สรุป 8 อินไซต์ พฤติกรรมเสพข่าว ปี 2025 จาก Reuters “คนไทยใช้ TikTok เป็นช่องทางเสพข่าวมากสุดในโลก”

สรุป 8 อินไซต์ พฤติกรรมเสพข่าว ปี 2025 จาก Reuters “คนไทยใช้ TikTok เป็นช่องทางเสพข่าวมากสุดในโลก”

23 ก.ค. 2025
Reuters Institute ได้แชร์อินไซต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับชมข่าวของคนทั้งโลก ผ่าน Digital News Report 2025
ที่น่าสนใจคือ ในรายงานยังมีอินไซต์การรับชมข่าวของคนไทยที่สำรวจมาจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 คนด้วย
แล้วอินไซต์พฤติกรรมการรับชมข่าว ของคนทั้งโลกและของคนไทย มีอะไรน่าสนใจบ้าง ?
1. คนทั่วโลก ชอบเสพข่าวผ่านการอ่าน มากกว่าการดูและฟัง แต่คนไทยชอบเสพข่าวผ่านการดูมากกว่า
โดยถ้าแบ่งเป็นสัดส่วน พบว่า คนทั่วโลก
- ชอบเสพข่าวผ่านการอ่าน 55%
- ชอบเสพข่าวผ่านการดู 31%
- ชอบเสพข่าวผ่านการฟังที่ 14%
โดยประเทศนอร์เวย์ เป็นประเทศที่คนชอบเสพข่าวผ่านการอ่านสูงที่สุดถึง 76% รองลงมาคือสหราชอาณาจักร 73% และเยอรมนี 65%
ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่พบว่า คนส่วนใหญ่ชอบดูข่าวออนไลน์ (43%) มากกว่าชอบอ่านข่าว (32%) ผ่านสื่อวิดีโอต่าง ๆ เช่น Facebook, YouTube และ TikTok
โดยข้อมูลสื่อโซเชียลที่คนไทยใช้เสพข่าวมากที่สุด ได้แก่
- Facebook 65%
- YouTube 55%
- TikTok 49%
- LINE 41%
- Facebook Messenger 22%
- Instagram 18%
2. ประเทศไทย ใช้ TikTok เพื่อเสพข่าวมากที่สุดในโลก
จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า TikTok เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถูกใช้เพื่อเสพข่าวในอัตราเฉลี่ย 17%
สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้ TikTok เพื่อเสพข่าวมากที่สุดถึง 49%
ส่วนกลุ่มประเทศที่ใช้ TikTok เพื่อเสพข่าวน้อยที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 12% และประเทศในกลุ่มยุโรปทั้งหมด อยู่ที่ 11%
ทีนี้ ถ้าลองเจาะดู 5 อันดับประเทศ ที่มีการเสพข่าวผ่าน TikTok มากที่สุด ได้แก่
- อันดับที่ 1 ไทย 49% (เติบโตขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว)
- อันดับที่ 2 มาเลเซีย 40%
- อันดับที่ 3 เคนยา 38%
- อันดับที่ 4 อินโดนีเซีย 34%
- อันดับที่ 5 เปรู และแอฟริกาใต้ 33%
3. จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า ผู้คนกว่า 40% หลีกเลี่ยงการเสพข่าว (ประเทศไทยอยู่ที่ 41%) โดยมาจากหลายเหตุผลด้วยกัน เช่น
- 39% บอกว่า การเสพข่าวทำให้พวกเขาอารมณ์ไม่ดี
- 31% บอกว่า กังวลกับปริมาณข่าวสารที่มีมากเกินไป
- 30% บอกว่า ข่าวเอาแต่นำเสนอเรื่องความขัดแย้งและสงครามมากเกินไป
- 29% บอกว่า ข่าวเอาแต่นำเสนอเรื่องการเมืองมากเกินไป
4. ประเทศไทยมีจำนวนประชากร 72 ล้านคน และมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 90%
โดยคนไทยกว่า 88% ชมข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ทุกสัปดาห์ โดยสมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์หลักในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
โดยอุปกรณ์ที่คนไทยใช้ในการรับชมข่าว แบ่งออกเป็น
- สมาร์ตโฟน 88%
- คอมพิวเตอร์ 53%
- แท็บเล็ต 51%
