เจาะเทรนด์ “ช็อปปิงออนไลน์” ของคนไทย ในปี 2023 เว็บไซต์แบรนด์ มาแรงไม่แพ้มาร์เก็ตเพลส

เจาะเทรนด์ “ช็อปปิงออนไลน์” ของคนไทย ในปี 2023 เว็บไซต์แบรนด์ มาแรงไม่แพ้มาร์เก็ตเพลส

30 มิ.ย. 2023
Wunderman Thompson ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการช็อปปิงออนไลน์ของคนไทย ในปี 2023 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คน
สิ่งที่น่าสนใจ มากที่สุด ก็คือ ในปี 2023 นี้ การช็อปปิงออนไลน์ของคนไทย กลายเป็นพฤติกรรม “ปกติ” ที่ใคร ๆ ก็ทำ ไม่ใช่ “เทรนด์” อีกต่อไป ทำให้แบรนด์ หรือคนทำธุรกิจ จำเป็นต้องปรับตัว
ในวันนี้ MarketThink จะพาไปเจาะลึก ถึงพฤติกรรมการช็อปปิงออนไลน์ ของคนไทย ที่เปลี่ยนไป ในปี 2023 นี้
ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า การที่ Wunderman Thompson ระบุว่า การช็อปปิงออนไลน์ของคนไทย กลายเป็นเรื่องปกติ
ก็เป็นเพราะในปี 2022 ที่ผ่านมา คนไทยกว่า 92% ให้ความเห็นว่า ตัวเองมีความคุ้นเคย กับโลกดิจิทัล
ในขณะที่ในปี 2023 นี้ คนไทยกว่า 31% ยอมรับว่า ความคุ้นเคยที่ว่านี้ ไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือลดลงเลย
แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมการช็อปปิงออนไลน์ของคนไทย อยู่ในจุดที่เกือบ “คงที่” แล้ว
และในวันนี้ ก็แทบไม่มีคนไทย ที่ไม่ช็อปปิงออนไลน์ แต่เลือกที่จะช็อปปิงผ่านหน้าร้านออฟไลน์เพียงอย่างเดียว หลงเหลืออยู่อีกเลย
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ความคาดหวังของคนไทย ต่อการช็อปปิงออนไลน์ จะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ
ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด ก็คือ กลุ่มคน Gen Z และ Gen Y จะให้ความสำคัญกับการจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว
และโดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยกว่า 42% มีความคาดหวังที่จะได้รับสินค้า ในระยะเวลาเฉลี่ย 2 - 3 วัน
และมีผู้บริโภคบางส่วนเช่นกัน ที่คาดหวังว่าจะได้รับสินค้าภายใน 12 ชั่วโมง เพิ่มสูงขึ้นถึง 30%
และ 30% ของกลุ่มคน Gen Z คาดหวังว่าจะมีการจัดส่งสินค้าภายใน 1 ชั่วโมง
ในขณะที่กลุ่มคนที่มีอายุมากขึ้น จะให้ความสำคัญกับ ความคุ้มค่า และราคา เป็นหลัก
หรือนั่นก็หมายความว่า ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีความอดทน ในการรอสินค้าที่มากขึ้น ตามไปด้วย
ส่วนในด้าน Customer Journey ในการช็อปปิงออนไลน์ ของผู้บริโภคชาวไทยนั้น Wunderman Thompson พบว่า มีความหลากหลายมากกว่าเดิม
โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ Inspiration, Search และ Purchase
- Inspiration หรือแรงบันดาลใจ ที่กระตุ้นความรู้สึก “อยากซื้อ”
โดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มาร์เก็ตเพลส และเสิร์ชเอนจิน ยังคงมีความสำคัญ ในการกระตุ้นความรู้สึกอยากซื้อ ของผู้บริโภค
แต่ด้วยประเด็นด้านความน่าเชื่อถือ ที่ผู้บริโภคกว่า 76% ยอมรับว่า พวกเขาเคยพบผลิตภัณฑ์ หรือคอมเมนต์เกี่ยวกับของปลอมจากมาร์เก็ตเพลส
ทำให้ผู้บริโภคชาวไทย เริ่มนิยมหาแรงบันดาลใจในการซื้อสินค้า จากเว็บไซต์เปรียบเทียบสินค้า และราคา เว็บไซต์ทางการของแบรนด์ และจากหน้าร้านมากยิ่งขึ้น
- Search การค้นหาข้อมูลของสินค้า ในช่องทางต่าง ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
โดยหากแยกตามประเภทของสินค้า จะพบว่าผู้บริโภคนิยมค้นหาข้อมูล ตามช่องทางดังต่อไปนี้
1. สินค้าเสื้อผ้า และของใช้ภายในบ้าน นิยมค้นหา ผ่านแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส
2. สินค้าเพื่อสุขภาพ และยา นิยมค้นหา ด้วยการสอบถามที่ร้านค้าโดยตรง
3. สินค้าทางการเงิน นิยมค้นหาจากเสิร์ชเอนจิน เป็นส่วนใหญ่
- Purchase หรือการซื้อสินค้า
ที่ในปีนี้ พบว่า แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส อย่าง Shopee แม้จะยังคงเป็นช่องทางการซื้ออันดับต้น ๆ แต่ก็มีทิศทางลดลง
ในขณะที่แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสอื่น ๆ อย่าง Lazada, 7-Eleven Online เว็บไซต์รีเทลของห้างสรรพสินค้า และเว็บไซต์ทางการของแบรนด์ มีการเติบโตขึ้น
และที่สำคัญก็คือ ในปีนี้ Wunderman Thompson พบว่า ผู้บริโภคชาวไทย ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ทางการของแบรนด์ บ่อยกว่าโซเชียลมีเดีย
ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะข้อมูล และเนื้อหา ที่มีคุณภาพ มีความชัดเจน และถูกต้อง รวมถึงมีราคาที่ดีกว่า มีโปรโมชันการจัดส่งฟรี เป็นปัจจัยสำคัญ ในการเลือกซื้อสินค้าโดยตรงจากแบรนด์ เมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ
นอกจากนี้ Wunderman Thompson ยังพบด้วยว่า ผู้บริโภคชาวไทย ที่เลือกช็อปปิงออนไลน์ มีความต้องการในด้านความสะดวก ความง่าย และความหลากหลายในการชำระเงิน
อีกทั้งยังต้องการประสบการณ์ การช็อปปิงที่ทันสมัย ด้วยเทคโนโลยี และมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
เพราะการช็อปปิงออนไลน์ ได้เปลี่ยนจากความจำเป็นต่อการใช้งาน ไปสู่ “Retail Therapy” ที่ให้ความรื่นรมย์เติมเต็มความสุขของวัน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทำให้ผู้บริโภคในยุคนี้ จึงต้องการการช็อปปิงที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อมอบประสบการณ์ ความบันเทิงให้กับพวกเขามากขึ้น อีกด้วย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.