กรณีศึกษา นักโทษล้นคุก อาชญากรรมซ้ำซ้อน ประเทศไทยเสียโอกาสมหาศาล

กรณีศึกษา นักโทษล้นคุก อาชญากรรมซ้ำซ้อน ประเทศไทยเสียโอกาสมหาศาล

27 ม.ค. 2020
คุกในเมืองไทยทั่วประเทศรับนักโทษได้ 2 แสนคน
แต่เมืองไทยกลับมีผู้ต้องขังทั้งหมด 3.7 แสนคน
หากสมมติในคุกมีเตียงนอนจำกัดที่ 2 แสนเตียง
นั่นหมายถึง 1 เตียงจะมีนักโทษนอนกันเกือบ 2 คน
ถือเป็นคุกที่มีความแออัดระดับสูงเลยทีเดียว
ทำให้เราได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาของกรมราชทัณฑ์
ด้วยการลดวันต้องโทษ อภัยโทษ อยู่บ่อยครั้ง เป้าหมายก็เพื่อระบายนักโทษให้ออกจากคุก
เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น คุกในเมืองไทยคงไม่พอขังนักโทษแน่ๆ
เพราะในแต่ละปี ก็มีนักโทษหน้าใหม่เข้ามาเป็นหลักแสนคน
โดยในปี 2561 มีนักโทษหน้าใหม่จำนวน 2.2 แสนคน
โดยข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า
ปี 2556 มีจำนวนนักโทษถูกปล่อยตัว 1.39 แสนคน
ปี 2562 มีจำนวนนักโทษถูกปล่อยตัว 2.21 แสนคน
จะเห็นว่าการปล่อยตัวนักโทษเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
แต่รู้หรือไม่...นักโทษที่พ้นคุกมา 3 - 5 ปี ก็ยังกลับมาทำผิดกฎหมายซ้ำ
สะท้อนจากอัตราการปล่อยตัวนักโทษ 10 คน จะมีนักโทษทำผิดแล้วกลับเข้าคุกซ้ำถึง 4 คน
แล้วทำไม พวกเขาถึงต้องทำผิดซ้ำซ้อนไม่หลุดพ้นจากวงจรนี้เสียที
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากใครติดคุก การจะได้รับโอกาสจากสังคมให้ “กลับตัว” มีน้อยมาก
เพราะไม่ค่อยมีนายจ้าง เจ้าของบริษัทคนไหนอยากรับเข้าทำงาน
หรือแม้แต่ออกมาทำอาชีพส่วนตัว ก็มักจะถูกสังคมตีตราเป็นคนมีตราบาป
ปรากฏการณ์เหล่านี้เสมือน ระเบิดเวลา ที่นับถอยหลังให้พวกเขากลับไปสู่โลกใบเดิม
นั่นคือ...โลกสีดำที่คุ้นชินกับการค้ายาเสพติด, ปล้น, ฆ่าชิงทรัพย์, ข่มขืน
ซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสมหาศาลในเชิงคุณภาพประชากร
เราลองคิดดูง่ายๆ นักโทษ 1 คนออกจากคุกแล้วกลับมาเป็นพ่อค้ายาเสพติด
จะทำให้เด็กวัยรุ่นติดยาจำนวนเท่าไร?
อาจจะเป็นหลัก 10 หรือหลัก 100 คนก็เป็นไปได้
ซึ่งน่าจะมีนักโทษที่ออกจากคุก แล้วกลับมาค้ายาจำนวนไม่น้อย
แน่นอนเยาวชนที่จะรอดพ้นมาสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพก็ย่อมมีอัตราน้อยลง
หรือแม้แต่การออกจากคุกแล้วกลับมาเป็น ฆาตกร ฆ่าคนอีกครั้ง
ซึ่งก็ทำให้ประชากรที่มีคุณภาพหายไปจากสังคมไทยด้วยเช่นกัน
หรือแม้แต่นักโทษที่ออกจากคุกแล้วกลับมาข่มขืนอีกครั้ง
หญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อ ก็อาจหวาดกลัวผู้ชาย จนบางคนไม่กล้าแต่งงาน ทำให้ไม่มีบุตร
ทุกอย่างที่กล่าวมาทำให้ประเทศเราเสียโอกาสในการมีประชากรดีๆ มาพัฒนาประเทศ
และที่สำคัญเวลานี้หลายคนกำลังหวาดกลัว รู้สึกว่าชีวิตในแต่ละวันไร้ซึ่งความปลอดภัย
หลายคนอาจบอกถึงวิธีแก้ปัญหา ด้วยการเพิ่มโทษทางกฎหมายให้รุนแรงมากขึ้น
เพื่อให้นักโทษไม่กล้าทำผิดซ้ำ
หากเราย้อนดูบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดกฎหมาย ระดับความรุนแรงลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ตัวอย่างที่สะท้อนเห็นภาพที่สุดคือ การประหารชีวิต
ในอดีตประเทศไทยใช้วิธีบั่นคอ แต่เมื่อถูกต่อต้านจากหลายฝ่าย
และถูกต่างชาติมองว่าเป็นการลงโทษที่ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม ก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด
ต่อมาก็เปลี่ยนมา ยิงเป้าประหาร ที่เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2478
แต่ก็ถูกยกเลิกเช่นกัน เมื่อนักโทษหลายคนถูกยิงแล้วยังไม่ตาย ต้องมีการยิงซ้ำ
ซึ่งเป็นวิธีอำมหิตทำให้เกิดการทรมานก่อนตาย
จนมาในปี พ.ศ. 2546 เปลี่ยนมาเป็นการฉีดยาพิษ ทำให้การตายไม่มีความเจ็บปวด
แต่...เชื่อหรือไม่ ผ่านไป 16 ปีมีนักโทษประหารที่ถูกฉีดยาพิษเพียง 7 คน
ขณะที่ยอดผู้ต้องโทษประหารชีวิตลดน้อยลงจากปี 2561 มีจำนวน 517 คน ปัจจุบันเหลือ 317 คน
แล้วปัญหาเรื้อรังนี้ เราจะแก้ไขอย่างไร เพื่อให้คนไทยไม่ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง
และประเทศเองก็ไม่เสียโอกาสที่จะมีประชากรที่มีคุณภาพดี
รัฐบาลอาจต้องเพิ่มจำนวนคุกเพื่อรองรับนักโทษมากขึ้น
ซึ่งต้องเพิ่มงบประมาณในการเลี้ยงดูนักโทษเพิ่มขึ้น จากแต่เดิมอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท/ปี
หรือกรมราชทัณฑ์เอง จะต้องบ่มเพาะนักโทษให้มีศักยภาพมากขึ้น
เพื่อให้พวกเขาสามารถมีอาชีพหล่อเลี้ยงชีวิตได้
สุดท้ายแม้แต่พวกเราเองก็ต้องเปิดใจให้โอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตนอกกรงขัง
ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่า ปัญหานี้มันไม่มีทางที่จะลบให้หายไปหมดจากสังคมไทย
แต่...อย่างน้อย ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ซึ่งจะทำให้แผลทางสังคมนี้มันเปิดกว้างมากขึ้นกว่าเดิม
เพราะยิ่งแผลนี้เปิดกว้างเพิ่มมากเท่าไร
ก็จะยิ่งฉุดไม่ให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้ามากเท่านั้น
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.