วิเคราะห์ ทำไม Threads จึงพ่ายแพ้ ให้กับ Twitter แม้จะเปิดตัวแรง ในช่วงแรก

วิเคราะห์ ทำไม Threads จึงพ่ายแพ้ ให้กับ Twitter แม้จะเปิดตัวแรง ในช่วงแรก

21 ก.ค. 2023
100 ล้านบัญชี คือสถิติจำนวนผู้ใช้งานที่ Threads แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียน้องใหม่ ของ Meta ทำได้ ภายในระยะเวลา 4 วัน หลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ตัวเลขสถิติที่ Threads ทำได้นี้ นับว่าน่าตื่นเต้นไม่น้อย เมื่อเทียบกับสถิติของแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่กว่าจะมีผู้ใช้งานอยู่ในระดับ 100 ล้านบัญชีได้ ต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่ามาก เช่น
- Twitter ใช้เวลา 5 ปี 5 เดือน 
- Facebook ใช้เวลา 4 ปี 6 เดือน
- Instagram ใช้เวลา 2 ปี 6 เดือน
- TikTok ใช้เวลา 9 เดือน
- ChatGPT ใช้เวลา 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Meta จะประสบความสำเร็จกับ Threads ในช่วงเปิดตัวอย่างล้นหลาม จนถูกจับตามองว่า Threads น่าจะแย่งฐานผู้ใช้งานจาก Twitter ที่กำลังเจอปัญหามากมาย ได้ไม่ยาก
แต่ล่าสุด เรื่องนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ อย่างที่หลายคนเคยคิด อีกต่อไปแล้ว..
เพราะจากข้อมูลปัจจุบัน พบว่า จำนวนผู้ใช้งานประจำวัน (Daily Active Users) ของ Threads ลดลง จาก 49 ล้านบัญชี เหลือเพียง 23.6 ล้านบัญชี ภายในระยะเวลาเพียง 7 วัน
ในขณะที่ ระยะเวลาการใช้งานเฉลี่ย ก็ลดลงจาก 21 นาทีต่อวัน เหลือเพียง 6 นาทีต่อวัน เท่านั้น..
หรือนั่นก็หมายความว่า กระแสของ Threads มาแรง เพียงแค่ช่วงแรก ๆ ที่คนทั่วโลก “เห่อ” กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็นของใหม่
แต่กลับไม่สามารถดึงดูดให้ผู้ใช้งาน อยู่ในแพลตฟอร์มได้ในระยะยาว..
ซึ่งในบทความนี้ MarketThink จะพาไปเจาะลึก ถึงสาเหตุเบื้องหลัง ที่ทำให้กระแสของ Threads มาแรงในช่วงแรก ๆ แต่กลับหายไป อย่างรวดเร็ว
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า การจะแย่งฐานผู้ใช้งานจาก Twitter นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องยอมรับกันตามตรงว่า Twitter เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีความเก่าแก่ และก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2006
ทำให้ Twitter ไม่ใช่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียธรรมดา ๆ แต่เป็นเหมือน “สังคม” ที่ผู้ใช้งานมีความผูกพัน และสร้างฐานผู้ติดตามที่รู้จักกัน มาอย่างยาวนานนับ 10 ปี
รวมถึงปัจจัยทางด้านความเคยชินกับการใช้งานและฟีเชอร์ ของ Twitter ทำให้การ “หักดิบ” เปลี่ยนมาใช้งาน Threads ทดแทนในทันที อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ
แต่สาเหตุที่ทำให้ Threads มีจำนวนผู้ใช้งานเกิน 100 ล้านบัญชี ภายในระยะเวลาเพียง 4 วัน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความ “ง่าย” ในการสร้างบัญชีผู้ใช้งาน
ที่ Meta ตั้งใจทำให้บัญชีผู้ใช้งานของ Threads เชื่อมต่อเข้ากับบัญชีผู้ใช้งานของ Instagram ที่มีอยู่เดิม
ทำให้ผู้ใช้งาน Instagram เดิมที่มีอยู่ในหลักพันล้านบัญชี สามารถใช้งาน Threads ได้ทันที
แต่ความง่ายที่ว่านี้ ก็ตามมาด้วย “ข้อเสีย” ที่เป็นเหมือนดาบสองคม เช่นเดียวกัน
เพราะอย่าลืมว่า ทั้ง Instagram และ Threads เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดย Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นการโพสต์รูปภาพ คลิปวิดีโอ และคลิปวิดีโอสั้น
ในขณะที่ Threads เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่เน้นไปยังการโพสต์ข้อความตัวอักษร เป็นหลัก
