สรุปเฟรมเวิร์ก การตลาดยุค 6.0 จากงาน Immersive Marketing in Action

สรุปเฟรมเวิร์ก การตลาดยุค 6.0 จากงาน Immersive Marketing in Action

10 เม.ย. 2024
Immersive Marketing เทรนด์การตลาดที่ Philip Kotler บิดาการตลาดสมัยใหม่ เคยพูดไว้ในหนังสือ marketing 6.0 เล่มล่าสุดว่า จะเป็นเทรนด์การตลาดที่จะมาแรงในยุคนี้
ซึ่งคำว่า “Immersive” ถ้าแปลตรง ๆ ก็จะหมายถึง “ดื่มด่ำ”
แต่ถ้าขยายคำนี้ลงไปให้น่าสนใจมากขึ้น คำว่า Immersive จะหมายถึง กลยุทธ์การดึงดูดลูกค้า ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำและทำให้ลูกค้าด่ำดิ่งอยู่กับประสบการณ์นั้น
ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับลูกค้า
อีกมุมหนึ่ง Immersive ก็เป็นการตลาดที่ผสมผสานระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์เอาไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคเข้าถึงแบรนด์ได้ลึกซึ้งมากขึ้น
แต่คำถามคือ ในมุมของนักการตลาด ถ้าอยากสร้าง Immersive Experience ให้ลูกค้าอินกับแบรนด์มากขึ้น จะต้องทำอย่างไร และมีเครื่องมือไหนบ้าง ?
หนึ่งในเฟรมเวิร์ก สำหรับสร้าง Immersive Experience ที่เราแกะออกมาเล่าในโพสต์นี้ ถูกแชร์ภายในงาน Immersive Marketing In Action 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา
ใน Session ที่ชื่อว่า How Brand Use AI to Create Gen Alpha Personalized Experience
โดยคุณสโรจ เลาหศิริ เจ้าของเพจ สโรจขบคิด การตลาด
โดยคุณสโรจ ได้แชร์เฟรมเวิร์กของ Dr.Hyunkook Lee จาก Huddersfield University สำหรับสร้าง Immersive Experience ไว้ ดังนี้
สำหรับการสร้าง Immersive Experience ให้สำเร็จ จำเป็นต้องมี 3 สิ่งสำคัญหลัก ๆ (วงกลม 3 วงข้างใน) คือ
- Physical Presence คือ สิ่งที่จับต้องได้
โดยในทางการตลาด หมายถึง สถานที่ที่ลูกค้าจะเจอสินค้าหรือบริการของเราในโลกออนไลน์ อย่างเช่น แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์
และในโลกออฟไลน์ ก็อย่างเช่น หน้าร้าน ศูนย์ให้บริการ หรือเป็นสถานที่ที่สินค้าเราวางขาย
- Involvement คือ ระดับความสนใจและความผูกพันของลูกค้าที่มีต่อสินค้าหรือบริการของเรา ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อและการตัดสินใจของลูกค้า
- Social/Self Presence คือ การเป็นส่วนหนึ่งหรือมีประสบการณ์ร่วมในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ เช่น การที่ลูกค้าใส่หูมิกกี้เมาส์เข้าสวนสนุกดีสนีย์แลนด์ หรือการที่ลูกค้าสร้างร่างอวตารในโลก Metaverse
โดยทั้ง 3 สิ่งสำคัญ (วงกลม 3 วงข้างใน) จะถูกเชื่อมโยงด้วยการทำ 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่
1. การทำ Narrative Engagement หรือการเล่าเรื่อง
เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกมีส่วนร่วมและเกิดความผูกพันกับเรื่องราวของแบรนด์ตามที่แบรนด์อยากให้เป็น หรือการทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจและผูกพันกับสถานที่ที่แบรนด์อยู่มากขึ้น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น IKEA สร้างเส้นทางเดินวกไปวนมา เพื่อให้ลูกค้าเดินชมสินค้าได้ทุกหมวดหมู่และเห็นสินค้าเยอะขึ้น จนทำให้ลูกค้ามีความอยากซื้อของมากขึ้น
2. การทำ Sensorimotor Engagement หรือการทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมผ่านการสัมผัส
เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่แบรนด์สร้างขึ้นมา ซึ่งจะช่วยสร้างการจดจำและเพิ่มความน่าสนใจให้กับแบรนด์ได้
เช่น การจำลองกิจกรรมในโลกเสมือนจริงที่ให้ลูกค้าได้ใกล้ชิดกับสินค้า ได้สัมผัสทั้งกลิ่น เสียง และบรรยากาศที่แบรนด์ต้องการ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เช่น
สวนสนุก Disneyland ที่มีทั้งตัวละครในการ์ตูนให้คนได้ใกล้ชิด และกิจกรรมในสวนสนุก ด้วยแว่น VR ในขณะที่เล่นเครื่องเล่น เพื่อเพิ่มประสบการณ์ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้ผู้บริโภคอินมากขึ้น
3. การทำ Task/Motor Engagement หรือการทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับงานหรือกิจกรรมที่แบรนด์จัดขึ้น เพื่อดึงดูดความน่าสนใจและสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างลูกค้ากับแบรนด์
เช่น การเล่นเกมบนแอปพลิเคชันหรือโซเชียลมีเดียในแคมเปญที่แบรนด์สร้างขึ้นมา หรือกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ที่แบรนด์สร้างขึ้นมาให้ลูกค้าเข้าร่วมโดยเฉพาะ
เพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น เราขอยกตัวอย่าง กิจกรรม workshop ใน apple store ที่จัดขึ้นทุกเดือน
ซึ่งทำเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสสินค้าและมีประสบการณ์ที่ดีร่วมกับแบรนด์ ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกับศิลปินนักวาด
โดยใช้สินค้าของแบรนด์ ซึ่งก็คือ iPad และ Apple Pencil และกิจกรรมทั้งหมดนี้ก็ถูกจัดขึ้นในสถานที่ที่แบรนด์สร้างขึ้น นั่นคือ Apple Store
ซึ่งการนำทั้งเรื่องราว (Narrative) การสัมผัส (Sensorimotor) และการสร้างการมีส่วนร่วม (Task/Motor) มาประกอบเข้าด้วยกัน จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ Immersive มากขึ้น
ซึ่งจะทำให้ลูกค้าตกอยู่ในภวังค์ และดื่มด่ำกับประสบการณ์ที่ดีร่วมกับแบรนด์ ได้นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.