ไขความลับ ทำไม Apple ต้องตั้งชื่อชิปเซตใน iPhone ด้วยคำว่า “Bionic” - TechBite

ไขความลับ ทำไม Apple ต้องตั้งชื่อชิปเซตใน iPhone ด้วยคำว่า “Bionic” - TechBite

15 ม.ค. 2023
ถ้าใครเป็นแฟน ๆ ของ Apple หรือติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยี และแกดเจ็ตมาตลอด
คงจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับการตั้งชื่อ “ชิปเซต” ของ Apple ด้วยคำว่า Bionic
นับตั้งแต่ ชิปเซต A11 Bionic ที่ใช้กับ iPhone 8 และ iPhone X ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2017
จนถึงชิปเซต A16 Bionic ซึ่งใช้กับ iPhone 14 Pro และ iPhone 14 Pro Max รุ่นล่าสุด ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2022 ที่ผ่านมา
ทำให้หลาย ๆ คน อาจสงสัยว่า จริง ๆ แล้ว คำว่า Bionic คืออะไร ?
และทำไม Apple ต้องเลือกตั้งชื่อชิปเซตที่ใช้กับ iPhone ของตัวเอง ด้วยคำนี้ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา..
ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องพาย้อนกลับไปที่การตั้งชื่อชิปเซตรุ่นเก่า ๆ ของ Apple ในอดีตกันก่อน
หากย้อนกลับไปในช่วงแรก ๆ ที่ iPhone เพิ่งเปิดตัว Apple ไม่เคยให้ความสำคัญกับการตั้งชื่อของชิปเซต ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ในฐานะจุดขายทางการตลาดมากเท่าในปัจจุบัน
อย่าง iPhone รุ่นแรก ที่เปิดตัวในปี 2007 ใช้ชิปเซต ที่ถูกเรียกด้วยรหัสยาว ๆ ที่ไม่มีใครเข้าใจ อย่าง 1176JZ(F)-S v1.0 ซึ่งผลิตโดย Samsung
หรืออย่างใน iPhone 3GS ซึ่งเปิดตัวในปี 2009 ก็ใช้ชิปเซต ที่มีชื่อว่า S5PC100 ซึ่งผลิตโดย Samsung เช่นเดียวกัน
แต่หลังจากนั้นในปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่ Apple เปิดตัว iPhone 4
Apple ได้มีการเปลี่ยนวิธีการเรียกชิปเซตที่ใช้ใน iPhone เป็นครั้งแรก โดยตั้งชื่อให้คนทั่วไปจดจำได้ง่าย และกลายเป็นจุดขายทางการตลาดมาจนถึงปัจจุบัน..
โดย Apple จะตั้งชื่อชิปเซต ที่ใช้ใน iPhone ของตัวเอง โดยการใช้ตัวอักษร A คู่กับลำดับเลขรุ่นของชิปเซตนั้น ๆ
เริ่มตั้งแต่ชิปเซต Apple A4 ที่ใช้กับ iPhone 4 ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2010
หรืออย่างชิปเซต A5 ที่ใช้กับ iPhone 4S ซึ่งเปิดตัวในปี 2011
และชิปเซต A6 ที่ใช้กับ iPhone 5 ซึ่งเปิดตัวในปี 2012 เป็นต้น
หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบัน Apple ก็ยังใช้หลักการเดียวกันนี้ ในการตั้งชื่อชิปเซตมาโดยตลอด
ซึ่งชิปเซตรุ่นล่าสุด ของ Apple คือ Apple A16 Bionic ใช้กับ iPhone 14 Pro และ iPhone 14 Pro Max ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว
- ชื่อชิปเซตของ Apple บอกอะไรได้บ้าง ?
นอกเหนือจากชื่อชิปเซตของ Apple จะบอก “ลำดับ” ความเก่า-ใหม่ และความแรงของชิปเซต ที่ออกมาในแต่ละปี ตามลำดับตัวเลขได้แล้ว
Apple ยังมีเหตุผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการตั้งชื่อของชิปเซตอีก..
