กรณีศึกษา Sony รอดพ้นจากวิกฤติขาดทุนต่อเนื่อง นานเกือบ 10 ปี ได้อย่างไร ?

กรณีศึกษา Sony รอดพ้นจากวิกฤติขาดทุนต่อเนื่อง นานเกือบ 10 ปี ได้อย่างไร ?

3 พ.ย. 2022
รู้หรือไม่ว่า Sony ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่รอดพ้นจากวิกฤติ และกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์ของบริษัทเพื่อนร่วมชาติหลายแห่ง ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างหนัก จนบางรายถึงขนาดต้องยอมขายกิจการส่วนใหญ่.. เพื่อรักษาชื่อของบริษัทที่มีมานานนับร้อยปี
- Sharp ขายกิจการให้ Foxconn ของไต้หวัน
- Toshiba ขายกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้ Midea และขายธุรกิจทีวี ให้ Hisense จากประเทศจีน
- Hitachi ขายกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน นอกตลาดประเทศญี่ปุ่น ให้กับบริษัท Arçelik จากประเทศตุรกี
คำถามที่เกิดขึ้นคือ Sony ทำอย่างไร จึงสามารถรอดพ้นจากวิกฤติครั้งใหญ่ได้.. ?
ย้อนกลับไปในปี 1946 หรือเมื่อ 76 ปีที่แล้ว Sony ก่อตั้งขึ้น ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงไม่นาน
โดยเริ่มจากผลิตเทปแม่เหล็ก ที่ใช้สำหรับการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มตัว
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1980-2000 ซึ่งนับว่าเป็นยุคทองของ Sony มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมหลายชนิด เช่น ทีวี Sony Trinitron, เครื่องเล่นเพลงพกพา Sony Walkman, โทรศัพท์มือถือ Sony Ericsson หรือเครื่องเล่นเกม PlayStation
จนเรียกได้ว่า Sony ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพ็อป (Pop Culture) ในช่วงยุคสมัยหนึ่ง
แต่แน่นอนว่า Sony ก็คงไม่สามารถยืนอยู่ในจุดสูงสุดได้ตลอดไป..
เพราะในปี 2008 Sony ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี ในทุกธุรกิจหลักของบริษัท ได้แก่ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์, โทรศัพท์มือถือ, เกม
รวมถึงธุรกิจการบริการด้านการเงิน มีเพียงธุรกิจภาพยนตร์ที่พอจะทำกำไรได้บ้าง
ทำให้รวม ๆ แล้ว Sony ขาดทุนด้วยจำนวนเงิน 9.9 หมื่นล้านเยน (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท)
ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเพียงปีเดียว Sony ทำกำไรไปได้ถึง 3.7 แสนล้านเยน (ราว 9.5 หมื่นล้านบาท)
และหลังจากนั้นมา Sony ก็อยู่ในภาวะขาดทุนมาเรื่อย ๆ อย่างปี 2011 เพียงปีเดียว Sony ก็ขาดทุนไปมากกว่า 4.56 แสนล้านเยน (ราว 1.2 แสนล้านบาท)
และทำให้ราคาหุ้นของ Sony ลดต่ำลงมากที่สุดในรอบ 25 ปี
รวมแล้ว Sony ต้องติดบ่วงอยู่ในภาวะขาดทุนตั้งแต่ปี 2008-2014 มีเพียงปี 2012 เพียงปีเดียวเท่านั้น ที่ Sony กลับมาทำกำไรได้บ้าง
- จุดเปลี่ยน ที่ทำให้ Sony กลับมาทำกำไรได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Sony เพราะในปีนี้ Sony สามารถกลับมาทำกำไรได้ราว 1.5 แสนล้านเยน (ราว 3.7 หมื่นล้านบาท) เป็นการปิดตำนานช่วง 6 ปี แห่งการขาดทุนของ Sony
และหลังจากนั้นมา Sony ก็ไม่เคยกลับไปขาดทุนอีกเลยจนถึงปัจจุบัน..
