำให้เขารู้สึกผิดหวัง เนื่องจากไม่เจอร้านที่ถูกใจเลย ทั้งเรื่องรสชาติและราคา
และยังทำให้เขาสงสัยว่า เมืองไทยมีแหล่งปลูกเมล็ดกาแฟพันธุ์ดี อย่างเช่นภาคเหนือ แต่ทำไมไม่มีแบรนด์กาแฟดังๆ เหมือนดั่งต่างจากประเทศ ซึ่งไม่มีแหล่งปลูกกาแฟเลย แต่สามารถสร้างแบรนด์กาแฟดังๆ ขึ้นมาได้
นอกจากนี้ยังมีชาติต่างส่วนหนึ่ง ที่รับซื้อกาแฟดิบจากบ้านเรา แต่เอาไปคั่ว แล้วปั้มเป็นแบรนด์ตัวเองแทน..
เรื่องนี้จึงเป็นตัวจุดประกายความคิดที่เขาอยากลองทำธุรกิจกาแฟ
ช่วงเริ่มต้น เขาอยากทดลองว่า กาแฟไทยมีคุณภาพดีจริงหรือไม่
เลยซื้อกาแฟดิบจากภาคเหนือมาคั่ว แล้วส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ออสเตเรีย ฮ่องกง จีน
โดยอาศัยประสบการณ์ตอนที่อยู่ต่างประเทศ หาช่องทางส่งออก
เพื่อดูกระแสตอบรับ ซึ่งก็ปรากฎว่าออกมาดี
เมื่อทดสอบตลาดได้ระยะหนึ่ง จนทุกอย่างเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว
คุณธนาวัฒน์ ก็ได้แรงเชียร์จากเพื่อนๆ ในตอนนั้น ให้เปิดร้านกาแฟ
ซึ่งแรกๆ เขาก็ไม่แน่ใจเรื่องเปิดร้านเหมือนกัน เพราะจากคนผู้ผลิตกาแฟ หันมาสวมหมวกใบใหม่เป็นผู้ให้บริการร้านกาแฟ มันคนละเรื่องกันเลย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เขามั่นใจในคุณภาพกาแฟของเขา จึงลองเปิดใจ
และในที่สุดร้าน Mezzo Coffee สาขาแรกก็เริ่มต้นขึ้น
ช่วงก่อนเปิดร้านคุณธนาวัฒน์ ใช้เวลาเตรียมตัวค่อนข้างนาน โดยทำการบ้าน วางแผนและศึกษาตลาดมาอย่างดี
ทั้งเรื่องสินค้า แบรนด์ โลโก้ รูปแบบร้าน รวมถึงวัตถุดิบที่นำมาใช้
เพราะเขามองว่า การจะเปิดกิจการอะไรสักอย่าง ต้องคิดให้รอบคอบและรอบด้าน
ไม่ใช่แค่อยากเปิดตามกระแส แล้วค่อยไปตายเอาดาบหน้า..
ที่เขาตั้งชื่อร้านว่า Mezzo เพราะเวลาคนเราพูดถึงกาแฟ ต้องนึกถึงภาพประเทศทางฝั่งยุโรปเป็นส่วนใหญ่
เลยอยากได้ชื่อที่เป็นภาษาอิตาลี ซึ่งชื่อนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มภาพลักษณ์สากลให้กับตัวแบรนด์แล้ว
ยังช่วยให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้ขึ้นใจ
ส่วนโลโก้ ที่เห็นเป็นลายเส้นม้วนขดเป็นรูปควัน ก็หมายถึงคำมั่นสัญญาที่ร้านให้ลูกค้าว่า วัตถุดิบที่นำมาใช้ต้องมีคุณภาพดีและสดใหม่ทุกวัน
โดยนโยบายที่ร้าน Mezzo ยึดหลักชัดเจนในการดำเนินกิจการมี 3 เรื่องได้แก่ รสชาติ ราคา และแบรนด์
เขาสังเกตเห็นว่า คนไทยนิยมชอบกาแฟรสเข้มๆ ซึ่งเขามองว่ามันเข้มเกินไป
ต่างจากชาวต่างชาติ ที่เมื่อเทียบกันแล้ว ชอบรสที่อ่อนกว่ามาก
การทำกาแฟที่ทุกคนเข้าถึงได้และชื่นชอบ ร้านจึงต้องคิดค้นสูตรกาแฟโดยเฉพาะ
เป็นรสชาติที่อยู่กึ่งกลางระหว่างรสนิยมคนไทยและชาวต่างชาติ
ก็คือ เข้มข้นพอสำหรับคนไทย แต่ไม่มากเกินไปจนต่างชาติดื่มไม่ได้
ส่วนเรื่องราคา Mezzo จะตั้งราคาให้สูงกว่าแบรนด์ท้องถิ่น เพื่อสื่อถึงคุณภาพของสินค้า
ถ้าจะขายกาแฟ ต้องเข้าอกเข้าใจคอกาแฟ ว่าลูกค้าต้องการอะไร
คอกาแฟไม่ได้ต้องการกาแฟราคาถูก แต่ต้องการกาแฟรสชาติดีในราคาที่สมเหตุสมผล
แต่การตั้งราคา ต้องไม่แพงเท่าแบรนด์ต่างชาติ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ากับคุณภาพที่ได้รับ
ซึ่ง Mezzo ก็ใช้วัตถุดิบในประเทศ และไม่เสียค่าแฟรนไชส์ให้ต่างชาติ ต้นทุนโดยรวมจึงต่ำกว่า เลยสามารถตั้งราคาให้ต่ำกว่าแบรนด์นอกได้ ในคุณภาพที่พอๆ กัน
และบางช่วง ทางร้านก็มีการลดราคาสินค้าสำหรับสมาชิก หรือโปรโมชันลดแลกแจกแถมหมุนเวียนมาเรื่อยๆ
เพื่อกระตุ้นลูกค้าเดิมให้มาซื้อซ้ำบ่อยขึ้น หรือดึงดูดลูกค้าใหม่ให้มาลิ้มลอง
เรื่องสุดท้ายคือ แบรนด์
ความคิดแรกตอนที่จะเปิดร้าน คุณธนาวัฒน์ ตั้งใจให้ Mezzo เป็นร้านกาแฟที่มาแข่งกับแบรนด์ระดับสากล ไม่ใช่แบรนด์ไทยด้วยกัน และวางแผนขยายสู่ตลาดต่างประเทศ
