สีแห่งปีจาก Pantone เป็นมากกว่าแค่เรื่องสี.. แล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง ในมุมการตลาด

สีแห่งปีจาก Pantone เป็นมากกว่าแค่เรื่องสี.. แล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง ในมุมการตลาด

19 ธ.ค. 2023
ในช่วงปลายปีแบบนี้ เราน่าจะคุ้นภาพของการประกาศ Color of the Year หรือ “สีแห่งปี”
จาก Pantone องค์กรที่ใครหลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นชื่อเท่าไรนัก
อย่างเช่นในปีนี้ ที่ Pantone ก็เพิ่งออกมาประกาศว่าสี “Peach Fuzz” (สีส้มลูกพีช) คือสีประจำปี 2024
และก็เกิดการแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก เหมือนทุกปีที่ผ่าน ๆ มา
ทีนี้หลายคนอาจจะสงสัยกันมานานแล้วว่า “Pantone” เป็นใคร
ทำไมถึงต้องมีการประกาศ Color of the Year เป็นธรรมเนียมทุกปี ?
แล้วเราสามารถนำสีแห่งปีที่ว่านี้ ไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง ในมุมไหนได้บ้าง ?
บทความนี้ MarketThink จะขออาสามาสรุปเรื่องราวของ Pantone
ผู้ที่กล้าออกมาบอกว่า สีอะไรคือ “สีแห่งปี” ให้ฟังแบบง่าย ๆ
เพราะดวงตาของมนุษย์ สามารถรับรู้ สีที่ต่างกันได้มากถึง 10 ล้านสี
มันจึงเป็นเรื่องยากมาก ที่เราจะสื่อสารเรื่องสีกันด้วยคำพูด แล้วจะเข้าใจตรงกัน
ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่น ถ้าเราบอกเพื่อนว่า ไปซื้อลิปสติกสีแดงไวน์ให้หน่อย
คงเป็นเรื่องยากมาก ที่เพื่อนเราจะซื้อมาถูก
เพราะในสีแดงของลิปสติก ก็สามารถแบ่งออกมาได้หลายเฉดสี
ตั้งแต่แดงอ่อน, แดงตุ่น, แดงน้ำตาล ไปจนถึงแดงไวน์ และอีกหลายแดง เท่าที่จะจินตนาการได้..
ยิ่งแล้วใหญ่กับเรื่องของงาน ที่ต้องมีสีเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะ
เช่น งานสื่อสิ่งพิมพ์, งานด้านแพ็กเกจจิง ที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง
ทำให้การจะสื่อสารกัน แล้วได้สีตรงกัน แทบเป็นไปไม่ได้เลย..
โดย Pantone เป็นองค์กรแรก ๆ ที่คิดแก้ปัญหาเรื่องนี้
ด้วยการคิดค้นระบบ “Pantone Matching System” หรือ “PMS”
ซึ่งเป็นระบบสี เพื่อใช้ในการสื่อสารกันแบบสากล ด้วยการตั้งชื่อ และระบุรหัส ที่เป็นตัวเลขเฉพาะของแต่ละเฉดสี เพื่อใช้ระบุถึงสีสีหนึ่งได้ทันที
ทำให้แทนที่จะพูดว่า “ต้องการแพ็กเกจจิงสีส้มลูกพีช​”
ก็ให้พูดว่าต้องการสี “Pantone 13-2023” ไปเลย จะเข้าใจตรงกันทันที
ด้วยความง่าย และแม่นยำมาก ๆ จึงทำให้ระบบสี PMS ของ Pantone ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
จนแม้แต่แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Adobe, Microsoft, Xerox และ Canon
ต่างก็ยอมรับ และเลือกใช้ระบบสีของ Pantone ด้วยกันทั้งนั้น
จากที่ว่ามา ทำให้ Pantone กลายเป็นหนึ่งในองค์กร ที่มีอิทธิพลในเรื่องของสี และการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดบนโลก ไปโดยปริยาย..
โดยในแต่ละปี Pantone Color Institute (สถาบันวิจัยเรื่องสีโดยเฉพาะของ Pantone)
จะมีการประกาศ “Color of the Year” หรือเฉดสีแห่งปีอยู่เป็นประจำ
ซึ่งกว่าจะได้สีแห่งปีมานั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย..
