Nikkei วิเคราะห์ ทำไมค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ที่เคยขายรถยนต์ “ไฮบริด” ได้ถล่มทลาย จึงแพ้ราบคาบ ในตลาดรถยนต์ EV

Nikkei วิเคราะห์ ทำไมค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ที่เคยขายรถยนต์ “ไฮบริด” ได้ถล่มทลาย จึงแพ้ราบคาบ ในตลาดรถยนต์ EV

30 ธ.ค. 2022
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% หรือ BEV ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล พร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าค่ายใหม่ ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดกันอย่างคึกคัก
หากเจาะลึกไปที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน ของปีนี้
จะพบว่า มียอดขายกว่า 6.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้านั้น คิดเป็น 10% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเติบโตขึ้นจาก 6% ในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรงนั้น เป็นการเปลี่ยนภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เราคุ้นเคยกันมานานหลายสิบปี
จากเดิมที่มีประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้นำในตลาด สู่การมีค่ายรถยนต์จากสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เป็นผู้ชนะอย่างขาดลอย
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ในปัจจุบัน ค่ายรถยนต์จากสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไปได้มากกว่า 90%
ในขณะที่ค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ครองส่วนแบ่งในตลาดนี้ไปได้ไม่ถึง 5% เท่านั้น..
โดยในปีนี้ ค่ายรถยนต์จากจีน (เช่น BYD) สามารถสร้างยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า รวมกันไปได้แล้วกว่า 2.9 ล้านคัน
ส่วนค่ายรถยนต์จากสหรัฐฯ ก็สร้างยอดขายได้ดีไม่แพ้กัน ที่ 2.1 ล้านคัน โดยมีผู้นำคือ Tesla
ในขณะที่ค่ายรถยนต์ของยุโรป (เช่น Volkswagen, Renault) ก็ขายรถยนต์ไฟฟ้ารวมกันได้กว่า 1.2 ล้านคัน
แม้ค่ายรถยนต์จากสหรัฐฯ ยุโรป และจีน จะสามารถสร้างยอดขายได้ในระดับ “หลายล้านคัน” ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น กลับขายรถยนต์ไฟฟ้าไปได้เพียง 2 แสนคัน.. ในปีนี้ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงราว ๆ 10 กว่าปีที่แล้ว ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น เป็นผู้บุกเบิกตลาดรถยนต์ “ไฮบริด” และประสบความสำเร็จในแง่ยอดขายอย่างถล่มทลาย
แถมในตอนนั้น ค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ยังครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้สำเร็จ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 70 - 90% จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในหลักพัน - หลักหมื่นคัน
ไม่ว่าจะเป็น Mitsubishi ที่เปิดตัว i-MiEV รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตแบบ Mass Production เป็นครั้งแรกของโลก ในปี 2009 และ Nissan Leaf ที่เปิดตัวตามมาในปี 2010
- เกิดอะไรขึ้นกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ? จากผู้นำ เป็นผู้ตาม..
ซึ่ง Nikkei Asia ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ที่เคยเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ทั่วโลก ต้องกลายเป็นผู้ตาม ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ว่าสาเหตุหลัก ๆ เป็นเพราะ รถยนต์ไฟฟ้า มีชิ้นส่วนน้อยกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปแบบเดิม ๆ มาก
จนทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ในตลาดได้ง่าย ตัวอย่างเช่น Tesla และ BYD ที่เข้าสู่ตลาดด้วยการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่แรก
นอกจากนี้ Nikkei Asia ยังมองว่า “สภาพตลาดรถยนต์” ที่เปลี่ยนแปลงไป ก็มีผลเช่นกัน..
หากย้อนกลับไปในช่วงปี 2015 ในช่วงเวลานั้น เริ่มมีเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยลง นำโดยค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากยุโรป อย่าง Volkswagen
แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน Volkswagen ก็ถูกจับได้ว่ามีการ “โกง” ผลทดสอบมลพิษของเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ ที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ กลับไม่ได้รักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างที่อ้าง
ทำให้ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ รวมถึง Volkswagen ตัดสินใจก้าวข้ามเครื่องยนต์สันดาป และไฮบริด ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับการออกมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของสหภาพยุโรป ที่ตัดสินใจแบนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป และไฮบริด ในช่วงทศวรรษ 2030
ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นเอง ยังไม่ได้คิดแบนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในทันที แต่ออกมาตรการสิทธิพิเศษด้านภาษี ให้กับรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งนับรวมถึงรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
ทำให้ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น มองข้ามรถยนต์ไฟฟ้าไป โดยมองว่ารถยนต์ไฮบริด เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้แบตเตอรี่ ซึ่งนับว่าเป็นชิ้นส่วนที่มีต้นทุนสูงมาก
ในขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ปรับตัวเข้าสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนได้ช้ากว่ายุโรป ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น มองว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ได้ตอบโจทย์ในด้านสิ่งแวดล้อมเลย
และจากสาเหตุข้างต้นนี้เอง ทำให้ในปัจจุบัน ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไม่ถึง 5% และ Nikkei Asia มองว่า หากค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ยังคงสนใจแค่เพียงตลาดรถยนต์ไฮบริด ภายในประเทศ ก็จะตกขบวนในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก ในที่สุด..
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ดูเหมือนว่าค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ก็เริ่มคิดได้แล้วเช่นกัน ว่าถึงเวลาที่จะต้องลงมาสู้ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังเสียที
โดยเฉพาะ Honda ที่ประกาศแผนการออกมาแล้วว่า จะยุติการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ภายในปี 2040 หรือในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้านี้
ส่วน Toyota เอง ก็เพิ่งมีข่าวไปไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า Toyota กำลังปรับกลยุทธ์รถยนต์ไฟฟ้าใหม่ โดยต้องการลดราคา และเพิ่มประสิทธิภาพ ให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอย่าง Tesla และ BYD ได้..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.