กรณีศึกษา ทำไมบริษัทซอฟต์แวร์อย่าง Google ต้องทำฮาร์ดแวร์ เป็นของตัวเอง - TechBite

กรณีศึกษา ทำไมบริษัทซอฟต์แวร์อย่าง Google ต้องทำฮาร์ดแวร์ เป็นของตัวเอง - TechBite

31 ธ.ค. 2022
Google เป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อในเรื่องการสร้างนวัตกรรม ผ่านซอฟต์แวร์ต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งซอฟต์แวร์ที่ว่านี้ ก็ได้กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์” สำคัญ ที่สร้างรายได้ในแต่ละปี ให้กับ Google อย่างมหาศาล
ไม่ว่าจะเป็น Search Engine อย่าง Google เอง รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อย่าง Gmail, Google Maps, YouTube, Google Documents และ Android เป็นต้น
อย่างในปี 2021 ที่ผ่านมา Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google มีรายได้กว่า 257,637 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.9 ล้านล้านบาท)
โดยในจำนวนนี้ มากกว่า 80% เป็นรายได้ที่เกิดจากธุรกิจโฆษณา ซึ่งแทรกซึมอยู่ในแทบทุกผลิตภัณฑ์ของ Google
อย่างไรก็ตาม นอกจาก Google จะมีผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์แล้ว
Google ยังมีผลิตภัณฑ์ ที่เป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ด้วย เช่น
- สมาร์ตโฟน Google Pixel
- นาฬิกาสมาร์ตวอตช์ Google Pixel Watch
- หูฟังไร้สาย Google Pixel Buds
- คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก Google Chromebook
- อุปกรณ์สมาร์ตโฮม Google Nest
ซึ่งธุรกิจฮาร์ดแวร์นี้ สามารถสร้างรายได้ให้กับ Google ได้ไม่น้อย
อย่างในปี 2021 ที่ผ่านมา กวาดรายได้มากถึง 19,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.8 แสนล้านบาท) และกำไรราว 6,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.1 แสนล้านบาท)
- ทำไม Google ต้องทำฮาร์ดแวร์ขายเอง ?
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไม Google ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้าน Search Engine รวมถึงซอฟต์แวร์อื่น ๆ ต้องทำฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเอง..
เพราะอย่าลืมว่า ตามรูปแบบการทำธุรกิจของ Google ก็เปิดกว้าง และยินยอมให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายอื่น ๆ สามารถนำซอฟต์แวร์ และบริการต่าง ๆ ของ Google ไปใช้ได้อยู่แล้ว
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ สมาร์ตโฟนแทบทุกแบรนด์บนโลก ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งเป็นของ Google รวมถึงติดตั้งแอปพลิเคชันอื่น ๆ ของ Google ไว้อย่างครบครัน
หรือแม้แต่ในอุปกรณ์ iOS ของ Apple ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Android
Google ก็ยังเลือกที่จะนำแอปพลิเคชันของตนเอง เปิดให้ติดตั้ง และใช้งานได้แบบง่าย ๆ ไม่ต่างจากในระบบปฏิบัติการ Android
แต่สิ่งที่ทำให้ Google ตัดสินใจทำฮาร์ดแวร์ของตัวเอง ก็เป็นเพราะ Google ต้องการควบคุม “ประสบการณ์การใช้งาน” ของผู้บริโภคด้วยตัวเอง ให้เป็นไปตามที่ Google ต้องการ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
เพราะผู้ผลิตสมาร์ตโฟนแบรนด์ต่าง ๆ แม้จะใช้ระบบปฏิบัติการ Android ของ Google แต่ก็มีการพัฒนา UI ของตัวเองมาครอบทับลงไป ทำให้ประสบการณ์การใช้งานแตกต่างจากที่ Google ต้องการ
อย่างในกรณีของสมาร์ตโฟน Samsung มีการนำ Samsung One UI มาครอบทับ จนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมของระบบปฏิบัติการ Android เลย
เช่นเดียวกันกับ Google Assistant ซึ่งเป็นผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะของ Google ก็ถูกเปลี่ยนเป็น Bixby ผู้ช่วยส่วนตัวของ Samsung เอง
การที่ Google ทำฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเอง นั่นหมายความว่า Google สามารถควบคุมประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นไปตามที่ Google ต้องการ
นอกจากนี้ การที่ Google ทำฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเอง ยังทำให้ Google สามารถนำเสนอซอฟต์แวร์ หรือบริการของตัวเอง ให้โดดเด่นและน่าดึงดูดมากที่สุด โดยไม่มีซอฟต์แวร์หรือบริการ ของผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายอื่น ๆ มาบดบัง