เพราะ Pantone จะใช้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสี ที่มีประสบการณ์ในหลายอุตสาหกรรม มาช่วยกันวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ เช่น
- แนวโน้มของสีที่แต่ละแบรนด์ใช้
- งานศิลปะต่าง ๆ ในปีนั้น ๆ
- การออกแบบทางแฟชั่นของเหล่าดิไซเนอร์
- อิเวนต์ใหญ่ในปีนั้น
- ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
- สภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ
ก่อนจะออกมาเป็น “สีแห่งปี” ที่สามารถบอกได้ถึงอารมณ์ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ในปีถัดไปได้
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น คือเมื่อปี 1999 ที่สี “Cerulean Blue” ถูกจัดเป็นสีแห่งปี 2000
ก็เป็นสีที่สื่อถึงความสงบและมั่นคง เพราะผู้คนกำลังรู้สึกถึงความไม่มั่นคง ตอนช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษมาสู่ปี 2000 ภายใต้จิตใจลึก ๆ ของผู้คน จึงกำลังโหยหาความมั่นคง
หรือจะเป็นสี “Viva Magenta” สีแห่งปี 2023 ก็เป็นสีที่สื่อถึงพลัง, ความกล้าหาญ, ความคิดสร้างสรรค์ และความมีชีวิตชีวา
ก็เป็นสิ่งที่ผู้คนกำลังต้องการมาก ๆ หลังจากการระบาดจบลง นั่นเอง
ส่วนสี “Peach Fuzz” ซึ่งเป็นสีแห่งปี 2024 นั้น
ก็สื่อถึงความอ่อนโยน, ความห่วงใย, การทำงานร่วมกัน และการเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
โดยทาง Pantone มองว่าปีหน้า ผู้คนล้วนมองหาสิ่งที่จะมาเยียวยา ทั้งร่างกาย และจิตใจ
และต้องการเชื่อมโยงกับสังคมหรือชุมชน ที่มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน..
ทีนี้ในมุมการตลาด จะนำสีแห่งปี ไปทำอะไรได้บ้าง ?
คำตอบคือ นักตลาด สามารถนำข้อมูลตรงนี้ ที่หมายถึงแนวโน้มอารมณ์, สภาพเศรษฐกิจ, พฤติกรรมหรือมุมมองของผู้บริโภค ไม่ใช่แค่สีเท่านั้น
ไปเป็นส่วนช่วยกำหนดทิศทาง ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือฟังก์ชันใหม่ ๆ ที่เข้ากับอารมณ์ และทัศนคติของผู้คนในปีถัดไป ได้ง่ายขึ้น
ซึ่งจะช่วยประหยัด ทั้งเวลาและงบการตลาดไปได้อย่างมหาศาล
เช่น ถ้าผู้คนกำลังรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ค่อยกล้าใช้จ่าย เราก็อาจจะพิจารณาออกผลิตภัณฑ์พิเศษ ที่มีราคาต่ำลง มาทำตลาดในปีถัดไป นั่นเอง
โดยตั้งแต่มีการประกาศสีแห่งปีออกมา เราก็มักจะเห็นหลายแบรนด์ มีการนำสีแห่งปี ไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองกัน
ตัวอย่างเช่น
Apple นำสี “Classic Blue” สีแห่งปี 2020 มาเป็นสีชูโรงของ iPhone 12 ที่ปล่อยออกมาในปีนั้น
หรือ Hydrow แบรนด์เครื่องออกกำลังกาย ก็ได้เกาะกระแส ออกผลิตภัณฑ์สีเดียวกับ “Viva Magenta” สีแห่งปี 2023
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมแต่ละครั้งที่ Pantone ประกาศสีแห่งปีออกมา ถึงได้รับการพูดถึง และแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก
รวมถึง การที่บางแบรนด์ เอาสีที่ว่านั้น ไปประยุกต์ใช้กับเรื่องการตลาด หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
นั่นก็เพราะ มันไม่ใช่แค่ “สี” แต่เป็น “เทรนด์” ที่ถูกคำนวณมาอย่างดี ว่าผู้คนกำลังต้องการ หรือโหยหาอะไรอยู่ นั่นเอง
สุดท้ายนี้ ก็ขอปิดด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ..
นอกจากเป็นองค์กรที่เซตมาตรฐานสีให้กับโลกแล้ว
Pantone ยังมีบริการเกี่ยวกับสีอีกหลายอย่าง เช่น การออกแบบคู่สีบนแพ็กเกจจิง เพื่อเพิ่มยอดขาย
รวมไปถึงมีบริการคิดค้นสีใหม่ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์
เช่น สีส้มของ Hermès, สีฟ้าของ Tiffany & Co. และสีเหลืองของ Minions
ก็เป็นผลงานของ Pantone ด้วยเช่นกัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.