กรณีศึกษา แผนพลิกฟื้นช่อง 3 ให้กลับมามีกำไร

กรณีศึกษา แผนพลิกฟื้นช่อง 3 ให้กลับมามีกำไร

25 ส.ค. 2019
ผลประกอบการล่าสุดของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)
หรือที่เราเรียกกันว่า ช่อง 3 กำลังอยู่ในสภาวะถดถอย
ครึ่งปี 2561 มีรายได้ 5,085 ล้านบาท ขาดทุน 147 ล้านบาท
ครึ่งปี 2562 มีรายได้ 4,145 ล้านบาท ขาดทุน 232 ล้านบาท
ซึ่งหากเรานำมาเปรียบเทียบกันจะพบว่า 6 เดือนแรกของปีนี้
รายได้ช่อง 3 ลดลง 18.5% ขณะที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 57.8%
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ช่อง 3 มีรายได้น้อยลง และขาดทุนมากขึ้น ? 
นั่นคือรายได้หลักอย่างการขายโฆษณาที่คิดเป็น 84 -87% จากรายได้ทั้งหมด
ของบริษัทกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น
ครึ่งปี 2562 รายได้จากการขายโฆษณาอยู่ที่ 3,533 ล้านบาท
ขณะที่ครึ่งปี 2561 รายได้จากการขายโฆษณาอยู่ที่ 4,471 ล้านบาท
ลดลงถึงเกือบๆ 21% เลยทีเดียว
เหตุผลหลักที่ภาพรวมรายได้จากการขายโฆษณาของช่อง 3 ลดลง ต่อเนื่อง
ก็คือเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีลดลง สวนทางกับช่องทีวีกลับเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากบริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี ระบุว่า
ปี 2555 เม็ดเงินโฆษณาทีวี มีมูลค่าอยู่ที่ 68,000 ล้านบาท มีช่องทีวีอยู่ที่ 6 ช่อง 
ขณะที่ปี 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 66,017 ล้านบาท แต่มีช่องทีวีอยู่ที่ 25 ช่อง
จะเห็นว่าเค้กโฆษณาก้อนเล็กลง เหตุผลมาจากผู้ชมหันไปรับชม Content ออนไลน์มากขึ้น 
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นช่องทีวีก็ยังเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 19 ช่อง
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ รายได้และกำไรของช่อง 3 ก็ลดลงเรื่อยๆ 
จนทำให้บริษัทขาดทุนในปีที่แล้ว จนมาถึงครึ่งปี 2562
เมื่อรายได้น้อยลง สิ่งที่ช่อง 3 เลือกคือแผนการลดต้นทุนของตัวเอง 
การคืน 2 ช่องอย่าง 3Family และ ช่อง 3SD ที่เป็นมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 
ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ จะทำให้ช่อง 3 เหลือแค่ช่องหลักอย่าง 3HD
ที่น่าสนใจคือหลังจาก 2 ช่องดังกล่าวหยุดออกอากาศในวันที่ 30 กันยายน ที่จะถึงนี้
จะได้รับเงินชดเชยรวมกัน 842 ล้านบาท
แน่นอนว่าเมื่อ 2 ช่องยุติออกอากาศทำให้ช่อง 3 ต้องปลดพนักงานรวมกันถึง 200 กว่าชีวิต 
ซึ่งจะเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามอายุงาน เช่น 1 ปีชดเชย 3 เดือน 
ส่วนพนักงานอายุงาน 20 ปีขึ้นไปได้ 20 - 21 เดือน
ซึ่งเงินชดเชยการคืนช่องที่ได้มาจะเพียงพอ
กับการจ่ายเงินค่าชดเชยพนักงาน 200 กว่าชีวิตหรือไม่นั้น คงยังไม่มีใครตอบได้
แต่ที่แน่ๆ หลังจากช่อง 3 ผ่านมรสุมธุรกิจครั้งนี้ 
จะทำให้ตัวเองมีต้นทุนการทำธุรกิจที่ต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือก่อนหน้านี้ช่อง 3 เองก็มีการลดจำนวนพนักงานเป็นระยะๆ 
ซึ่งเป็นเหตุผลหลัก ที่ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจน้อยลงจากปีที่แล้ว
ครึ่งปี 2561 มีต้นทุนขายและบริการ 4,351 ล้านบาท
ครึ่งปี 2562 ที่ผ่านมา มีต้นทุนขายและบริการ 3,623 ล้านบาท
ลดลงถึง 18.9%
ขณะเดียวกันเมื่อรายได้หลักอย่างขายโฆษณาลดน้อยลง 
ช่อง 3 ก็หันไปเอาจริงเอาจังกับธุรกิจขายลิขสิทธิ์ละคร และอื่นๆ ไปยังต่างประเทศ
จนถึงการขยายช่องทางหารายได้ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ให้มากขึ้นกว่าในอดีต
คงต้องติดตามดูกันต่อไป ในวันที่ช่อง 3 ลดต้นทุนตัวเองรอบด้าน 
พร้อมกับเพิ่มช่องทางหารายได้ใหม่ๆ เข้ามาในบริษัท
จะสามารถลบคำว่า “ขาดทุน” ออกไปจากธุรกิจได้เร็วแค่ไหน ?
แต่สิ่งที่ตอบได้แน่ๆ ต่อไปนี้การทำธุรกิจของช่อง 3 จะคล่องตัวกว่าในอดีต 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------- 
ที่มา : คำอธิบายและการวิเคราะห ์ฝ่ายกิจการ ไตรมาส 1 และ 2 ปี 2562, news.thaipbs.or.th, TV Digital Watch
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.