กรณีศึกษา ฝั่งธนฯ เป็นทำเลทองด้วยรถไฟฟ้า

กรณีศึกษา ฝั่งธนฯ เป็นทำเลทองด้วยรถไฟฟ้า

18 ก.พ. 2020
หากย้อนกลับไป 10 กว่าปีที่แล้ว ที่ดินย่านฝั่งธนฯ
ทำเลระดับ 5 ดาว เช่น ติดถนนเจริญนคร,ถนนกรุงธนบุรี
มีราคาขายอยู่ที่ 85,000 - 130,000 บาท/ตารางวา
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ณ ปัจจุบัน กรมธนารักษ์ประเมินราคาที่ดิน 2 ถนนนี้
อยู่ที่ 135,000 - 450,000 บาท/ตารางวา
จะเห็นว่าในเวลา 10 กว่าปีราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 59% - 246% เลยทีเดียว
และไม่ใช่แค่นั้น...ข้อมูลจากกรมธนารักษ์ยังระบุว่า
ทำเลอื่นๆ ในย่านฝั่งธนฯ ราคาขายก็ขยับขึ้นตามๆ มาด้วย
แน่นอนเรื่องนี้ย่อมต้องมี “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้ทำเลย่านฝั่งธนฯ ถูกตาต้องใจ
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ให้ชอปปิงที่ดินกันเป็นว่าเล่น
พร้อมกับมองเกมว่า “ฝั่งธนฯ” กำลังจะเปลี่ยนไป อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ซึ่งตัวแปรนั้นคือ “รถไฟฟ้า มาหาฝั่งธนฯ”
จุดเปลี่ยนแรกสุดคือในปี 2552 ที่รถไฟฟ้า BTS วิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้วยส่วนต่อขยายจากสถานีตากสิน - วงเวียนใหญ่
ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดประตูเชื่อมต่อให้คนย่านฝั่งธนฯ ไปยังฝั่งพระนครได้สะดวกขึ้น
จากแต่เดิมการที่คนฝั่งธนฯ จะขึ้นรถไฟฟ้า BTS ต้องนั่งรถประจำทางแล้วมาต่อเรือข้ามฝากมายังสถานีตากสิน
เหลือแค่เดินทางด้วยรถอย่างเดียวหรือบางคนที่อยู่ใกล้สถานีกรุงธน, วงเวียนใหญ่
ก็สามารถเดินมาขึ้นรถไฟฟ้า BTS ได้เลย
แต่ที่ทำให้ใครๆ ก็เริ่มสนใจฝั่งธนฯ ก็คือการเปิดตัว “ไอคอน สยาม” บนถนนเจริญนคร
มูลค่า 54,000 ล้านบาท ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง สยามพิวรรธน์, CP และ แมกโนเลีย
ซึ่ง ณ วันนี้ถือเป็นโครงการที่สร้างเสร็จและมีมูลค่าแพงที่สุดในประเทศไทย
อีกทั้งทาง “ไอคอนสยาม” ยังผลักดันให้ทาง กทม. สร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเชื่อมต่อ
กับรถไฟฟ้า BTS สถานีกรุงธนวิ่งเข้าสู่ ไอคอนสยาม
โดยจะเป็นผู้ออกค่าก่อสร้างเองทั้งหมด 2 พันล้านบาท โดยมีบริษัท กรุงเทพธนาคม
เป็นผู้ก่อสร้างซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้
แต่...เชื่อหรือไม่ว่าปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นเพียงแค่หยดน้ำสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ เท่านั้น
เพราะฝั่งธนฯ ณ วันนี้ มีสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT รวมๆ กันเกือบ 20 สถานี
จากแต่เดิมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วไม่มีสักสถานีเดียว
แล้วเกือบๆ 20 สถานี ก็ทำให้คนฝั่งธนฯ เดินทางไปไหนได้สะดวกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ไม่ว่าจะเดินทางเข้าตัวเมืองไปยังฝั่งพระนครเช่น สีลม, สยาม, อโศก, หมอชิต
หรือจะเดินทางมาถึงสถานีเตาปูน เพื่อเปลี่ยนสถานีมายังรถไฟฟ้าสายสีม่วงเดินทางไปยัง นนทบุรี
สรุปง่ายๆ ก็คือ รถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT
ได้เปลี่ยนการเดินทางไปไหนต่อไหนของคนฝั่งธนฯ ให้ง่ายขึ้น อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เราเห็นการเลี่ยนแปลงอะไรบ้างในย่านฝั่งธนฯ ?
ที่เห็นชัดสุดคือ โครงการคอนโดเกิดขึ้นมากมาย แทนที่อาคารพาณิชย์เก่าๆ, ที่ดินว่างเปล่าริมถนน
หรือแม้ตลาดสดและตลาดนัดที่ประสบปัญหาขาดทุน
จนทำให้ในปี 2559 - 2560 เขตธนบุรี ที่เป็นหนึ่งใน 15 เขตของฝั่งธนฯ
ครองอันดับ 1 ในการเปิดตัวคอนโดมิเนียมมากที่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
แล้วภาพในอนาคตของฝั่งธนฯ ที่มีประชากร 1.76 ล้านคน
และมีพื้นที่ 450 ตารางกิโลเมตร จะมีหน้าตาเป็นแบบไหน
แน่นอน ความเจริญจะยังเข้ามาอีกอย่างไม่ขาดสาย
เพียงแต่คงไม่ทัดเทียมกับพื้นที่ฝั่งพระนครที่มี 35 เขต
ที่ทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชนพัฒนาที่ดินและคมนาคมมาก่อนหน้านี้
แต่...สิ่งที่ฝั่งธนฯ ดูเหนือกว่า ฝั่งพระนคร
นั่นคือ ความคลาสสิกที่ผสมผสานกับความเป็นเมืองได้อย่างดูเนียนตา
เราได้เห็นร้านอาหารต้นตำรับแสนอร่อยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีอยู่หลายร้าน
เราสามารถเดินทางไปชอปปิงตลาดน้ำตลิ่งชันที่เสมือนหลุดไปอยู่ในอดีต
อีกทั้งเรื่องที่ใครหลายคนยังไม่รู้คือฝั่งธนฯ ยังมีพื้นที่เกษตรกรรมรวม
กว่า 4,000 ไร่ และมีบ่อปลา นากุ้ง หลายแห่งในเขตบางขุนเทียน ให้เราไปชื่นชมวิถีชีวิต
เพราะฉะนั้นหากเปรียบทำเลย่านฝั่งธนฯ ในเวลานี้ เป็นอาหารจานหนึ่ง
รสชาติอาหารจานนี้ เป็นความเจริญที่ Mix กับความคลาสสิก ได้อย่างมีรสชาติกลมกล่อม
ปิดท้ายข้อมูลที่น่าสนใจ : ศุภาลัย ถือเป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับต้นๆ ที่ให้ความสนใจย่านทำเลฝั่งธนฯ มายาวนาน เพราะมีทั้งโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว ขายอย่างต่อเนื่อง
โดย ณ เวลานี้ ศุภาลัย มีโครงการที่เปิดขาย 27 โครงการย่านฝั่งธนฯ แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 18 โครงการและคอนโด 9 โครงการ
Reference :
กรมธนารักษ์
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
MGR Online
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.