ชิซูโอกะ จากเมืองที่นักท่องเที่ยวเริ่มร่อยหรอ ทำอย่างไร ให้กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ?

ชิซูโอกะ จากเมืองที่นักท่องเที่ยวเริ่มร่อยหรอ ทำอย่างไร ให้กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ?

23 ก.ย. 2023
หากเมืองเมืองหนึ่ง จากที่เคยเป็นเมืองฮอตฮิต มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก
แต่พอนานวันเข้า นักท่องเที่ยวกลับค่อย ๆ ร่อยหรอลงเรื่อย ๆ ทุกวัน ๆ
เราจะทำอย่างไร ให้เมืองนั้น กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ?
MarketThink จะขออาสาพาไปส่องไอเดีย ของบริษัทเอเจนซีโฆษณาชื่อดังจากโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อย่าง Hakuhodo Kettle ที่สร้างแคมเปญ จนทำให้นครชิซูโอกะ เมืองหลวงของจังหวัดชิซูโอกะ กลายเป็นเมืองที่มีกิมมิก และกลับมาได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว จากนักท่องเที่ยวทั่วโลก
หลายคนที่ยังไม่รู้จักนครชิซูโอกะ จริง ๆ แล้ว นครชิซูโอกะ เป็นเมืองที่ตั้งของภูเขาฟูจิ มีน้ำพุร้อน มีอาหารที่หลากหลาย และมีชื่อเสียงในเรื่องของการปลูกชาเขียวที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น
อีกทั้งภาพรวมของจังหวัดชิซูโอกะ ยังมีศักยภาพที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
เนื่องจากมีที่พักจำนวนมากที่สุด และเข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟด่วนชินคันเซ็น หรือทางหลวงจากโตเกียวและโอซากา
แต่ Pain Point คือ จำนวนนักท่องเที่ยวของชิซูโอกะ ค่อย ๆ ลดลง และไม่มีวี่แววว่าจะเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ซึ่งสาเหตุของเรื่องนี้ มาจากการที่เมืองชิซูโอกะ ไม่ได้เป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวจริง ๆ เพราะเป็นแค่เมืองทางผ่าน รวมถึงไม่ได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
และจากการสำรวจก็พบว่า 91.3% ของนักท่องเที่ยวในชิซูโอกะ เดินทางมาจากพื้นที่นาโงยะและโตเกียว
ทำให้ระยะเวลาเฉลี่ยของการพักอยู่ในชิซูโอกะ สั้นกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นครชิซูโอกะ ยังมีอีกมุมที่น่าสนใจ เพราะเป็นแหล่งของโรงงานผลิตชุดโมเดลพลาสติกจำนวนมาก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของญี่ปุ่น และได้ฉายาว่าเป็นเมืองแห่งของเล่นพลาสติก เลยทีเดียว
ซึ่งโมเดลพลาสติกที่สร้างชื่อให้กับนครชิซูโอกะ คือ โมเดลของเล่นพลาสติกหุ่นยนต์กันดั้ม ที่ผลิตโดยบริษัท Tamiya และ Bandai โดยได้รับความนิยมอย่างมากในยุค 80 และ 90
จากจุดเด่นดังกล่าว เป็นโจทย์ที่ทำให้ Hakuhodo Kettle สร้างแคมเปญโปรโมตการท่องเที่ยวให้ชิซูโอกะ ด้วยกลยุทธ์ 3 ข้อด้วยกัน
1) “เข้าใจ” วัฒนธรรมของเมือง และหาจุดเด่นให้เจอ
การมองหาจุดเด่นของเมือง อาจวิเคราะห์จากตัวเลขอุตสาหกรรมที่เชี่ยวชาญในพื้นที่นั้น ๆ โดยอาจสะท้อนออกมาในรูปแบบของรายได้
ซึ่งจุดเด่นของนครชิซูโอกะ คือการเป็นเมืองแห่งของเล่นพลาสติก
2) สร้างงานศิลปะ ที่แสดง “ความเป็นตัวตน” ของชุมชนนั้น ๆ
ก็คือการทำให้จุดเด่นของชุมชน กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งในที่นี้ Hakuhodo Kettle ได้เนรมิตโมเดลของเล่นเป็นรูปทรง ตู้ไปรษณีย์, ป้ายบอกทาง รวมถึงตู้โทรศัพท์ ให้กลายเป็นโมเดลไซซ์เท่าของจริง ตั้งอยู่ทั่วเมือง (The Model City 1:1 Scale)
โดยขั้นตอนการผลิตสิ่งของทั้งหมดนั้น ใช้เวลาทำถึง 6 เดือนเลยทีเดียว
3) โปรโมตเรื่องราวให้คนได้ “สัมผัส” คุณค่าของงานศิลปะ
หลังจากทำให้จุดเด่นของเมือง กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ซึ่งก็คือ โมเดลตู้ไปรษณีย์, ป้ายบอกทาง รวมถึงตู้โทรศัพท์ ที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วเมือง
สิ่งต่อมาก็คือ โปรโมตสิ่งเหล่านี้ ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้เห็น
ซึ่งผลลัพธ์จากแคมเปญนี้ มียอดกดไลก์ในทวิตเตอร์มากกว่า 1 ล้านไลก์ คิดเป็นมูลค่าสื่อ ที่ได้เผยแพร่ไปทั่วโลกประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๆ 351 ล้านบาท)
ที่สำคัญคือ ทั้งหมดนี้ไม่เสียค่าซื้อสื่อแม้แต่นิดเดียว..
และทางการของชิซูโอกะ ยังได้รับการติดต่อให้ทำโครงการเกี่ยวกับโมเดลพลาสติกจำนวนมากอีกด้วย
นอกจากนั้น แคมเปญ “The Model City 1:1 Scale” ผลงานสร้างสรรค์จาก Hakuhodo Kettle เอเจนซีโฆษณาจากโตเกียว ยังได้ส่งเข้าประกวดในงาน ADFEST 2023 ที่พัทยา เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
และได้คว้ารางวัลโกลด์ Design Lotus ใน Sub-category: Exhibitions, Events & Public Environment ไปครอง
สรุปแล้ว จากเรื่องนี้ จะสามารถสรุปแนวคิดของกลยุทธ์ที่ใช้โปรโมต นครชิซูโอกะ
รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการโปรโมตแบรนด์ต่าง ๆ ได้ว่า
เริ่มแรก ต้องมองหา และเข้าใจจุดแข็งที่ซ่อนอยู่ของแบรนด์ ให้ได้ก่อน
แล้วคิดนอกกรอบ คิดอย่างสร้างสรรค์ ในการใช้จุดแข็งนั้น มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่จับต้องได้
และจากนั้น ก็เดินหน้าสื่อสารมันออกไป ให้คนจำนวนมากได้รับรู้ นั่นเอง
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.