กรณีศึกษา Keychron แบรนด์คีย์บอร์ด ที่เปลี่ยนสินค้าเฉพาะกลุ่ม ให้ครองใจคนจำนวนมาก

กรณีศึกษา Keychron แบรนด์คีย์บอร์ด ที่เปลี่ยนสินค้าเฉพาะกลุ่ม ให้ครองใจคนจำนวนมาก

31 ก.ค. 2023
หากใครที่คลุกคลีอยู่ในวงการไอที เป็นเกมเมอร์หรือโปรแกรมเมอร์ คงต้องเคยได้ยินชื่อแบรนด์คีย์บอร์ด “Keychron (คีย์ครอน)” ผ่านหูกันมาบ้าง
แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่คุ้นกับชื่อนี้ ต้องขออธิบายเพิ่มว่า Keychron คือแบรนด์คีย์บอร์ดแบบ “Mechanical Keyboard” ซึ่งแบรนด์มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน
โดยคีย์บอร์ดประเภทนี้ จะแตกต่างจากคีย์บอร์ดทำงานทั่วไปที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน 
เพราะผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งเสียง สี และแรงสัมผัสของปุ่มกด ได้เองตามใจชอบ
ที่น่าสนใจคือ Keychron ถือเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่เข้ามาปลุกกระแสของตลาด Mechanical Keyboard นี้ ให้กลายเป็นสินค้าที่ไม่ใช่แค่ครองใจคนรักไอทีเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าไปนั่งในใจของคนทั่ว ๆ ไป ในวงกว้าง อีกด้วย
คำถามที่ตามมาคือ แล้ว Keychron มีกลยุทธ์อะไร  
ในการเปลี่ยนสินค้าที่ “Niche” หรือเฉพาะกลุ่ม ให้กลายเป็นสินค้าที่ค่อนข้าง “Mass” ได้ ? 
ในบทความนี้ MarketThink จะพาไปหาคำตอบกัน..
แบรนด์ Keychron ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดยกลุ่มเพื่อน 3 คน ที่หลงใหลและเชี่ยวชาญในวงการคีย์บอร์ด ได้แก่ คุณ Will Ye, คุณ Sven Zhu และคุณ Nick Xu
โดยทั้ง 3 คนต่างเป็นสาวก Apple และคุ้นชินกับการใช้แป้นพิมพ์แบบ Mac มาโดยตลอด..
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งของการใช้งานคีย์บอร์ด Mac ที่แอบขัดใจพวกเขาอยู่บ่อย ๆ นั่นคือ มันเป็นคีย์บอร์ดประเภทปุ่มยาง
ซึ่งคีย์บอร์ดประเภทนี้จะไม่ค่อยคงทน และมักเกิดอาการรวน เมื่อกดหลายปุ่มพร้อมกัน อีกทั้งหากมีปุ่มใดเสียหายจะต้องเปลี่ยนแป้นพิมพ์ยกทั้งแผง เนื่องจากคีย์บอร์ดชนิดนี้ใช้แผ่นวงจรร่วมกัน
พอเป็นแบบนี้ ทั้ง 3 คนจึงคุยกันว่า อยากได้คีย์บอร์ดดี ๆ สักอันมาใช้ทำงาน 
ซึ่ง Mechanical Keyboard ก็ดูจะตอบโจทย์ความต้องการที่พวกเขากำลังตามหา..
เพราะคีย์บอร์ดประเภทนี้ มีกลไกการทำงานแบบสวิตช์ ที่ปุ่มกดแต่ละปุ่ม จะแยกการทำงานกันอย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อมีปุ่มใดเสียหาย ก็สามารถซ่อมแยกปุ่มได้ และทนทานกว่าคีย์บอร์ดปุ่มยาง 
แถมให้อรรถรสในการพิมพ์ที่สนุกและมันมือกว่า
อย่างไรก็ตาม แม้พวกเขาจะรู้แล้วว่า คีย์บอร์ดประเภทไหนตอบโจทย์พวกเขา ที่ต้องใช้งานคีย์บอร์ดบ่อย ๆ
แต่ยังติดปัญหาตรงที่ว่า ตลาด Mechanical Keyboard ในตอนนั้น ยังไม่รองรับการใช้งานกับ Mac และ iOS อีกทั้งดิไซน์ของคีย์บอร์ดส่วนใหญ่ ก็มีสีที่ฉูดฉาดเกินไป ซึ่งขัดกับสไตล์มินิมัลที่พวกเขาชื่นชอบ
ดังนั้น เมื่อในตลาดไม่มีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการได้.. พวกเขาจึงตัดสินใจสร้างคีย์บอร์ดขึ้นมาเอง จนเกิดเป็นแบรนด์ “Keychron” ในที่สุด
โดย Keychron ถือเป็นผู้ผลิต Mechanical Keyboard แบรนด์แรก ที่บุกเบิกฟังก์ชันการทำงานที่รองรับทั้งระบบ Mac, iOS, Windows, Android และ Linux
เมื่อได้คอนเซปต์ของสินค้าแล้ว คำถามถัดมาคือ แล้วตลาดใหญ่แค่ไหน และจะขายให้ใคร ? 
