กรณีศึกษา “เพิ่มมูลค่าให้อาหาร” ที่สร้างเศรษฐีหน้าใหม่ มาแล้วหลายคน

กรณีศึกษา “เพิ่มมูลค่าให้อาหาร” ที่สร้างเศรษฐีหน้าใหม่ มาแล้วหลายคน

17 ธ.ค. 2022
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วงการธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร ถือเป็นตลาด Red Ocean ในสายตาของใครหลาย ๆ คน
แต่กลับกัน.. แม้ตลาดนี้จะเป็นสมรภูมิเลือด ก็ยังมีเศรษฐีหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน จากการทำธุรกิจด้วยกลยุทธ์ “สร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหาร”
หากพูดถึงวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหาร สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
การสร้างแบรนด์
การพัฒนาสูตร
หรือการปรับกระบวนการผลิตและการบริการให้ทันสมัย
ซึ่งวิธีการเหล่านี้ สามารถทำให้ “สิ่งเดิม” ที่มีอยู่แล้ว กลายเป็น “สิ่งใหม่” ที่ยังไม่เคยมีในตลาดได้
เรากำลังจะยกตัวอย่าง กรณีศึกษาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหาร ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ ไว้เป็นไอเดียและแรงบันดาลใจ สำหรับคนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจด้านอาหารและผู้ที่สนใจ
1) สร้างแบรนด์ให้ปลาร้า ทำรายได้หลักร้อยล้านบาทต่อปี
ธุรกิจน้ำปลาร้า นับว่ามีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง เพราะมีผู้เล่นในตลาดมากกว่า 100 ราย
รวมถึงผู้เล่นหน้าใหม่ ก็กระโดดเข้ามาในสมรภูมินี้ได้ง่าย เนื่องจากมีโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ขอแค่มีเงินทุน และคอนเซปต์ของแบรนด์ ก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้
แต่หากดูจากตัวเลขรายได้ แบรนด์ที่ทำรายได้หลักร้อยล้านบาท กลับมีเพียงไม่กี่แบรนด์..
ที่เห็นได้ชัดเลย คือ น้ำปลาร้าปรุงสุก แบรนด์ “แม่บุญล้ำ” และ “แซ่บไมค์”
ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์ มีสิ่งที่คล้ายกันคือ การให้ความสำคัญกับเรื่องรสชาติ ความสะอาด มาตรฐานการผลิต ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ทั่วถึง และการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ
จนสามารถสร้างรายได้หลักหลายร้อยล้านบาทต่อปี
ผลประกอบการของ บริษัท เพชรดำฟู้ดส์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ แม่บุญล้ำ
ปี 2562 มีรายได้ 258 ล้านบาท กำไร 25 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 451 ล้านบาท กำไร 50 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้ 713 ล้านบาท กำไร 65 ล้านบาท
ผลประกอบการของ บริษัท ภิรมย์พรการเกษตร จำกัด เจ้าของแบรนด์ แซ่บไมค์
ปี 2563 มีรายได้ 2 ล้านบาท กำไร 2 แสนบาท
ปี 2564 มีรายได้ 251 ล้านบาท กำไร 19 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 533 ล้านบาท กำไร 11 ล้านบาท
ถึงแม้จะมีผู้เล่นมากมาย ตบเท้าเข้ามาเล่นในธุรกิจน้ำปลาร้า ซึ่งก็นับว่าเป็นธุรกิจที่ “ปราบเซียน” อยู่ไม่น้อย
เพราะการจะเป็นผู้ชนะในสังเวียนนี้ได้ ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งรสชาติ ความสะอาด มาตรฐานการผลิต ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ทั่วถึง และการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ
2) เพิ่มมูลค่าไส้กรอกอีสาน สร้างรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน
หลายคนอาจไม่รู้ว่า ไส้กรอกอีสาน มีปัญหาหรือจุดอ่อนของธุรกิจ (Pain Point) อยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น
- กินแล้วอ้วน เพราะมีส่วนประกอบ ของไขมันหมู และไขมันสัตว์ในปริมาณมาก
- หิ้วไปไหนมาไหนลำบาก เพราะกลิ่นแรง ทำให้ขาดความมั่นใจ
- สินค้ารูปแบบเดิมมีแต่แพ็กขนาดใหญ่ หากจะซื้อเป็นของฝากก็เก็บได้ไม่นาน จะซื้อทานคนเดียวก็อาจทานไม่หมด
ซึ่งผู้ที่ค้นพบและหาทางแก้ Pain Point เหล่านี้ คือ คุณแอน กัลยรัตน์ ดวงรัตนเลิศ อายุ 28 ปี ลูกสาวของครอบครัวที่ขายไส้กรอกอีสานข้างทาง มาเป็นเวลา 9 ปี ที่จังหวัดนครปฐม
ที่น่าสนใจคือ ไอเดียของคุณแอนไม่ได้เกิดจาก “ตัวเอง” แต่เกิดจากการเก็บรวบรวม “เสียงของลูกค้า” ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสูตรเองกับมือ
โดยใช้เวลา 1 ปีกว่า ก่อนจะมาเป็นแบรนด์ Madameorn - มาดามอร ไส้กรอกอีสานไขมันต่ำ ที่สร้างรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน
จุดเด่นของสินค้าคือ
- 1 ซอง มีไส้กรอกอีสานไขมันต่ำ 6 ลูก (95 กรัม)
- ไขมันต่ำ 48% และแคลอรีต่ำ 55% คนรักสุขภาพก็ทานได้
- อุ่นร้อนก่อนทานง่าย ๆ เพียงฉีกซอง แล้วนำเข้าไมโครเวฟที่ไฟปานกลาง เป็นเวลา 30 วินาที