นั่นทำให้ “กลุ่มเป้าหมาย” ของ Instagram และ Threads แตกต่างกัน กล่าวคือ ผู้ที่ชอบใช้ Instagram ไม่ได้จำเป็นต้องชอบใช้ Threads ตามไปด้วย
และคงมีผู้ใช้งาน Instagram จำนวนไม่น้อย ที่เลิกใช้ Threads หลังจากได้ทดลองใช้งานมาสักพักหนึ่ง และค้นพบว่า Threads ไม่ใช่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ตรงกับแนวทางของตัวเอง
นอกจากนี้ การเชื่อมต่อระหว่างบัญชีผู้ใช้งานของ Instagram และ Threads นั้น ยังมีข้อเสียที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ
แม้ผู้ใช้งาน Instagram หลาย ๆ คน อาจเป็นผู้ใช้งาน Twitter ไปพร้อม ๆ กัน 
แต่ต้องยอมรับว่า “ตัวตน” ของผู้ใช้งาน ที่แสดงออกบนแต่ละแพลตฟอร์มนั้น มีความแตกต่างกันไป
ทำให้ผู้ใช้งาน Threads อาจไม่สบายใจ ที่จะให้ผู้ติดตาม ซึ่งเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนใกล้ตัว ของตัวเอง ที่เคยติดตามกันบน Instagram เห็นคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่อยู่บน Threads ก็เป็นได้
ในขณะที่ Twitter เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีความเป็นอิสระ ไม่ได้เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ นั่นหมายความว่า ผู้ใช้งาน Twitter สามารถแสดงตัวตนของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่มากกว่า
ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่ทดลองใช้งาน Threads ทดแทน Twitter ก็อาจตัดสินใจย้ายกลับมาใช้งาน Twitter เช่นเดิม
ยิ่งไปกว่านั้น ระบบอัลกอริทึม ที่ใช้ในการคัดเลือกคอนเทนต์ มาแสดงที่หน้าฟีดของ Threads ก็มีส่วนเช่นเดียวกัน
เพราะหากลองใช้เวลาสัก 5 นาที ไปกับการเลื่อนดูคอนเทนต์ที่หน้าฟีด จะพบว่า หน้าฟีดของ Threads เต็มไปด้วยคอนเทนต์ จากทั้งดารา นักแสดง และอินฟลูเอนเซอร์ ที่เราไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว และไม่เคยกดติดตามทั้งสิ้น
แถม Threads ยังไม่มีฟีเชอร์ที่ให้ผู้ใช้งาน เลือกดูเฉพาะคอนเทนต์จากผู้ที่กดติดตามเพียงอย่างเดียว
ซึ่งปัญหานี้ ทำให้ผู้ใช้งาน เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองไม่มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้อง กับสังคมของ Threads เลย
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ เทรนด์การบริโภคคอนเทนต์ ของคนในยุคปัจจุบัน “เปลี่ยนไป” จากเดิมที่เคยนิยมบริโภคคอนเทนต์ประเภทข้อความตัวอักษร และรูปภาพ
สู่การบริโภคคอนเทนต์ประเภทคลิปวิดีโอ และคลิปวิดีโอสั้น กันมากขึ้น เห็นได้จากการเติบโตของแพลตฟอร์มอย่าง TikTok และ Instagram Reels ในช่วงที่ผ่านมานี้
แม้แต่ Twitter เอง ก็ถูกแพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้น ทั้ง TikTok และ Instagram Reels แย่งเวลาการใช้งานไปด้วยเช่นกัน
ทำให้ Threads ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียน้องใหม่ ที่เน้นการสื่อสารผ่านข้อความตัวอักษร อาจไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มที่คนในยุคนี้ต้องการเพิ่มมากนัก เพราะ Twitter ก็ครองตลาดนี้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อนำปัจจัยทั้งหมดมารวมกัน จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่ทำไม Threads จึงมีจำนวนผู้ใช้งานที่สูงมากจนทำลายสถิติในช่วงแรก
ก่อนจะลดลงมา สู่ระดับ “ความเป็นจริง” ในช่วงหลัง เพราะหลังจากที่ได้ทดลองใช้ Threads ด้วยกระแสที่มาแรง ใคร ๆ ก็ต้องลองเล่น
กลับพบว่า Threads นั้น ยังไม่มีจุดเด่น และลักษณะเฉพาะตัวที่มากพอ ที่จะดึงดูดให้ผู้ใช้งาน อยู่บนแพลตฟอร์ม ในระยะยาว..
อ้างอิง:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.