กรณีศึกษา แพลตฟอร์มสตรีมมิงแบบ Netflix จ่ายเงินเท่าไร เพื่อให้ได้ “ปุ่มทางลัด” บนริโมตทีวี

กรณีศึกษา แพลตฟอร์มสตรีมมิงแบบ Netflix จ่ายเงินเท่าไร เพื่อให้ได้ “ปุ่มทางลัด” บนริโมตทีวี

4 ม.ค. 2023
ย้อนกลับไปเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว Netflix นับเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงรายแรก ที่ทำข้อตกลงร่วมกันกับบริษัทผู้ผลิตทีวี และกล่อง Set-top-Box หลายราย ในการทำปุ่มทางลัด เพื่อเข้าสู่แอปพลิเคชัน Netflix บนทีวีได้แบบง่าย ๆ เพียงกดปุ่มทางลัดบนริโมต
เวลาผ่านไป 10 ปี ในวันนี้ ปุ่มทางลัดที่ว่านี้ ไม่ได้มีเพียงแต่ Netflix เท่านั้นที่ทำ เพราะแพลตฟอร์มสตรีมมิงรายอื่น ๆ ก็ต่างพยายามนำปุ่มทางลัดของตัวเอง ไปอยู่บนริโมตทีวีแทบจะทุกแบรนด์กันหมดแล้ว
รวมถึงผู้ผลิตทีวีแทบทุกราย ก็เลือกที่จะเพิ่มจำนวนปุ่มทางลัดให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองกับพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของคนทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่รู้หรือไม่ว่า ปุ่มทางลัดที่ว่านี้ ไม่ใช่ของที่ได้มาแบบฟรี ๆ โดยไม่มีอะไรต้องแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างบริษัทผู้ผลิตทีวี และแพลตฟอร์มสตรีมมิง
เพราะปุ่มทางลัดนี้ “เป็นของมีค่า” ที่แพลตฟอร์มสตรีมมิงต้องยอมจ่ายเงินจำนวนมหาศาล เพื่อให้ได้มา..
และในบางครั้ง ก็เป็นพื้นที่แห่งการต่อรองอำนาจ ระหว่างบริษัทผู้ผลิตทีวี และแพลตฟอร์มสตรีมมิง อีกด้วย
เพราะริโมตทีวีแต่ละอัน สามารถใส่ปุ่มทางลัดได้อย่างจำกัด
ส่วนใหญ่แล้วอาจมีปุ่มทางลัดสำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิง เพียง 2-3 ปุ่ม เท่านั้น..
- แพลตฟอร์มสตรีมมิง จ่ายค่าปุ่มทางลัดบนริโมตทีวีเท่าไร ?
จากการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่า แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ ต้องยอมจ่ายเงินให้กับบริษัทผู้ผลิตทีวี 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35 บาท) ต่อริโมตทีวี 1 อัน ที่ขายออกไปพร้อมกับทีวี 1 เครื่อง
เพื่อนำปุ่มทางลัดเข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิงของตัวเอง ไปไว้บนริโมตทีวี
อย่างไรก็ตาม บางครั้ง การนำปุ่มทางลัดไปไว้บนริโมตทีวี ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของการจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว
เพราะ Netflix เคยใช้วิธีในการ “บีบบังคับ” ให้บริษัทผู้ผลิตทีวี ต้องยอมทำปุ่มทางลัด Netflix ไว้บนริโมต
โดยหากไม่ยอมทำริโมตทีวี ที่มีปุ่มทางลัด Netflix
ผู้ผลิตทีวี ก็จะไม่สามารถทำให้ทีวีของตัวเอง รองรับการเข้าถึงแอปพลิเคชัน Netflix บนทีวีได้เลย..