อย่างในช่วงที่ Apple เลือกตั้งชื่อชิปเซต ใน iPhone 4 ว่า Apple A4 นั่นก็เป็นเพราะ ในช่วงเวลานั้น Apple เพิ่งจะเปลี่ยนกลยุทธ์ในการผลิต iPhone จากการ “ซื้อ” ชิปเซตจาก Samsung
มาเป็นการออกแบบ และปรับแต่งชิปเซต ที่จะใช้กับ iPhone ด้วยตัวเอง
Apple จึงเลือกที่จะแสดงสัญลักษณ์ว่า ตัวเองเป็นผู้ออกแบบชิปเซต ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่นับว่ามีความสำคัญมากที่สุดชิ้นหนึ่งใน iPhone ด้วยตัวเอง
ด้วยการหันมาตั้งชื่อชิปเซต โดยการใช้ตัวอักษร A ตามด้วยลำดับเลขรุ่น เป็นครั้งแรก
และหลังจากนั้น ในปี 2016 Apple ก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงการตั้งชื่อชิปเซตของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง โดยยังคงเอกลักษณ์การใช้ตัวอักษร A ตามด้วยตัวเลข ที่แสดงถึงลำดับรุ่นของชิปเซตนั้น ๆ ไว้เช่นเดิม
แต่เพิ่มชื่อพิเศษ เข้ามาต่อท้าย ซึ่งในปีนั้น Apple เลือกที่จะตั้งชื่อชิปเซตที่ใช้กับ iPhone 7 ซึ่งเปิดตัวในปีนั้นว่า Apple A10 Fusion
ซึ่ง Fusion ก็เป็นคำที่ Apple เลือกใช้ เพื่อเป็น “จุดขายทางการตลาด” ที่สื่อถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ Apple ได้เลือกใช้กับชิปเซตรุ่นใหม่นี้ เป็นครั้งแรก
รวมถึงทำให้ชิปเซต Apple A10 Fusion ดูมีความแตกต่างจากชิปเซตรุ่นเก่า ๆ ของ Apple อีกด้วย
เพราะหากเจาะลึกไปที่คุณสมบัติของชิปเซต Apple A10 Fusion จะพบว่า เป็นชิปเซตรุ่นแรกของ iPhone ที่มีหน่วยประมวลผลแบบ 4-Core ซึ่งแบ่งเป็น 2-Core ที่ออกแบบมาเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง และอีก 2-Core ที่ออกแบบมาเพื่อการทำงานที่ประหยัดพลังงาน
Apple ระบุว่า ชิปเซต Apple A10 Fusion นี้ มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงกว่าชิปเซต Apple A9 ราว 50-60% เลยทีเดียว
นั่นหมายความว่า Apple ตั้งใจใช้ชื่อ Fusion โดยมีจุดประสงค์ทางการตลาด เพื่อแสดงให้เห็นว่าชิปเซตรุ่นใหม่ของตัวเอง มีความแตกต่างจากชิปเซตรุ่นเก่า ๆ
โดยเฉพาะกับผู้บริโภคทั่วไป ที่ไม่ได้มีความรู้เชิงลึกในด้านเทคโนโลยี คำว่า Fusion สามารถเข้ามาช่วยให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ รับรู้ถึงความแตกต่างได้ง่ายขึ้น แม้จะไม่มีความรู้เชิงลึกในด้านเทคโนโลยี เลยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ หลังจากนั้นเพียง 1 ปี หรือในปี 2017
Apple ก็ตัดสินใจทิ้งชื่อ Fusion ไป และนำคำว่า Bionic เข้ามาใช้แทน จนถึงปัจจุบัน
โดยชิปเซตรุ่นแรกของ Apple ที่ลบชื่อ Fusion ทิ้งไป คือชิปเซต Apple A11 Bionic ซึ่งใช้กับ iPhone 8, iPhone 8 Plus และ iPhone X ที่เปิดตัวพร้อมกันในปี 2017
คำถามคือ ทำไม Apple จึงเลือกตั้งชื่อชิปเซต ด้วยคำว่า Bionic และทิ้งคำว่า Fusion ไป ทั้งที่ใช้ได้เพียง 1 ปี ?