สาเหตุที่ทำให้ Sony เอาตัวรอดจากวิกฤติขาดทุนต่อเนื่องกันหลายปีได้ ต้องยกความดีความชอบให้กับ Kazuo Hirai CEO คนใหม่ของ Sony ที่เข้ามารับตำแหน่งในปี 2012 เพื่อรับหน้าที่แก้ไขปัญหาวิกฤติขาดทุนนี้โดยเฉพาะ และหลังจากนั้น 3 ปี เขาก็ทำให้ Sony กลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง
สิ่งที่ Kazuo Hirai ทำ คือการปรับโครงสร้างธุรกิจของ Sony ขนานใหญ่ ซึ่งใช้ชื่อเรียกว่า “One Sony” โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ Sony ทำได้ดีเท่านั้น รวมถึงปรับโครงสร้างการทำงานของแต่ละหน่วยธุรกิจ ให้ทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
และตัดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร ซึ่งถือเป็นเนื้อร้ายออกไป เช่น
การขายธุรกิจคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก Vaio
ธุรกิจผลิตจอ LCD ขนาดกลาง และขนาดเล็ก
ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ และเคมี
รวมถึงปลดพนักงานออกไปกว่า 10,000 คน
ในระหว่างที่ Sony กำลังอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจนั้น Sony ก็ยังพอมีกินมีใช้ ได้จากธุรกิจความบันเทิง ทั้งเกม, เพลง, ภาพยนตร์ และรายการทีวี ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังคงทำกำไรได้บ้าง
ผลลัพธ์จากความพยายามของ Kazuo Hirai รวมถึงความร่วมมือของพนักงานคนอื่น ๆ ทำให้ Sony เริ่มกลับมาอยู่ในจุดที่ทำกำไร โดยเฉพาะในปี 2014 ที่ธุรกิจทีวีของ Sony สามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งในรอบ 11 ปี
เช่นเดียวกันกับเครื่องเล่นเกม Sony PlayStation 4 ที่ได้รับความนิยมอย่างมหาศาล ตั้งแต่เริ่มวางจำหน่ายในปี 2013
- ในวันนี้ Sony กลับมายิ่งใหญ่ได้แค่ไหน ?
ในวันนี้ Sony รอดพ้นจากสถานการณ์วิกฤติ ที่เคยกินเวลายาวนานเกือบ 10 ปี และสามารถกลับมาทำกำไรได้ 8.8 แสนล้านเยน (ราว 2.3 แสนล้านบาท) ในปี 2021 จาก 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Sony ได้แก่
- Game & Network Services (G&NS) ธุรกิจเกม และ PlayStation ซึ่งสร้างรายได้ให้กับ Sony ในปี 2021 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 25% ของรายได้ทั้งหมด
- Music ธุรกิจเพลง
- Pictures ธุรกิจภาพยนตร์
- Electronics Products & Solutions (EP&S) ธุรกิจผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของ Sony ทั้งหมด ได้แก่ ทีวี, เครื่องเสียง, อุปกรณ์สื่อสาร, สมาร์ตโฟน และกล้องดิจิทัล
- Imaging & Sensing Solutions (I&SS) ธุรกิจเซนเซอร์รับภาพ (Image Sensor) ซึ่ง Sony เป็นผู้นำในธุรกิจนี้ ด้วยส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 49% เรียกได้ว่าสมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ในท้องตลาด ล้วนมีเซนเซอร์รับภาพของ Sony อยู่เบื้องหลัง
- Financial Services ธุรกิจบริการด้านการเงิน เช่น สินเชื่อ และประกัน
และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของ Sony ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สัญชาติญี่ปุ่น ผู้อยู่รอดในยุคที่บริษัทเพื่อนร่วมชาติบางแห่ง ต่างล้มหายตายจาก จนเหลือทิ้งไว้เพียงตำนานความยิ่งใหญ่
หรือจำใจยอมขายกิจการส่วนใหญ่ ให้กับบริษัทต่างชาติ..
ในขณะที่ Sony กลับพลิกวิกฤติจากการตกอยู่ในภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี ให้กลายเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้ปีละ 2.3 แสนล้านบาท จากการปรับตัวได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา และที่สำคัญคือ การรู้จุดเด่นที่ตัวเองสามารถทำได้ดี และเลือกที่จะตัดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรออกไป
Tag:Sony
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.