กรณีศึกษา ศิริราชพยาบาล พัฒนา AI เป็นผู้ช่วยในการตรวจโรคร้าย

กรณีศึกษา ศิริราชพยาบาล พัฒนา AI เป็นผู้ช่วยในการตรวจโรคร้าย

2 ต.ค. 2020
ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคิดว่าวงการแพทย์จะมี AI หรือปัญญาประดิษฐ์
แต่...เมื่อสารพัดโรคร้ายมันเก่งขึ้น วงการแพทย์ก็ต้องเก่งขึ้นตาม
AI จึงเริ่มมีบทบาทและมีการใช้งานเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในทั่วโลก
โดยหนึ่งในหน้าที่สำคัญของ AI
คือสวมบทบาทเป็นผู้ช่วยคนเก่งวินิจฉัยโรคต่างๆ รวมกับแพทย์
สำหรับเมืองไทยต้องยอมรับว่า เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้
ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือทุกฝ่าย
ก็เลยทำให้ทาง บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท Lunit Inc. และ บริษัท เจ. เอฟ. แอดวาน เมด จำกัด
ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)
เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ โดยเริ่มนำร่องใช้งานที่ โรงพยาบาลศิริราช
แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตเรา?
ก็ต้องบอกว่าหากเราป่วย หรือมีอาการน่าสงสัยว่าจะเกิดโรคร้าย
AI ก็จะทำการตรวจจับสิ่งผิดปกติที่ซ่อนอยู่ในร่างกายเราร่วมกับแพทย์
และเชื่อหรือไม่ว่า AI ยังสามารถจับสิ่งผิดปกติในร่างกายเราได้ดีไม่แพ้สายตาของแพทย์ผ่านระบบจัดเก็บข้อมูล การประมวลผลของ AI ซึ่งช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม
ผลลัพธ์ก็คือ จะทำให้แพทย์รู้ว่าคนไข้ป่วยเป็นอะไร ได้แม่นยำ
ทำให้เกิดการรักษารวดเร็วทันเวลา ก่อนที่โรคร้ายจะลุกลามไปมากกว่านี้
คุณ ซึโตมุ วาตะนาเบ้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด
เล่าให้ฟังว่า ทางบริษัทเป็นพาร์ตเนอร์กับทางศิริราชพยาบาลมานาน 17 ปี
โดยครั้งนี้เป็นการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ FUJIFILM AI “REiLI” Solution
ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยเหลือแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคแพทย์ ในการทำงานทางด้าน workflow
ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยการพัฒนาครั้งนี้ยังร่วมมือกับบริษัท Lunit Inc.
ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ AI ปัญญาประดิษฐ์ โซลูชั่น จากประเทศเกาหลีใต้
สิ่งที่น่าสนใจคือ โรงพยาบาลศิริราช ให้ความสำคัญกับระบบ AI มากแค่ไหน ?
เรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า
“เราให้ความสนใจเทคโนโลยี AI ที่มาช่วยวินิจฉัยและตรวจผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
เพราะถือเป็นการลดขั้นตอนในการทำงานของทีมแพทย์
และทำให้การทำงานเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดย AI จะมาช่วยตรวจผลการเอกซ์เรย์ทรวงอก, โควิค 19 โรคเกี่ยวกับปอดอักเสบ,
วัณโรค, ตรวจเอกซ์เรย์เต้านม เป็นต้น”
ความน่าสนใจของเรื่องนี้ ก็คือระบบ AI จะถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ หรือไม่ ?
ก็ต้องบอกว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูง
เมื่อทาง โรงพยาบาลศิริราช ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ
จนถึงโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น
การแชร์ข้อมูลความรู้เรื่อง AI ต่างๆ ให้แก่กัน
ที่น่าสนใจก็คือการมาของ 5G ในวันนี้
จะทำให้การโอนถ่ายข้อมูลได้เร็วกว่า 4G ถึง 20 เท่า
ซึ่งนั้นหมายความว่าการส่งข้อมูลผู้ป่วยจนถึงข้อมูลอื่นๆ ที่ผ่านการทำงานจาก AI
จะเป็นอะไรที่รวดเร็วและทันต่อการรักษา
ก็น่าติดตามว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวงการแพทย์ต่อจากนี้ จะเป็นอย่างไร
เพราะวันนี้เราได้เห็นจุดเริ่มต้นการใช้ AI ในโรงพยาบาลศิริราช
และมีแนวโน้มที่จะขยายไปสู่การเป็นมาตราฐานของทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศในอนาคต
และ..ถ้าถึงวันนั้นจริงๆ คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็น่าจะเป็นคนไทยทั่วประเทศ
ที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง
สุดท้ายก็จะทำให้ภาพประเทศไทยกลายเป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
หรือ Medical Hub ที่สมบูรณ์แบบไม่แพ้ใคร
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.