ผลวิจัยจากสำนักข่าว Reuters เผย คนไทย บริโภค “ข่าว” จาก TikTok มากกว่าประเทศอื่นในโลก

ผลวิจัยจากสำนักข่าว Reuters เผย คนไทย บริโภค “ข่าว” จาก TikTok มากกว่าประเทศอื่นในโลก

15 มิ.ย. 2023
TikTok เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยอย่างมหาศาล ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 35.8 ล้านคน
หรือคิดง่าย ๆ ว่า “ครึ่งหนึ่ง” ของประชากรไทย เป็นผู้ใช้งาน TikTok
ล่าสุด สำนักข่าว Reuters ได้เผยแพร่ผลการวิจัย Digital News Report ประจำปี 2023 โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความนิยมในการบริโภคข่าวสารของคนทั่วโลก เปลี่ยนไปจากเดิม
จากที่เคยบริโภคข่าวสาร จากช่องทางต่าง ๆ ของสำนักข่าวโดยตรง เช่น เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน เปลี่ยนเป็นการบริโภคข่าวสารผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบน TikTok ที่ Reuters พบว่า คนที่มีอายุ 18 - 24 ปี กว่า 20% ใช้ TikTok เพื่อบริโภคข่าว
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้คนทั่วโลก นิยมบริโภคข่าวผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบ “อัลกอริทึม” ที่แนะนำข่าวสารต่าง ๆ ให้เลือกอ่านหรือดู ได้ตรงกับความต้องการ และสนใจ
นอกจากนี้ ผลการวิจัยของ Reuters ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการบริโภคข่าวของคนไทยด้วยว่า..
คนไทย มีการบริโภคข่าวผ่านทาง TikTok ในสัดส่วนที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก
โดยกว่า 30% ของผู้ใช้งาน TikTok ในไทย ใช้ TikTok เพื่อบริโภคข่าว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ใกล้เคียงกับเคนย่า และเปรู ที่มีการบริโภคข่าว ผ่านทาง TikTok ในสัดส่วน 29% และ 30% ตามลำดับ
ส่วนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมีการบริโภคข่าว ผ่านทาง TikTok ในสัดส่วนที่น้อยกว่าไทย แต่ก็นับว่าสูงอยู่ดี
- ฟิลิปปินส์ 21%
- มาเลเซีย 24%
- อินโดนีเซีย 22%
ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่มีการบริโภคข่าว ผ่านทาง TikTok น้อยที่สุด ได้แก่
เดนมาร์ก สัดส่วน 2%
ญี่ปุ่น สัดส่วน 3%
และเยอรมนี สัดส่วน 3%
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ไทย กลายเป็นประเทศที่ชอบบริโภคข่าว ผ่านทาง TikTok ในสัดส่วนที่สูงถึง 30%
ก็เป็นเพราะ พฤติกรรมของคนไทย กว่า 40% ที่ชอบบริโภคข่าว ด้วยการดูคลิปวิดีโอข่าว มากกว่าการอ่านข่าวนั่นเอง..
แม้ว่า Reuters จะพบว่า พฤติกรรมการบริโภคข่าวของคนไทย ด้วยการดูคลิปวิดีโอ จะขัดแย้งกับสถิติการอ่านของคนไทย ที่ Reuters พบว่าไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้เวลาไปกับการอ่านที่ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ Reuters ยังวิเคราะห์ด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้คนไทย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพฤติกรรมนิยมดูคลิปวิดีโอข่าว บน TikTok
อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ อายุของประชากรที่น้อย ค่าใช้จ่ายในการใช้งานอินเทอร์เน็ตมีราคาไม่สูง รวมถึงด้านเสรีภาพในการแสดงออกในโลกออนไลน์ ที่ทำไปสู่การสร้างสรรค์รายการ ที่มีความอิสระมากกว่า นั่นเอง..
ซึ่งจากผลการวิจัยที่ Reuters พบ จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมในช่วงหลัง ๆ มานี้ เราจึงมักเห็นผู้ประกาศข่าว สำนักข่าวออนไลน์ หรือแม้แต่ช่องทีวีต่าง ๆ เริ่มนำคลิปวิดีโอรายการข่าวของตัวเอง มาเผยแพร่บน TikTok กันมากยิ่งขึ้น
ไม่เว้นแม้แต่คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวเบอร์ต้น ๆ ของไทย ที่เริ่มไลฟ์บน TikTok อยู่เป็นประจำ..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.