ซึ่งสะท้อนกลับไปยังปัจจัยข้างบน ที่ร้านต้องคำนึงถึง คุณภาพและราคาเป็นเรื่องแรกๆ รวมไปถึงบรรยากาศของร้านที่ต้องไม่ด้อยกว่าคู่แข่ง เพื่อสามารถสู้รบกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านในช่วงแรกๆ ก็ต้องพบอุปสรรคนานาไม่ต่างจากคนทำธุรกิจทั่วๆ ไป
ล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายครั้ง ทั้งเรื่องเป็นแบรนด์ใหม่ ที่ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคย ไม่กล้าเข้ามาใช้บริการ
แถมเคยโดนผู้จัดการบัญชีโกงเงินมาแล้ว 2-3 คน เพราะเขาไม่มีความรู้เรื่องการเงินและบัญชีดีพอ
นอกจากนี้ บางเดือนแทบไม่มีลูกค้า ร้านจึงมีรายได้ไม่พอจ่ายเงินเดือนพนักงานด้วยซ้ำ
แต่ทุกอย่างมันก็เป็นเพียงปัญหาในอดีต ที่สามารถผ่านมาได้
จากตอนนั้น ถึงตอนนี้ Mezzo มีการเติบโต และขยายธุรกิจเรื่อยมา ผ่านกระแสตอบรับที่ดีขึ้นของผู้บริโภค
จากไม่กี่สาขา จนปัจจุบันมี 83 สาขา
ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนสาขาต่างจังหวัดก็มีที่ นครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา, สระบุรี, อยุธยา, ชลบุรี และสมุทรสาคร
รายได้ของ บริษัท เมซโซ่ จำกัด
ปี พ.ศ. 2560 มีรายได้อยู่ที่ 257 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2561 มีรายได้อยู่ที่ 264 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่เปิดร้านมา Mezzo ไม่เคยจ่ายค่าโฆษณาเลยสักบาท
โดยเลือกใช้วิธีการบอกปากต่อปากของลูกค้าแทน
เพราะมองว่า การที่ลูกค้าจะบอกเล่าประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับ และแนะนำให้คนรู้จักลองเข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพมากการทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์
อีกจุดเด่นของร้านคือ สินค้าทั้งหมดในร้านผลิตเองทั้งหมด ต่างจากร้านกาแฟอื่นส่วนใหญ่ที่รับอาหารหรือขนมจากผู้ผลิตรายอื่น
ทำให้สามารถควบคุมรสชาติและคุณภาพ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ทุกสาขา ผ่านการผลิตจากครัวกลาง
รวมทั้งสามารถนำคำติชมของลูกค้า มาปรับปรุงคุณภาพได้อย่างทันที
ทั้งนี้แม้จะเป็นเพียงธุรกิจร้านกาแฟ
แต่ Mezzo ก็มีการปรับตัว และพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป อาทิ
ออกผลิตภัณฑ์ MezzoX กาแฟปรุงสดสำเร็จรูป โดยลูกค้าสามารถชงกาแฟสด ทั้งแบบร้อนและเย็นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์เสริมใดๆ
เพื่อสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ ที่ชอบความสะดวกสบาย
และลุยขยายตลาด เพื่มช่องทางขายกาแฟออนไลน์ โดยเปิดร้านค้าออนไลน์ของตัวเองผ่านเว็บไซต์บริษัท
เพื่อรองรับการสั่งซื้อสินค้าประเภทชงเอง จากทั้งในและต่างประเทศ
รวมถึงวางจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม Amazon, JD และ Alibaba
ซึ่งช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้ในระดับที่กว้างขึ้น ซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยจำนวนสาขา หรือพื้นที่ที่ร้านตั้งอยู่
จะเห็นได้ว่าเรื่องราวการเดินทางของ Mezzo เป็นเส้นทางที่ยาวนาน และยาวไกล
มีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แม้จะวางแผนมาดีอย่างไร
ก็อาจเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อยู่ตลอดเวลา
ซึ่งไม่ต่างอะไรกับชีวิตคนเรา ที่เจอเรื่องเซอร์ไพรส์ได้ทุกวัน แม้ว่าจะเตรียมมาดีแค่ไหน
แต่ทุกอย่าง ทุกเรื่องราว โดยเฉพาะความสำเร็จ เกิดขึ้นได้เพราะ “ก้าวแรก” เสมอ
คุณธนาวัฒน์ ได้บอกว่า 2 สิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ คือ เวลากับโอกาส
ถ้าโอกาสเข้ามาแล้ว หากเรามัวแต่กลัว ไม่กล้าก้าวไปข้างหน้า
เราก็จะล้มเหลวทันที
แต่กลับกัน หากกล้าเสี่ยงสักตั้ง ลองเดินไปข้างหน้า 1 ก้าว
อย่างน้อยก็มีโอกาส ที่เราจะไปจึงจุดหมายได้ในสักวัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.