
สรุป 3 วิธีเลือก “คีย์เวิร์ด” ใช้ทำโฆษณาบน Google ให้เข้าถึงลูกค้าตัวจริง แบบไม่เปลืองงบ
14 ก.ค. 2025
ล่าสุด Content Shifu ได้จัด Webinar ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำ Google Search Ads ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้แบรนด์สามารถคัดกรองลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และทำการโฆษณาผ่าน Google Search Ads ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แล้วเนื้อหาใน Webinar มีอะไรน่าสนใจ ? MarketThink สรุปให้อ่านกันในโพสต์นี้..
- หนึ่งในวิธีการทำโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นการทำโฆษณาด้วย Google Search Ads
เป็นการซื้อพื้นที่โฆษณา บนหน้าผลการค้นหาของ Google โดยโฆษณาจะแทรกอยู่ในผลการค้นหาแบบปกติ ซึ่งมีทั้งที่อยู่ด้านบนของผลการค้นหา และที่ด้านล่างของผลการค้นหา
ซึ่งการโฆษณาแบบนี้ แบรนด์ต่าง ๆ สามารถทำได้ด้วยการเลือกใช้ “คีย์เวิร์ด” หรือคำที่นักการตลาดกำหนดขึ้น และนำไปผูกไว้กับโฆษณาของตนเอง เพื่อแสดงโฆษณาตาม “คำค้นหา” ที่กลุ่มเป้าหมายพิมพ์บน Google
โดยเมื่อผู้ใช้งานพิมพ์คำค้นหาใด ๆ ก็ตาม Google ก็จะเลือกแสดงโฆษณาที่มีคีย์เวิร์ด ที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหานั้น ๆ ให้กับผู้ใช้งานได้เห็น
อธิบายตัวอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เห็นภาพ เช่น
เมื่อผู้ใช้ Google ค้นหาคำว่า “นวดไทย” หรือ “ร้านนวดใกล้ฉัน”
ทาง Google ก็จะหยิบเอาโฆษณาที่กำหนดคีย์เวิร์ดไว้ว่า “ร้านนวด” มาแสดงให้กับผู้ใช้งานนั่นเอง
ทาง Google ก็จะหยิบเอาโฆษณาที่กำหนดคีย์เวิร์ดไว้ว่า “ร้านนวด” มาแสดงให้กับผู้ใช้งานนั่นเอง
- ทีนี้คำถามก็คือ แล้วนักการตลาดหรือแบรนด์ จะมีวิธีในการเลือก “คีย์เวิร์ด” อย่างไร ให้เว็บไซต์หรือโฆษณาของแบรนด์ แสดงไปยังกลุ่มเป้าหมาย หรือลูกค้าที่แบรนด์ต้องการจริง ๆ ?
โดยไม่แสดงโฆษณาแบบ “หว่านแห” ซึ่งอาจไม่ใช่วิธีการแสดงโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ และทำให้แบรนด์เปลืองงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์
Content Shifu อธิบายว่า เรื่องนี้สามารถทำได้โดยการใช้ Keyword Match Types ซึ่งเป็นเครื่องมือการกำหนดคีย์เวิร์ดของโฆษณา เพื่อคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย ที่จะเห็นโฆษณาของแบรนด์บนหน้าผลการค้นหา Google ตามความต้องการของแบรนด์
โดยที่ Keyword Match Types จะแบ่งออกเป็น 3 แบบด้วยกัน ได้แก่
1. Keyword Match Types แบบ Broad Match (หรือ คีย์เวิร์ดแบบกว้าง)
เป็นการกำหนดคีย์เวิร์ดแบบกว้างที่สุด เพื่อนำโฆษณาของแบรนด์ ที่มีคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหาใด ๆ ของผู้ใช้ Google ไปแสดงบนหน้าผลการค้นหา
โดยการกำหนดคีย์เวิร์ดแบบกว้างนี้ เป็นวิธีที่ทำให้แบรนด์สามารถนำโฆษณาไปแสดงให้กับผู้ใช้ Google ได้มากที่สุด เข้าถึงคนได้ทีละมาก ๆ
แต่แทบไม่มีการคัดกรองใด ๆ ทำให้คนที่เห็นโฆษณา อาจไม่ใช่คนที่แบรนด์ต้องการจริง ๆ