คำตอบก็เป็นเพราะ “จุดขายทางการตลาด” เช่นเดิม ที่ทำให้ Apple ตั้งชื่อชิปเซตของตัวเอง ด้วยคำว่า Bionic
Apple ตั้งใจให้คำว่า Bionic นี้ เป็นคำที่สื่อถึงหน่วยประมวลผล Neural Engine ซึ่งเป็นความสามารถใหม่ ที่เพิ่มเข้ามาในชิปเซต Apple A11 Bionic โดยเฉพาะ
หน่วยประมวลผล Neural Engine นี้ จะทำหน้าที่ประมวลผลด้าน Machine Learning และ AI ภายในตัวเครื่องโดยเฉพาะ และเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ในชิปเซตรุ่นเก่า ๆ ของ Apple
และสาเหตุที่ทำให้ Apple ไม่ได้คิดชื่อใหม่ ๆ แต่กลับใช้ชื่อ Bionic กับชิปเซตรุ่นใหม่ ๆ ของตัวเอง มาตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน
ก็เป็นเพราะ Apple ยังคงให้ความสำคัญ กับหน่วยประมวลผล Neural Engine นี้อยู่นั่นเอง
เพราะในปัจจุบัน หลาย ๆ ฟีเชอร์ใน iPhone รุ่นใหม่ ๆ ล้วนแล้วแต่อาศัยความสามารถในการประมวลผล ของหน่วยประมวลผล Neural Engine ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น
- การปลดล็อก iPhone ด้วย Face ID
- การจดจำใบหน้า
- การประมวลผลภาพ ซึ่งทำให้ภาพที่ถ่ายจาก iPhone มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น
- การจดจำเสียงของ Siri
- การแปลภาษา
- การแปลงเสียงพูด ให้กลายเป็นข้อความ (Text-to-Speech)
- การแปลงลายมือ ให้กลายเป็นข้อความ
- การสร้างคำบรรยายจากคลิปวิดีโอ โดยอัตโนมัติ
รวมถึงฟีเชอร์อื่น ๆ อีกมากมายใน iPhone ที่ล้วนแล้วแต่มีการประมวลผลของ Neural Engine อยู่เบื้องหลังแทบทั้งสิ้น
และในอนาคต ก็มีแนวโน้มว่า iPhone จะมีฟีเชอร์ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ โดยอาศัยการประมวลผลของ Neural Engine เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไม Apple จึงเลือกตั้งชื่อชิปเซตของตัวเอง โดยใช้คำว่า Bionic ต่อเนื่องมานานถึง 5 ปีแล้ว
เพราะนอกจากชื่อ Bionic จะเป็นการสร้าง “จุดขายทางการตลาด” ที่ช่วยสร้างลูกเล่น ให้กับชื่อชิปเซต ในมุมมองของผู้บริโภค ที่อาจไม่ได้มีความรู้เชิงลึก ในด้านเทคโนโลยี
ยังเป็นการบ่งบอกถึง “ทิศทาง” ของ Apple ที่ให้ความสำคัญ กับเทคโนโลยี Machine Learning และ AI ที่ทำให้เกิดเป็นฟีเชอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ให้กับผู้ใช้งาน iPhone ผ่านหน่วยประมวลผล Neural Engine ซึ่งอยู่ในชิปเซต ที่มีชื่อว่า Bionic ของ Apple นั่นเอง
และในอนาคต หาก Apple มีทิศทางการใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
เราก็อาจได้เห็นชิปเซตที่ใช้กับ iPhone เปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่ Bionic ก็เป็นได้..
อ้างอิง:
-https://www.konsyse.com/articles/purpose-of-apple-neural-engine-what-does-it-do/
-https://agaev/-vladimir.medium.com/what-is-apple-neural-engine-bfb2f53a0960
-https://www.trustedreviews.com/explainer/what-is-a-neural-engine-4264241
-https://apple.fandom.com/wiki/Neural_Engine
-https://www.pcmag.com/encyclopedia/term/bionic-chip
-https://www.phonearena.com/news/Here-is-what-Bionic-means-for-the-new-Apple-A11-chip-in-the-iPhone-X_id98205
-https://www.theverge.com/2017/9/19/16323570/apple-new-iphone-8-review-plus-2017
-https://www.zdnet.com/article/a10-fusion-the-silicon-powering-apples-new-iphone-7-and-iphone-7-plus/
-https://en.wikipedia.org/wiki/IPhone_(1st_generation)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.