- บรรจุในซองสวยงาม พกพาสะดวก ปิดมิดชิด ไม่มีกลิ่นเล็ดลอด
- สามารถเก็บได้นานถึง 1 ปี ในอุณหภูมิปกติ โดยไม่ต้องแช่เย็น
เรื่องราวของคุณแอน ทำให้เราเห็นว่า ความคิดของคนรุ่นใหม่มีความสำคัญ และควรได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมาก
เพราะไอเดียเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมทางด้านอาหารเลยก็ว่าได้ รวมถึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจเกี่ยวกับอาหารได้อย่างมหาศาล หากสินค้านี้ได้รับการพัฒนาและเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก
อ่านเรื่องราวของคุณแอนฉบับเต็มได้ที่ https://www.marketthink.co/33262
3) ปรับกระบวนการผลิต เกิดเป็น “กล้วยหนึบ” สร้างรายได้หลักหมื่นบาทต่อเดือน
คนที่ชื่นชอบกล้วยเป็นชีวิตจิตใจ ต้องเคยกิน กล้วยตาก กล้วยฉาบ หรือกล้วยอบน้ำผึ้ง
แต่ใครจะรู้ว่า มีคนคิดค้น “กล้วยหนึบ” ซึ่งเป็นกรรมวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้สำเร็จ
ผู้คิดค้นก็คือ คุณใหม่ สายธาร เจริญคลัง ลูกสาวชาวสวนที่มีอายุเพียง 24 ปี
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่เธอเรียนจบจากสาขาวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา เมื่อ 2 ปีก่อน โดยตั้งใจว่าจะกลับมาช่วยงานคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน
หลังจากกลับมาบ้านก็พบว่า กล้วยที่คุณพ่อปลูกไว้เต็มสวน ขายไม่ได้ราคา เพราะต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น จากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น อีกทั้งยังถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง
เธอเลยคิดหาวิธีเพิ่มมูลค่าให้กล้วยจากสวนของคุณพ่อ ด้วยกรรมวิธีการผลิตใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีคนทำมาก่อน
ในขั้นแรก เธอได้ทำการสำรวจตลาดตามห้างสรรพสินค้า เพื่อหาสินค้าเกี่ยวกับกล้วย ซึ่งเธอพบว่า กล้วยตาก กล้วยฉาบ และกล้วยอบน้ำผึ้ง มีคนทำอยู่แล้ว
จนเดินไปเห็นผลไม้อบแห้ง จึงเกิดไอเดียว่า ถ้านำกล้วยมาอบด้วยตู้อบลมร้อน ก็น่าจะเพิ่มรสสัมผัสให้กล้วยมีความหนึบได้
เธอเลยตัดสินใจควักเงินเก็บ เพื่อซื้อตู้อบลมร้อนเครื่องเล็ก 16 ชั้น มาฝึกทำ
ในขั้นตอนนี้ ถือว่าเป็นการฝึกความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะเธอใช้เวลาลองผิดลองถูก นานถึง 2 เดือน
เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอบกล้วย แล้วทิ้งเป็นตัน ทุก ๆ วัน เพราะไม่รู้กำลังไฟที่เหมาะสม บวกกับไม่มีประสบการณ์ในการทำขนมมาก่อน
ที่สำคัญคือ คุณพ่อให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แม้จะหมดกล้วยไปเป็นตัน ก็ไม่เคยบ่นหรือต่อว่าคุณใหม่เลยแม้แต่น้อย มีแต่ “ให้กำลังใจ” อยู่ข้าง ๆ ตลอด
จนในที่สุด คุณใหม่ก็ได้สูตรในการอบที่มั่นใจแล้วว่า กล้วยหนึบมีเนื้อสัมผัสและรสชาติที่อร่อย
เมื่อได้สินค้าที่ดี มีคุณภาพ รสชาติถูกปาก ก็เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการหาตลาด..
คุณใหม่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง ในการโปรโมตสินค้าให้คนใกล้ตัวได้ลองมาอุดหนุน เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อน และลูกค้าทั่วไป
ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก เพราะคนกลับมาซื้อซ้ำและบอกต่อกันปากต่อปาก
หลังจากนั้น คุณใหม่ได้เข้ากลุ่มเบเกอรี่พอเพียง กลุ่มเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกหลายแสนคน มาร่วมกันแชร์สูตรการทำขนมต่าง ๆ
โดยคุณใหม่ได้เข้าไปแจกสูตรการทำกล้วยหนึบ ด้วยเช่นกัน
ซึ่งผลลัพธ์จากการแบ่งปันของคุณใหม่ ทำให้คนสนใจสั่งซื้อกล้วยหนึบเป็นจำนวนมาก
ซึ่งถือเป็นการสร้างการรับรู้ และขยายตลาดด้วยไปในตัว
ปัจจุบันคุณใหม่ ต้องขยายกำลังการผลิตเป็น 20 กว่ากิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นรายได้ต่อเดือนประมาณ 40,000-50,000 บาท เลยทีเดียว
จากเรื่องราวทั้งหมด สามารถเป็นข้อคิดให้เราอย่างหนึ่งได้ว่า
หากเราเป็นคนช่างสังเกตสิ่งรอบ ๆ ตัว แล้วหยิบสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้ว นำมาพัฒนา พร้อมใส่ไอเดีย และความตั้งใจเข้าไป
เราอาจให้กำเนิดแบรนด์หรือสินค้าหนึ่ง ที่กลายเป็น “เครื่องผลิตเงิน” ให้เราเลยก็ได้..
อ้างอิง:
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-https://www.sentangsedtee.com/food-recipes-for-job/article_228673
-https://www.sentangsedtee.com/farming-trendy/article_218545
-https://www.youtube.com/watch?v=Zs-xEGZOT-s
-https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_166122
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.