เพราะสินค้าที่พวกเขากำลังจะขายนั้น ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)
แม้คีย์บอร์ด จะดูเป็นสินค้าที่ไม่น่าดึงดูด และเรียกร้องความสนใจจากผู้บริโภคจำนวนมากได้ยาก 
แต่ทั้ง 3 คนก็ไม่ได้ยอมแพ้ต่อข้อจำกัดนี้ และพยายามหาวิธีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ทางธุรกิจของพวกเขาเอง
เริ่มตั้งแต่หาช่องทางเปิดตัวสินค้า ไปพร้อม ๆ กับการหาทุนทำธุรกิจบน Kickstarter แพลตฟอร์มระดมทุนแบบ Crowdfunding ชื่อดัง 
ซึ่งพวกเขาก็ได้เงินระดมทุนกลับมา กว่า 10 ล้านบาท แถมยังมีคนสนใจไอเดียคีย์บอร์ดของพวกเขา เกือบ 4,000 คน
แสดงให้เห็นว่า Keychron กำลังมาถูกทาง เพราะกำลังมีกลุ่มคนที่มองหาคีย์บอร์ดทางเลือกแบบนี้ อยู่เช่นกัน ที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจของพวกเขาเติบโตต่อไปได้อีกด้วย
ที่สำคัญ ตัวสินค้า Keychron ไม่ได้มีดีแค่รองรับการทำงานกับทุกระบบปฏิบัติการเท่านั้น 
แต่พวกเขายังใช้กลยุทธ์ “Customization” พูดง่าย ๆ คือ ให้ลูกค้ามาออกแบบสินค้าเองได้ตามสไตล์
เช่น การเปลี่ยนสีปุ่มกด ตัวแป้นพิมพ์สามารถเลือกได้ทั้งแรงกดและเสียงในการพิมพ์ได้เอง ไปจนถึงลูกเล่นของแสงและสีไฟบนแป้นพิมพ์
ซึ่งกลยุทธ์นี้ จะช่วยให้ลูกค้าได้สินค้าที่ตรงตามความต้องการที่แท้จริง แถมยังช่วยสร้างความสนุก และความภาคภูมิใจให้กับลูกค้า เพราะคีย์บอร์ดนี้จะมีชิ้นเดียวในโลก กลายเป็นตัวช่วยสร้าง “ความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์”
และหากลูกค้าสั่งสมความรู้สึกดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ มันก็มีโอกาสที่จะกลายมาเป็น “ความภักดีต่อแบรนด์” ได้อีกด้วย
มากไปกว่านั้น เมื่อลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนและตกแต่งคีย์บอร์ดของตนเองอยู่ได้เรื่อย ๆ 
ก็เท่ากับว่า Keychron จะสามารถต่อยอดการสร้างรายได้ เพิ่มขึ้นไปได้อีก
นอกจากนี้ Keychron ยังใช้วิธีหาความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้า ด้วยการฟังเสียงจากลูกค้าโดยตรง ผ่านกลุ่ม Facebook ที่ชื่อว่า “Keychron User Group” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มมากกว่า 68,000 บัญชี
โดยพื้นที่แห่งนี้เปรียบเสมือน “คอมมิวนิตี” ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าหรือคนที่กำลังสนใจ สินค้าของ Keychron ได้เข้ามาหาข้อมูล แชร์ความรู้ และแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ กันได้โดยตรง
ซึ่งการพูดคุยบนพื้นที่ของแบรนด์เช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้แบรนด์ได้เห็นมุมมองของลูกค้า และนำมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาสินค้าได้ถูกจุดแล้ว ยังช่วยย้ำเตือนการรับรู้ของลูกค้า ที่มีต่อแบรนด์ได้ด้วย 
และต่อไปในอนาคต มันอาจจะช่วยให้แบรนด์ค่อย ๆ กลายเป็น “Top of Mind” ของลูกค้าได้ไม่ยาก
แม้ว่ากลยุทธ์หลัก ๆ ที่กล่าวไปของ Keychron จะดูธรรมดาก็จริง แต่นี่กลับทำให้ปัจจุบันสินค้าของ Keychron ที่เคย “Niche” ได้กลายเป็นสินค้าที่ค่อนข้าง “Mass” ไปแล้ว 
ไม่ใช่เฉพาะแค่เกมเมอร์หรือโปรแกรมเมอร์เท่านั้น ที่สนใจอยากได้คีย์บอร์ดของ Keychron แต่คนทั่วไป ก็ปันใจให้แบรนด์นี้เช่นกัน
โดยคีย์บอร์ดของ Keychron ถูกนำไปวางจำหน่ายแล้วกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ Keychron นำโปรเจกต์หรือสินค้าใหม่ ๆ ไปเสนอบน Kickstarter ก็จะมีกลุ่มลูกค้าคอยมาตามสนับสนุนอยู่ทุกครั้ง โดยหากนับโปรเจกต์ที่ Keychron ทำมาถึงปัจจุบัน จะมีทั้งหมด 15 โปรเจกต์ ซึ่งรวมเป็นเงินระดมทุน กว่า 260 ล้านบาท เลยทีเดียว
จากกรณีศึกษาของ Keychron คงบอกเราได้ว่า แม้ธุรกิจจะเริ่มต้นด้วยสินค้า ที่มีความต้องการอยู่ในตลาดไม่มาก แต่การเป็นคนที่เข้าใจลูกค้ามากที่สุด และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ถูกจุด ก็สามารถเติบโตในโลกของธุรกิจได้เช่นกัน
เพราะพื้นฐานที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจ ไม่ใช่การมีเงินทุนที่มากที่สุด หรือตลาดมีขนาดใหญ่ที่สุด
แต่เป็นการเข้าใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด ต่างหาก..
References:
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.