5. สื่อดั้งเดิมในไทย ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของสื่อออนไลน์จำนวนมาก โดยฐานผู้ชมสื่อดั้งเดิมจะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในต่างจังหวัดเป็นหลัก
แต่กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูง และอาศัยอยู่ในเมือง จะพึ่งพาข่าวจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก
โดยข้อมูลการเลือกเสพข่าวจากแหล่งข่าวต่าง ๆ ในปี 2025
- 88% รับชมจากสื่อออนไลน์ (รวมถึงข่าวจากเว็บไซต์/แอป, พอดแคสต์ข่าว และ AI แชตบอต)
- 75% รับชมจากสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
- 44% รับชมจากโทรทัศน์
- 11% รับชมจากสื่อสิ่งพิมพ์
6. 5 อันดับแรกของสื่อออฟไลน์ และสื่อออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมในไทย
สื่อออฟไลน์ในไทย 5 อันดับแรก ที่กลุ่มตัวอย่างเข้าชมมากที่สุดในรอบสัปดาห์ ได้แก่
- อันดับที่ 1 (53%) ไทยรัฐ (รวมโทรทัศน์ช่อง 32 และรูปแบบหนังสือพิมพ์)
- อันดับที่ 2 (36%) ช่อง 3 HD
- อันดับที่ 3 (29%) ช่อง Amarin TV 34
- อันดับที่ 4 (28%) ช่อง 7HD
- อันดับที่ 5 (24%) ช่อง one31
ในขณะที่ สื่อออนไลน์ในไทย 5 อันดับแรก ที่กลุ่มตัวอย่างเข้าชมมากที่สุดในรอบสัปดาห์ ได้แก่
- อันดับที่ 1 (53%) Thairath Online
- อันดับที่ 2 (36%) Khaosod Online
- อันดับที่ 3 (29%) Thai PBS News Online
- อันดับที่ 4 (28%) workpointTODAY
- อันดับที่ 5 (24%) Yahoo News
7. คนไทยมีความเชื่อมั่นในสื่อไทย สูงเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย อยู่ที่ 55%
ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลและความเชื่อมั่นสื่อในระดับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ประมาณ 40%
โดยสื่อ 5 อันดับแรก ที่กลุ่มตัวอย่างให้ความเชื่อมั่นมากที่สุด ได้แก่
- อันดับที่ 1 (74%) ช่อง 7HD
- อันดับที่ 2 (73%) Amarin
- อันดับที่ 3 ร่วม (72%) Thai PBS และ Workpoint TV
- อันดับที่ 5 ร่วม (70%) Thairath และ PPTV
8. “คุณหนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” และ “โหนกระแส” รายการทอล์กโชว์ถกเถียงประเด็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากสังคม ได้รับการยอมรับจากผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยกว่า 60%
สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยจากการนำเสนอข่าวเพียงอย่างเดียว ไปสู่ Infotainment (มาจาก Information + Entertainment) หรือการนำเสนอข้อมูลสาระควบคู่ไปกับความบันเทิงในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ นักข่าวสายวิเคราะห์ อย่าง คุณสุทธิชัย หยุ่น และคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ก็ได้รับการยอมรับจากผู้ชมที่มีการศึกษาสูงในกรุงเทพฯ กว่า 25% และ 20% ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้ก็คือ อินไซต์เกี่ยวกับการรับชมข่าวของคนไทยและคนทั้งโลกที่น่าสนใจ ที่นักการตลาด PR หรือเจ้าของแบรนด์ สามารถนำไปปรับใช้กับการสื่อสารแบรนด์ของตัวเองได้
อ้างอิง :
- เอกสารรายงาน Reuters Institute Digital News Report 2025
- https://reutersinstitute.politics.ox.ac.uk/digital-news-report/2025/thailand#_ftn2
© 2025 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.