สรุป 5 รูปแบบ วิธีสื่อสารการตลาด ให้เข้าถึงลูกค้าได้ ในวงกว้าง

สรุป 5 รูปแบบ วิธีสื่อสารการตลาด ให้เข้าถึงลูกค้าได้ ในวงกว้าง

11 มี.ค. 2024
การขายสินค้าและการโฆษณาเพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก นับว่าเป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้
เพราะต่อให้สินค้าของแบรนด์เราจะดีแค่ไหน แต่ถ้าลูกค้าไม่รู้จักก็อาจขายไม่ได้
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การโฆษณาอย่างเดียว อาจยังสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ (Brand Awareness) ไม่เพียงพอ..
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของ “IMC” กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ ที่จะช่วยให้แบรนด์ต่าง ๆ สร้างการรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
แล้ว IMC หมายความว่าอะไร และน่าสนใจอย่างไร ? เรามาดูกัน
IMC ย่อมาจาก Integrated Marketing Communication
ซึ่งถ้าแปลตรงตัวจะหมายความว่า “การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ”
IMC จึงหมายถึง การที่แบรนด์ต่าง ๆ ใช้ช่องทางการสื่อสารทางการตลาดหลาย ๆ ช่องทาง “ร่วมกันและสอดคล้อง” ไปในทิศทางเดียวกัน
เพื่อให้การสื่อสารไปถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากที่สุด
ซึ่ง IMC ประกอบด้วย 5 ช่องทางการสื่อสาร ได้แก่
1. Advertising หรือ การโฆษณา
เป็นช่องทางที่แบรนด์ส่วนใหญ่นิยมใช้ในการโปรโมตแบรนด์ หรือสินค้า
ข้อดีของการทำโฆษณาคือ ช่วยสร้างการรับรู้ ทำให้ลูกค้ารู้จักสินค้า ข้อมูลของสินค้า วิธีการใช้งานสินค้า รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้งานสินค้าต่าง ๆ
นอกจากนี้ การโฆษณา ยังเป็นตัวที่ช่วยสื่อสารไปยังลูกค้าได้ว่า สินค้าของเราแตกต่างจากแบรนด์คู่แข่งอย่างไร
หรือหากใช้สินค้าของเรา ภาพลักษณ์ของลูกค้าจะเป็นอย่างไร
ซึ่งการโฆษณานับว่าเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารที่ดี ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจ ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าจากแบรนด์ของเราได้ง่ายยิ่งขึ้น
โดยการทำโฆษณาสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นบนช่องทางออนไลน์ เช่น Google, Facebook, Instagram
และช่องทาง Offline เช่น การโฆษณาบนป้ายข้างถนน และบนนิตยสาร
ยกตัวอย่างเช่น Samsung ที่มีการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ บน YouTube, TikTok และช่องทางออฟไลน์ บนรถไฟฟ้า BTS จนทำให้ผู้คนมีการพูดถึง Samsung Galaxy AI กันอย่างแพร่หลาย
2. Sales Promotion หรือ การทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย
ไม่ว่าจะเป็น การลด แลก แจก แถม, ให้สินค้าทดลองใช้ ในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งสามารถทำได้ ทั้งช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์เสื้อผ้า AIIZ ที่มักมีการจัดโปรโมชันตลอดเวลา เช่น ลด 50%, 70% และซื้อ 1 แถม 1 ตลอดเกือบทั้งปี เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย
โดยประโยชน์ของการทำ Sales Promotion จะส่งผลให้ลูกค้าที่ไม่รู้จักสินค้า เปิดใจทดลองใช้สินค้าได้ง่ายขึ้น
และหากลูกค้าประทับใจ ก็จะส่งผลให้เกิดการซื้อซ้ำ และอาจเกิดการบอกต่อได้
ซึ่งบางครั้งการบอกต่อจากกลุ่มลูกค้าผู้ใช้งานจริงเหล่านี้ ยังช่วยสร้างอิมแพ็กได้มากกว่าการจัดทำโปรโมชันเสียอีก..
อย่างไรก็ตาม การทำ Sales Promotion บ่อยเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อแบรนด์
เพราะจะทำให้ลูกค้ารอซื้อสินค้าแค่ตอนมีการจัดทำโปรโมชันเท่านั้น
นอกจากนี้ หากวางแผนไม่ดี อาจยังส่งผลให้กำไรต่อหน่วยลดลง และส่งผลกระทบต่อผลกำไรของแบรนด์หรือบริษัทได้
3. Personal Selling หรือ การขายโดยใช้พนักงาน
การขายชนิดนี้จะใช้พนักงานขาย เพื่อให้ข้อมูลสินค้ากับลูกค้าโดยตรง
เหมาะกับสินค้าอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิค สินค้าสั่งทำ หรือสินค้าที่ใช้งานยาก ๆ
ซึ่ง Personal Selling มักมีด้วยกัน 2 ช่องทาง ได้แก่
- พนักงานขายหน้าร้าน เช่น ร้านสกินแคร์ ที่จะมีพนักงานคอยแนะนำสินค้า และรับฟังคำถามเกี่ยวกับตัวสินค้าอยู่ไม่ไกลจากเรา
หรือ MINE by JIB ที่ขายคอมพิวเตอร์ ซึ่งมักจะมีพนักงานคอยสอบถามว่า เราใช้งานแบบไหน เพื่อให้ได้คอมพิวเตอร์ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า และปิดการขายได้ทันที
- พนักงานที่เสนอขายสินค้าในสถานที่ต่าง ๆ เช่น การเข้าไปเสนอขายสินค้าในโรงงาน หรือการเสนอขายสินค้าผ่านการเปิดบูทแสดงสินค้า
4. Public Relations (PR) หรือ การประชาสัมพันธ์
PR มีเป้าหมายคือ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ และเมื่อลูกค้ามองว่าแบรนด์มีความน่าเชื่อถือ มีภาพลักษณ์ที่ดี ลูกค้าก็จะหันมาสนใจสินค้าเอง
ซึ่งการทำ PR สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การให้ข่าวผ่านสื่อ, การให้สัมภาษณ์, การจัดทำโครงการเพื่อสังคม
รวมถึง การเป็นสปอนเซอร์ตามงานต่าง ๆ เช่น แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง ที่ชอบเป็นสปอนเซอร์ในงานแข่งรถ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์อย่าง ความท้าทาย ความเร็ว และความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์
อย่างไรก็ตาม การทำ PR ก็มีข้อจำกัดไม่น้อย
เช่น การ PR ค่อนข้างใช้ระยะเวลา และต้องอาศัยความสม่ำเสมอ จึงจะค่อย ๆ เสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้น่าเชื่อถือ และมีภาพลักษณ์ที่ดี
แถม PR ยังไม่ได้กระตุ้นยอดขายให้กับแบรนด์โดยตรง เหมือนกับการโฆษณา หรือการจัดทำโปรโมชัน
ทำให้หลาย ๆ แบรนด์มักมองข้ามวิธีการสื่อสารประเภทนี้ไป..
