กรณีศึกษา ASML บริษัทผู้ผลิต “เครื่องจักร” ที่ผูกขาดการผลิตชิปเซต ของโรงงานเกือบทุกแห่งในโลก - TechBite

กรณีศึกษา ASML บริษัทผู้ผลิต “เครื่องจักร” ที่ผูกขาดการผลิตชิปเซต ของโรงงานเกือบทุกแห่งในโลก - TechBite

2 ม.ค. 2023
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ บริษัททั่วโลก ต้องเผชิญกับสถานการณ์ “ชิปเซต” ขาดแคลน จากปริมาณความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความสามารถในการผลิตชิปเซต ที่จำกัดอยู่เพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น
เพราะสินค้าแทบจะทุกชนิดที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ล้วนแล้วแต่มีชิปเซต เป็นหัวใจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการทำงานแทบทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ รถยนต์ หรือแม้แต่เครื่องซักผ้า.. ก็ยังต้องอาศัยชิปเซตเพื่อควบคุมการทำงาน
สวนทางกับความสามารถในการผลิตชิปเซต ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตขนาดเล็กและขั้นสูง ที่จำกัดอยู่เพียงไม่กี่บริษัทในโลกเท่านั้น.. เช่น TSMC, Intel และ Samsung
และแม้บริษัทเหล่านี้ จะอยากเพิ่มกำลังการผลิต ด้วยการขยายโรงงานไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางด้าน Supply Chain มากเพียงใด แต่ก็ยังติดปัญหา ซึ่งเป็นคอขวดสำคัญ
นั่นคือ เครื่องจักรที่ใช้สำหรับการผลิตชิปเซต มีไม่เพียงพอ..
และในปัจจุบัน มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ที่สามารถผลิตเครื่องจักรนี้ได้
บริษัทนั้น มีชื่อว่า “ASML”
ASML (อ่านว่า อาเอสเอ็มเอล) เป็นบริษัทสัญชาติดัตช์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1984 หรือเมื่อ 38 ปีที่แล้ว ในยุคที่เทคโนโลยีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิปเซต มีการแข่งขันจากหลายบริษัททั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น อย่าง Canon และ Nikon หรือ P&E, Ultratech และ Eaton จากสหรัฐอเมริกา ที่แข็งขันกันด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้เครื่องจักร สามารถผลิตชิปเซตที่มีขนาดเล็กลง แต่มีความหนาแน่นของวงจรที่อยู่ภายในเพิ่มขึ้นได้ โดยอาศัยการยิงแสงอัลตราไวโอเลต ลงบนแผงวงจร
และแน่นอนว่า ยิ่งชิปเซตมีขนาดที่เล็กลง ย่อมทำให้เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิปเซต มีความซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย เพราะแสงอัลตราไวโอเลต ที่จะยิงลงไปบนแผงวงจร ก็ต้องมีขนาดเล็กตามไปด้วย
อย่างในช่วงยุค 1980 ในขณะนั้น เทคโนโลยีการผลิตชิปเซต อยู่ที่ราว 300 ไมโครเมตร
ในขณะที่ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตชิปเซต อยู่ที่ราว 3-5 นาโนเมตร เท่านั้น
แต่ยิ่งชิปเซตมีขนาดเล็กลง เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิปเซต ก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรหลาย ๆ ราย เริ่มยอมแพ้ และออกจากตลาดไป เหลือเพียง ASML และ Nikon เท่านั้น ที่ยังคงแข่งขันกันเพียง 2 ราย อยู่ในตลาด
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน มีชิปเซตที่มีขนาดเพียง 3-5 นาโนเมตร เท่านั้น
และกลายเป็นว่า เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีเพียงพอ ในการผลิตชิปเซตที่มีขนาดเล็กเท่านี้ มีเพียงเครื่องจักร ที่ชื่อว่า Extreme Ultraviolet Lithography (EUV) ของ ASML เท่านั้น ที่สามารถทำได้
ทำให้ในปัจจุบัน ส่วนแบ่งตลาดของเครื่องจักรที่ใช้ผลิตชิปเซตทั่วโลก มี ASML กินส่วนแบ่งกว่า 80%
ส่วนเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีสูงสุด อย่าง EUV ASML มีส่วนแบ่งตลาด 100% เพราะเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรชนิดนี้เพียงเจ้าเดียวที่สามารถทำได้..