หรือในทางกลับกัน แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ อาจมี “ระบบปฏิบัติการ” ที่ใช้กับสมาร์ตทีวี เป็นของตัวเอง โดยเปิดให้บริษัทผู้ผลิตทีวีรายอื่น ๆ สามารถนำระบบปฏิบัติการนี้ไปใช้ได้
แต่ก็แลกมาด้วยเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องมีปุ่มทางลัดของแพลตฟอร์มสตรีมมิงของตัวเอง อยู่บนริโมตทีวีด้วย
โดยตัวอย่างของแพลตฟอร์มสตรีมมิง ที่มีระบบปฏิบัติการสมาร์ตทีวีเป็นของตัวเอง คือ Amazon Prime Video ของ Amazon ที่เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการสมาร์ตทีวี Amazon Fire TV และ Roku Channel ของ Roku ที่เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการสมาร์ตทีวี Roku TV
แม้การนำปุ่มทางลัดมาไว้บนริโมตทีวี ดูเหมือนว่าจะเป็นการต่อรองทางอำนาจ ระหว่างบริษัทผู้ผลิตทีวี และแพลตฟอร์มสตรีมมิง โดยต้องมีฝ่ายที่ “ได้เปรียบ” และ “เสียเปรียบ”
แต่ในความจริงแล้ว แพลตฟอร์มสตรีมมิงเอง ก็ยอมเสียเงิน เพื่อให้ได้มาซึ่งปุ่มทางลัดสำหรับแพลตฟอร์มของตัวเอง บนริโมตทีวี
เพราะอย่าลืมว่า การมีปุ่มทางลัดอยู่บนริโมต ย่อมทำให้ผู้ใช้งานทีวี สามารถเข้าถึงบริการของแพลตฟอร์มสตรีมมิงได้อย่างรวดเร็ว
แม้แต่ผู้ใช้งานทีวี ที่ไม่เคยสมัครสมาชิกของแพลตฟอร์มสตรีมมิงนั้นเลยก็ตาม ก็จะถูกดึงดูดให้กดปุ่ม และเข้าไปทดลองใช้งานได้อย่างง่ายดาย
ซึ่งพวกเขาก็อาจปันใจเป็นลูกค้า ไปสมัครสมาชิกในที่สุด..
นั่นหมายความว่า ปุ่มทางลัดนี้ ก็เป็นเหมือนเครื่องมือการโฆษณา ที่อยู่ในมือผู้ใช้งานทีวีทั่วโลก ให้กับแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ นั่นเอง
ส่วนในมุมมองของบริษัทผู้ผลิตทีวี แม้เงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35 บาท) จะดูน้อย แต่อย่าลืมว่าริโมตทีวีแต่ละอัน ไม่ได้มีปุ่มทางลัดเพียงปุ่มเดียว ริโมตทีวีของบริษัทผู้ผลิตบางราย มีปุ่มทางลัดมากถึง 6 ปุ่ม..
นั่นหมายความว่า บริษัทผู้ผลิตทีวี ก็อาจได้เงินจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
และในแต่ละปี ตลาดทีวี ก็มีความต้องการจากผู้บริโภคอย่างมหาศาล อย่างในปี 2021 ที่ผ่านมา ตลาดทีวีทั่วโลก มียอดขายรวมกันทั้งสิ้นกว่า 210 ล้านเครื่อง
หรือหากต้องการเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ก็ต้องลองเจาะลึกไปที่ยอดขายทีวี ของบริษัทผู้ผลิตทีวีชื่อดังที่เป็นเบอร์ 1-2 ในตลาด อย่าง Samsung และ LG เฉพาะสองแบรนด์นี้ ก็มียอดขายทีวีไปแล้วกว่า 42 และ 27 ล้านเครื่อง ตามลำดับ
นั่นหมายความว่า ในแต่ละปี บริษัทผู้ผลิตทีวี ก็จะมีรายได้จากปุ่มทางลัดของแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่างมหาศาล
เช่น สมมติขายทีวีได้ปีละ 40 ล้านเครื่อง ทีวีแต่ละเครื่อง มีริโมตที่มีปุ่มทางลัด 2 ปุ่ม
ดังนั้น ในแต่ละปี ผู้ผลิตทีวี ก็จะสร้างรายได้จากปุ่มทางลัดนี้กว่า 2,800 ล้านบาทแล้ว..
ซึ่งบริษัทผู้ผลิตทีวี สามารถนำเงินที่ได้จากปุ่มทางลัดของแพลตฟอร์มสตรีมมิงนี้ มาทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อเครื่องของทีวีที่ขายออกไป ลดลงได้
และนั่นก็หมายถึงผลกำไร ที่บริษัทผู้ผลิตทีวีจะได้เพิ่มขึ้น โดยยังไม่นับรวมถึงวิธีการลดต้นทุนอื่น ๆ อีก..
อ้างอิง:
-https://www.statista.com/statistics/276238/television-shipments-worldwide-forecast/
-https://www.flatpanelshd.com/news.php?subaction=showfull&id=1645428019
-https://www.flatpanelshd.com/news.php?subaction=showfull&id=1621584798
-https://mashable.com/article/roku-button-home-screen-advertising
-https://www.theverge.com/circuitbreaker/2020/4/24/21232655/netflix-button-tv-remotes-advertisement-marketing-streaming
-https://www.forbes.com/sites/laceyrose/2011/01/04/netflix-makes-its-way-to-your-remote-control/?sh=41b9835d4ce6
-https://www.protocol.com/2021-tv-remote-branded-button
-https://www.engadget.com/2011-01-04-netflix-one-click-remotes-coming-to-nearly-every-device-it-str.html
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.