นอกจากนี้แล้ว Google ยังใช้สมาร์ตโฟน Google Pixel ของตัวเอง ในการแข่งขันกับ iPhone ของ Apple ในตลาดสมาร์ตโฟนระดับเรือธง (Flagship) ได้ดีขึ้น อีกด้วย
แต่การแข่งขันกับ iPhone ที่ว่านี้ ไม่ใช่การแข่งขันในเชิงใครขายได้มากกว่ากัน เพราะแน่นอนว่า Google คงไม่สามารถขายสมาร์ตโฟน Google Pixel ได้มากเท่ากับที่ Apple ขาย iPhone ได้อยู่แล้ว
สิ่งที่ Google ต้องการ คือ ส่วนแบ่งในใจผู้บริโภค (Mind Share) โดยต้องการให้คนทั่วโลก มีมุมมองต่อสมาร์ตโฟน Google Pixel ว่ามีนวัตกรรมล้ำ ๆ และมีความสามารถในการถ่ายภาพที่ดีกว่าสมาร์ตโฟนแบรนด์อื่น ๆ
นอกจากในกรณีสมาร์ตโฟนของ Google อย่าง Google Pixel แล้ว
Google ยังมีฮาร์ดแวร์ชนิดอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
แต่ที่หลายคน มักคุ้นหูคุ้นตากันเป็นอย่างดี นั่นคือ อุปกรณ์สมาร์ตโฮม ไม่ว่าจะเป็น Smart Speaker และ Smart Display
ซึ่ง Google เอง ก็มีอุปกรณ์กลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน โดยทำตลาดในชื่อว่า Google Nest ซึ่งมีทั้ง Smart Speaker, Smart Display, Digital Door Lock, WiFi Router, กล้องวงจรปิด, กริ่งอัจฉริยะ รวมถึงอุปกรณ์สตรีมมิงต่าง ๆ
สาเหตุที่ Google ลงมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ของตลาดอุปกรณ์สมาร์ตโฮม นอกจากจะเป็นการควบคุมประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังเป็นการตีตลาดอุปกรณ์สมาร์ตโฮม ที่กำลังเติบโตอย่างมหาศาลอีกด้วย
จากข้อมูลพบว่า ตลาดอุปกรณ์สมาร์ตโฮมทั่วโลก มีมูลค่าอยู่ที่ 62,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) ในปี 2021 และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยในอัตราปีละ 27% จนถึงปี 2030
แม้ในปัจจุบัน ตลาดอุปกรณ์สมาร์ตโฮมทั่วโลก จะมีมูลค่าในระดับล้านล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดสมาร์ตโฮมในปัจจุบัน ยังอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น และยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมาก
ทำให้ Google จำเป็นที่จะต้องลงมาตีตลาดอุปกรณ์สมาร์ตโฮม ด้วยการออกฮาร์ดแวร์ของตัวเองตั้งแต่แรก
เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ โดยเฉพาะ Amazon ที่จริงจังกับตลาดอุปกรณ์สมาร์ตโฮมไม่แตกต่างจาก Google
และการที่ Google ลุยตลาดอุปกรณ์สมาร์ตโฮม ด้วยฮาร์ดแวร์ของตัวเอง ก็จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบสำคัญ นั่นคือ ดึงให้ผู้ใช้งานอุปกรณ์สมาร์ตโฮม อยู่กับ Ecosystem ของ Google ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะอุปกรณ์สมาร์ตโฮม มักต้องทำงานร่วมกับสมาร์ตโฟน ซึ่ง Google ก็มีระบบปฏิบัติการ Android ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เคยคาดการณ์ด้วยว่า อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ Google ทำฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะในอุปกรณ์สมาร์ตโฮม เป็นเพราะต้องการผลักดันผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ อย่าง Google Assistant ที่ฝังอยู่ในทุกอุปกรณ์ของ Google
ซึ่งในอนาคต Google อาจสามารถหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้จากการโฆษณา บนอุปกรณ์อื่น ๆ นอกเหนือจาก Search Engine และ YouTube อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โดยใช้ฮาร์ดแวร์ที่ Google เป็นผู้พัฒนา และผลิตด้วยตัวเอง จนสามารถควบคุมประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ทั่วโลก ได้อย่างสมบูรณ์..
อ้างอิง:
-https://www.computerworld.com/article/3376164/google-hardware-pivot.html
-https://medium.com/@hemant.b/is-google-strategically-expanding-into-hardware-why-why-now-641c8cb869f2
-https://www.theverge.com/2018/10/16/17978244/google-pixel-iphone-xs-camera-best-phone-android-sales-market-share
-https://kinsta.com/google-revenue/
-https://seekingalpha.com/article/4469984-how-does-google-make-money
-https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/smart-homes-industry
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.