หากเจาะลึกเข้าไปที่รายได้ของบริษัท ASML จะพบว่า
- ปี 2020 มีรายได้ 13,978 ล้านยูโร (ราว 5.17 แสนล้านบาท)
และกำไร 3,553 ล้านยูโร (ราว 1.31 แสนล้านบาท)
- ปี 2021 มีรายได้ 18,611 ล้านยูโร (ราว 6.89 แสนล้านบาท)
และกำไร 5,883 ล้านยูโร (ราว 2.17 แสนล้านบาท)
แม้ ASML จะมีรายได้หลายแสนล้านบาทต่อปี
แต่รู้หรือไม่ว่า ในแต่ละปี ASML สามารถขายเครื่องจักร EUV ที่ใช้ในการผลิตได้ เพียงไม่กี่สิบเครื่องเท่านั้น
- ในปี 2020 ASML สามารถขายเครื่องจักร EUV ไปได้ 31 เครื่อง
- ในปี 2021 ASML สามารถขายเครื่องจักร EUV ไปได้ 42 เครื่อง
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ASML สามารถขายเครื่องจักร EUV ไปได้เพียง 140 เครื่อง เท่านั้น
เนื่องจากความยาก และความซับซ้อนในการผลิต ทำให้กำลังการผลิตเครื่องจักร EUV ของ ASML มีน้อยมาก ๆ
ด้วยความที่ ASML เป็นเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ที่สามารถผลิตเครื่องจักร EUV ได้ ทำให้ในปัจจุบัน ASML ตั้งราคาเครื่องจักร EUV ไว้สูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเครื่อง (ราว 7,000 ล้านบาท)
ยิ่งไปกว่านั้น คาดการณ์ว่าในอนาคต เครื่องจักร EUV รุ่นใหม่ ที่มีความสามารถสูงขึ้น จะมีราคาที่สูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเครื่อง (ราว 10,000 ล้านบาท) เลยทีเดียว..
ในปัจจุบัน ASML ขายเครื่องจักร EUV นี้ ให้กับบริษัทผู้ผลิตชิปเซตรายใหญ่ของโลก เพียงไม่กี่บริษัท
รวมถึงยักษ์ใหญ่ของวงการ อย่าง TSMC, Samsung และ Intel ที่หากต้องการผลิตชิปเซตที่มีเทคโนโลยีอันซับซ้อน ก็ต้องใช้เครื่องจักร EUV ของ ASML เท่านั้น
นอกจากนี้ ในอนาคต ASML ยังคาดการณ์ด้วยว่า ในตลาดการผลิตชิปเซตทั่วโลก จะมีความต้องการเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการผลิตชิปเซตทุกประเภท รวมแล้วกว่า 452 เครื่อง
และในจำนวนนี้ เป็นเครื่องจักร EUV กว่า 75 เครื่อง จากความต้องการชิปเซตสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
โดยจากข้อมูลของ ASML พบว่าในปี 2021 อุตสาหกรรมการผลิตชิปเซตทั่วโลก มีการผลิตชิปเซตป้อนสู่ตลาด ราว 1.1 ล้านล้านชิ้น คิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20.5 ล้านล้านบาท)
และจะเติบโตขึ้นเป็น 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2025
และแน่นอนว่า หากในอุตสาหกรรมผลิตชิปเซตทั่วโลก ยังคงไม่มีบริษัทไหน ที่สามารถผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิปเซตได้เทียบเท่า หรือดีกว่า ASML
ASML ก็จะยังคงเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตชิปเซตต่อไป และสร้างรายได้อย่างมหาศาล ในอนาคต..
อ้างอิง:
-https://www.asml.com/en/investors/annual-report/2021
-https://www.the/-waves.org/2022/03/22/asml-monopoly-in-semiconductor-where-is-magic/
-https://www.cnbc.com/2022/03/23/inside-asml-the-company-advanced-chipmakers-use-for-euv-lithography.html
-https://coinyuppie.com/how-many-euv-lithography-machines-did-asml-sell/
-https://www.longtunman.com/28280
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.