ตัวอย่างเช่น คีย์เวิร์ดของโฆษณา คือคำว่า “ร้านเฟอร์นิเจอร์” จะแสดงให้กับผู้ที่ใช้คำค้นหาที่มีความเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดคำนี้แบบกว้าง ๆ เช่น ของตกแต่งบ้าน โซฟา หรือโคมไฟ
เพราะทั้ง 3 คำนี้ แม้จะไม่ใช่คำว่าเฟอร์นิเจอร์ตรง ๆ แต่ก็เข้าข่าย และมีความเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดคำว่า เฟอร์นิเจอร์ ที่นักการตลาดกำหนดไว้ในโฆษณา
2. Keyword Match Types แบบ Phrase Match (หรือ คีย์เวิร์ดแบบวลี)
จะเป็นการกำหนดคีย์เวิร์ดที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยต้องมีการใส่เครื่องหมายคำพูด “ ” ลงในคีย์เวิร์ดด้วย
เพื่อเป็นการกำหนดว่าโฆษณานี้จะแสดงให้กับผู้ใช้ Google ที่กำหนดคำค้นหา ที่มีคำหรือวลีที่มีความหมาย เหมือนคำที่อยู่ใน “ ” เท่านั้น
ตัวอย่างเช่น คีย์เวิร์ดของโฆษณา คือคำว่า “ร้านเฟอร์นิเจอร์” (มีเครื่องหมายคำพูด)
Google จะเลือกแสดงโฆษณานี้ให้กับผู้ใช้ ที่ใช้คำค้นหาคำว่า ร้านเฟอร์นิเจอร์ราคาถูก ร้านเฟอร์นิเจอร์ห้องนั่งเล่น หรือร้านขายตู้เสื้อผ้าในห้องนอน
3. Keyword Match Types แบบ Exact Match (หรือ คีย์เวิร์ดแบบเจาะจง)
เป็นการกำหนดคีย์เวิร์ดที่มีความเฉพาะเจาะจงมากที่สุด โดยต้องมีการใส่เครื่องหมายวงเล็บสี่เหลี่ยม [ ] ลงในคีย์เวิร์ด
เพื่อเป็นการกำหนดว่าโฆษณาชิ้นนี้จะแสดงให้กับผู้ใช้ Google ที่กำหนดคำค้นหา ที่มีคำหรือวลีที่มีความหมาย เหมือนคำที่อยู่ใน [ ] เท่านั้น โดยไม่มีคำอื่น ๆ ปะปนเข้ามาเลย
ตัวอย่างเช่น คีย์เวิร์ดของโฆษณา คือคำว่า [ร้านเฟอร์นิเจอร์]
Google จะเลือกแสดงโฆษณานี้ให้กับผู้ใช้ ที่ค้นหาคำว่า ร้านเฟอร์นิเจอร์ แต่จะไม่แสดงให้ผู้ใช้ที่ค้นหาคำว่า ร้านเฟอร์นิเจอร์ราคาถูก ได้เห็น
ทั้งหมดนี้ ก็คือหนึ่งในวิธีที่ Content Shifu สอนใน Webinar เพื่อใช้สำหรับการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ให้เหมาะสมกับโฆษณา Google Search Ads ตามที่นักการตลาดต้องการ
เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความเหมาะสม และมีแนวโน้มที่จะเป็นลูกค้า ตามที่แบรนด์ต้องการ
สรุปวิธีการเลือกใช้คีย์เวิร์ดแบบสั้น ๆ
- Broad Match การใช้คีย์เวิร์ดโดยไม่ต้องใส่สัญลักษณ์ใด ๆ
ข้อดีคือ เข้าถึงคนได้เยอะที่สุด เพราะแสดงโฆษณาถึงผู้ใช้งานที่ค้นหาด้วยคำที่เกี่ยวข้องโดยรวม
แต่ข้อเสียคือ อาจเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย จึงอาจทำให้แบรนด์เปลืองงบประมาณบางส่วนได้
- Phrase Match การใช้คีย์เวิร์ดโดยใส่เครื่องหมาย “ ”
ข้อดีคือ โฆษณาของแบรนด์เราจะแสดงกับผู้ใช้งานที่ค้นหาด้วยคำที่มีคีย์เวิร์ดของเราอยู่ จึงช่วยคัดกรองให้โฆษณาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
- Exact Match ใส่วงเล็บ [ ] ครอบคีย์เวิร์ด
ข้อดีคือ โฆษณาจะแสดงเมื่อผู้ใช้งานมีการเซิร์ชคำค้นหาที่ตรงกับที่กำหนดเป๊ะ ๆ จึงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
แต่ข้อเสียคือ อาจเข้าถึงคนได้น้อยลงนั่นเอง