กรณีศึกษา การขาดทุนน้อยลง ที่น่าเป็นห่วงของ นกแอร์

กรณีศึกษา การขาดทุนน้อยลง ที่น่าเป็นห่วงของ นกแอร์

10 มี.ค. 2020
หลายคนอาจเห็นข่าวสายการบิน นกแอร์ กำลังขาดทุนน้อยลง
โดยในปีที่ผ่านมาขาดทุน 1,714 ล้านบาท ลดลง 13.5% หากเทียบกับปีก่อน
มองดูผิวเผินอาจคิดว่า นกแอร์ น่าจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามภาพรวมอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะค่าโดยสารซึ่งเป็นรายได้หลัก 80%
หากเราดูข้อมูลเชิงลึก ก็จะรู้ว่ากำลังคิดผิดถนัดเพราะในปี 2562 ที่ผ่านมา
นกแอร์ มีจำนวนผู้โดยสาร 8.25 ล้านคน ลดลง 7%
ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ รายได้จากค่าโดยสารอยู่ที่ 11,228 ล้านบาท ลดลงไป 6.5%
จะเห็นว่านกแอร์เลือกที่จะมีรายได้น้อยลง สวนอุตสาหกรรม
ทำไม นกแอร์ ถึงทำเช่นนั้น
เหตุผลเพราะ นกแอร์ รู้ว่าการแข่งขันในธุรกิจสายการบินเป็น “สงครามราคา”
ใครราคาถูกกว่าก็มักจะเป็นตัวเลือกอันดับแรกของลูกค้า
อีกทั้ งแข่งลดราคาไปแข่งลดราคามา ผู้โดยสารก็ไม่ได้เต็มเครื่อง เหมือนอย่างในอดีต
เพราะแต่ละเส้นทางการบิน ลูกค้าก็มีตัวเลือกมากขึ้น
เมื่อเห็นสภาพธุรกิจ
นกแอร์ ก็เลือกจะลดต้นทุนหลายๆ อย่าง เพื่อไม่ต้องแบกรับต้นทุนหนักๆ เหมือนในอดีต
ลดจำนวนเครื่องบินจาก 25 ลำ เหลือ 24 ลำ
ซึ่งทำให้ช่วยลดค่าอะไหล่ในการซ่อมเครื่องบินไปในตัว
ขณะเดียวกันก็ยังควบคุมต้นทุนบริการลูกค้าในภาคพื้นดิน
ไม่ให้มีค่าใช้จ่ายสูงเหมือนในอดีต
ที่น่าสนใจ นกแอร์ก็พยายามที่จะบินและลงจอดให้ตรงต่อเวลามากขึ้น
เพราะรู้ว่านอกจากจะเป็น “จุดอ่อน” ที่ทำให้ตัวเองสูญเสียลูกค้าไปไม่น้อยแล้วนั้น
การดีเลย์เป็นเวลานานและบ่อยครั้ง ก็ต้องควักเงินเสียค่าปรับและค่าชดเชยให้แก่ลูกค้าด้วย
และดูเหมือน นกแอร์ รวมถึงสายการบินอื่นๆ จะโชคดีไม่น้อยเมื่อราคาน้ำมันสำหรับเครื่องบิน
ในปี 2562 มีราคาเฉลี่ย 77.73 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
ซึ่งหากเทียบกับปี 2561 มีราคาถูกลง 9%
ผลลัพธ์ของการรัดเข็มขัดรอบด้านและต้นทุนน้ำมันที่ถูกลง
ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจของ นกแอร์ ลดลงไปมากพอสมควร
โดยมีต้นทุนรวมทั้งหมด 14,422 ล้านบาท
ขณะที่ในปี 2561 อยู่ที่ 16,289 ล้านบาท ลดลงไป 11%
คำถามแล้ว นกแอร์ จะลดต้นทุนตัวเองต่อไปเรื่อยๆ อีกนานไหม
เพราะอย่าลืมว่าวิธีนี้ หากใช้เกินความพอดี
อาจทำให้ลูกค้าเกิดความไม่พอใจในบริการของนกแอร์
พร้อม ปันใจ ไปตีตั๋วโดยสารสายการบินคู่แข่ง อย่างไม่มีความลังเล
และผลลัพธ์ที่ได้จากแผนการฟื้นฟูธุรกิจในครั้งนี้
ก็คือแม้ นกแอร์ จะมีต้นทุนลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่รายได้ก็อาจจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน
สุดท้ายก็ไม่รู้ว่า นกแอร์ จะมีกำไรในการทำธุรกิจวันไหน
ยิ่งเมื่อมาดูหนี้สินที่ นกแอร์ ก่อไว้เป็นกองใหญ่มูลค่า 18,639 ล้านบาท
ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 9% หากเทียบกับปีที่แล้ว
ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงว่า นกแอร์ จะหลุดพ้นจากน่านฟ้าที่เต็มไปด้วยมรสุม
ซึ่งก็ยังไม่รู้ ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร
อ้างอิง : คำอธิบายและการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน ปี 2562 (เฉพาะสายการบิน นกแอร์ ไม่รวม นกสกู๊ต)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.