กรณีศึกษา Flylab สตาร์ตอัปจากเชียงใหม่ ผลิตอาหารสัตว์ด้วยแมลง BSFL

กรณีศึกษา Flylab สตาร์ตอัปจากเชียงใหม่ ผลิตอาหารสัตว์ด้วยแมลง BSFL

5 พ.ค. 2022
รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน วัตถุดิบที่นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพด
มีราคาสูงถึง 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบุเชล ซึ่งนับเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี
จากราคาอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ และอาหารของเรา
ในแต่ละมื้อมีราคาสูงขึ้นด้วย อย่างประเทศไทยในปีนี้ ก็มีปัญหาเรื่องราคาหมูแพง
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ยังเป็นอีกธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ
เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการทำลายป่าไม้แล้ว ยังมีการผลิตของเสียเป็นจำนวนมากอีกด้วย
จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “Flylab” สตาร์ตอัปในเชียงใหม่ ที่มีแนวคิดจะแปลงของเสียทางการเกษตร มาเป็นอาหารสำหรับพืชและสัตว์
เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา แถมยังลดผลกระทบต่อธรรมชาติ
แล้ว Flylab มีไอเดียอย่างไร ?
ก่อนอื่น มารู้จักกับคุณนิโค เบอรี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Flylab กันก่อน
ด้วยความที่มีประสบการณ์การทำงาน ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแมลงมาราว 8 ปี
ทำให้คุณนิโค เห็นว่า “แมลง” สามารถนำมาเป็นทางเลือกสำหรับอาหารสัตว์
เพื่อทดแทนอาหารสัตว์แบบดั้งเดิม เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลือง ที่เป็นผลผลิตจากการทำลายป่า
ซึ่งเป็นแนวทางการทำธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนอีกต่อไปแล้ว
เขาจึงได้ก่อตั้ง Flylab เพื่อทำธุรกิจผลิตอาหารสัตว์จากแมลง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปีที่ผ่านมา
โดยมีคอนเซปต์ คือ นำความสามารถในการแปลงสภาพทางชีวภาพของแมลง
ในที่นี้ เรียกกันว่า “Black Soldier Fly ย่อได้เป็น BSF หรือในภาษาไทยก็คือ หนอนแมลงวันลาย
เพื่อนำมาแปลงขยะหรือของเสียทางการเกษตร ให้กลายมาเป็นอาหารสำหรับพืชและสัตว์
ถึงตรงนี้ หลายคนก็น่าจะสงสัยว่าแล้วทำไมต้องเป็น แมลง
จริง ๆ แล้ว ก็ต้องบอกว่าแมลง นับเป็นอาหารสำหรับพืชและสัตว์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว
แต่เพิ่มเติม ก็คือ หนอนแมลงวันลาย ยังมีคุณสมบัติในการย่อยสลายสารอินทรีย์ได้แทบทุกรูปแบบ แถมยังสามารถหาได้ง่าย และมีอยู่ทุกที่ทั่วทุกมุมโลก
อธิบายกระบวนการทางชีวภาพของ Flylab ให้เห็นภาพมากขึ้น จะเริ่มตั้งแต่
- เพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ด้วยผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งทางการเกษตร
- เก็บเกี่ยวและแยกออกจากมูลฝอยเมื่อพร้อม สำหรับการแปรรูป
หลังจากนั้น ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการ เช่น การดูดของเหลว เพื่อแยกโปรตีนออกจากไขมัน และปิดท้ายด้วยการฆ่าเชื้อ โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง
สำหรับผลิตภัณฑ์ของ Flylab แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- FLMeal เป็นผงโปรตีนแห้ง สำหรับสัตว์
- FLOil เป็นไขมัน ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง
นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์หลักนี้แล้ว บริษัทก็ยังมี FLFrass เรียกได้ว่าเป็น By-Products หรือผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ ซึ่งเป็นมูลฝอยของแมลง และสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืชได้อีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว Flylab ยังกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา FLDried หรือก็คือ ตัวหนอนอบแห้ง เพื่อนำมาจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์อีกด้วย
โดยพื้นที่สำหรับการเพาะเลี้ยง จะเป็นในรูปแบบของโรงงาน ที่มีพื้นที่รองรับเศษอาหารทางการเกษตร ในห้องควบคุมอุณหภูมิ และมีการใช้เทคนิคการเกษตรแบบแนวตั้ง
ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ยังมีความยืดหยุ่นสูง สามารถตั้งโรงงานที่ไหนก็ได้
เพราะสามารถใช้ของเสียทางเกษตรกรรมที่มาจากท้องถิ่น
จุดนี้ ก็จะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ให้สร้างงาน สร้างรายได้ ในแหล่งชุมชนได้เช่นกัน
แถมยังใช้พื้นที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับวัตถุดิบอาหารสัตว์แบบดั้งเดิม ที่ต้องอาศัยพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมาก
และถ้าถามว่าทำไมต้องก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย ?
เหตุผลหลัก ๆ คือ แมลงส่วนใหญ่ชื่นชอบและเติบโตได้ดีในประเทศเขตร้อน
รวมถึงประเทศไทย ยังเป็นแหล่งส่งออกอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีตลาดรองรับอยู่แล้ว
ทั้งนี้ คุณนิโค คาดการณ์ว่าตลาดอาหารสัตว์ในเอเชีย จะมีมูลค่าราว 2,700,000 ล้านบาท
โดยที่ Flylab มีเป้าหมายที่จะเข้าไปกินส่วนแบ่ง 1% ของมูลค่าทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 27,000 ล้านบาท
ถึงตรงนี้ เราก็สามารถสรุปได้ว่าไอเดียธุรกิจของ Flylab เป็นอีกหนึ่งแนวคิดสตาร์ตอัป ที่ตั้งต้นมาจากปัญหาพื้นฐานที่โลกเรากำลังเผชิญ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักธุรกิจหน้าใหม่ พร้อมกับทีมงาน ที่มีทั้งความยืดหยุ่น และความรวดเร็วในการทำงาน
โดยกลุ่มคนเหล่านี้ มีเป้าหมายร่วมกัน คือต้องการสร้างธุรกิจ ที่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหา
ในระบบอาหารให้มีความยั่งยืนมากขึ้น และต้องช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
ดั่งสโลแกนของบริษัทที่ว่า “Improving our food system, one fly at a time.”
รู้จักกับ Flylab มากขึ้นได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=rjekpddq0F8
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร 052 000597 หรือ Email : hi@flylabfeed.com
Linkedin: Flylab
YouTube channel: https://www.youtube.com/channel/UCWOtbHHe6SKQCNUPropnHBQ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.