5. Direct Marketing หรือ การตลาดทางตรง
เป็นการสื่อสารไปถึงกลุ่มลูกค้าที่แบรนด์มีช่องทางติดต่ออยู่แล้ว
โดยข้อมูลการติดต่อนั้น มักจะมาจากการที่ลูกค้าเข้ามาติดต่อ หรือให้ความสนใจในสินค้าก่อนแล้ว
การตลาดทางตรงสามารถทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น อีเมล, เบอร์โทรศัพท์, งานแสดงสินค้า
ซึ่งเมื่อแบรนด์มีการออกโปรโมชันใหม่ ๆ หรือมีสินค้าใหม่ ๆ ก็จะมีการส่งข้อมูลเหล่านี้ ไปถึงลูกค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่มีอยู่
ยกตัวอย่างเช่น คลินิกเสริมความงาม ที่มักโทรมาติดตามความพึงพอใจหลังเข้าใช้บริการ หรือทำการนัดหมายในครั้งถัด ๆ ไป และทำการเสนอโปรโมชันใหม่ ๆ ว่าเราสนใจหรือไม่
การสื่อสารไปถึงกลุ่มลูกค้าประเภทนี้ นอกจากจะเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรงแล้ว
บางครั้งยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า แบรนด์มีความใส่ใจ
ยกตัวอย่างเช่น แม้ลูกค้าบางคนเคยซื้อหรือใช้บริการเมื่อนานมาแล้ว
แต่แบรนด์ก็ยังคงส่งข้อมูลสินค้าตัวใหม่ ๆ มาให้ ซึ่งจะเป็นการเตือนความทรงจำของลูกค้าว่า ครั้งหนึ่งลูกค้าเคยสนใจในแบรนด์หรือสินค้าเหล่านี้
จุดนี้เองที่อาจเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าอยากกลับมาซื้อหรือใช้บริการอีกครั้ง
จาก 5 ข้อที่กล่าวมานี้คือ IMC กลยุทธ์การสื่อสารในช่องทางต่าง ๆ อย่างครอบคลุม
ซึ่งประกอบไปด้วย การโฆษณา, การทำโปรโมชัน, การขายโดยใช้พนักงาน, การ PR และการตลาดทางตรง
ซึ่งในแต่ละช่องทางจำเป็นต้องสื่อสารให้สอดคล้องกัน
เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าของแบรนด์มากที่สุด พร้อมทั้งเสริมภาพลักษณ์ในทางที่ดีให้กับแบรนด์
หนึ่งในแบรนด์ที่มีการทำ IMC แล้วสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ได้เป็นวงกว้าง เช่น
Samsung Galaxy S24 Ultra ที่มียอดการจองสูงกว่า Samsung Galaxy S23 Ultra ถึง 2 เท่า
ต้องบอกว่า Samsung เลือกใช้วิธีการสื่อสารหลากหลายช่องทาง
ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางออนไลน์ในการโปรโมต เช่น YouTube, Instagram
และช่องทางออฟไลน์ เช่น ป้ายโฆษณาบนรถไฟฟ้า BTS และ MRT
ซึ่ง Samsung ได้เลือกใช้ คัลแลนและพี่จอง 2 หนุ่มที่กำลังโด่งดัง และมาจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของแบรนด์
มาช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือ ดูเข้าถึงง่ายตามบุคลิกของคัลแลนและพี่จองอีกด้วย
และยังมีโปรโมชัน Trade-In ที่ให้นำสมาร์ตโฟนเครื่องเก่าไปแลกเครื่องใหม่ จึงช่วยดึงดูดความสนใจจากลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เคยเป็นลูกค้าของแบรนด์มาก่อนอีกด้วย
จากทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า IMC เป็นวิธีการสื่อสารง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้
แต่การสื่อสารด้วยวิธีง่าย ๆ เหล่านี้ จะได้ผลดียิ่งขึ้น หากใช้ร่วมกันและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
เพียงเท่านี้ ก็เป็นการปลดล็อกให้แบรนด์สื่อสาร และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าวงกว้างได้แบบสบาย ๆ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.